“Taxidermy drone” เมื่อร่างไร้วิญญาณย้อนทะยานขึ้นสู่ฟ้า เพื่อความยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


          เรื่องราวนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เมื่อออร์วิลล์ (Orville) น้องแมวสุดที่รักของศิลปินและนักประดิษฐ์ชาวเนเธอร์เเลนด์ บาร์ท ยอนเซน (Bart Jansen) แอบหนีออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านแล้วโชคร้ายประสบอุบัติเหตุถูกรถชน

          บาร์ทเสียใจอย่างมาก เขาทำใจที่จะเผาหรือฝังออร์วิลล์ไม่ลง ก็เลยวางแผนจะสตัฟฟ์น้องเก็บเอาไว้ จะได้ยังรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ชิด

          แต่จะสตัฟฟ์เฉย ๆ ก็อาจจะเสียชื่อศิลปิน บาร์ทตัดสินใจที่จะคืนชีวิตใหม่ให้ออร์วิลล์โดยการเปลี่ยนน้องไปเป็นครึ่งแมวครึ่งโดรน เพื่อที่น้องได้มีโอกาสทะยานขึ้นฟ้าสมกับที่ชื่อออร์วิลล์

          “แมวของผม ออร์วิลล์และวิลเบอร์ (Wilbur) ตั้งชื่อขึ้นมาตามสองนักบินชื่อดัง พี่น้องตระกูลไรท์” บาร์ทกล่าว “พอออร์วิลล์โดนรถชนตาย ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะให้ชีวิตใหม่กับน้องอีกครั้ง เป็นชีวิตอิเล็กทรอนิกส์ เพราะออร์วิลล์ชอบนก

          บาร์ทเริ่มวัดขนาดร่างของออร์วิลล์และเริ่มดีไซน์ “ออร์วิลล์คอปเตอร์ (Orvillecoptor)” ขึ้นมา แต่สำหรับศิลปิน การเปลี่ยนแมวให้เป็นโดรนนั้นไม่ใช่เรื่องชิลล์ ๆ ที่อยากทำก็จะทำได้เลย

          ในโพรเจกต์นี้ บาร์ทก็เลยชวนอาร์เยน เบลท์มัน (Arjen Beltman) วิศวกรที่รู้เรื่องโดรนเป็นอย่างดีมาช่วยเขาออกแบบน้องออร์วิลล์เวอร์ชันใหม่


บาร์ท อาร์เยน และออร์วิลล์คอปเตอร์
ที่มาภาพ : Copter Company

          พวกเขาตัดสินใจใช้คอปเตอร์สี่ใบพัด หรือที่มักเรียกกันติดปากในวงการว่า “ควอดคอปเตอร์ (quadcopter)” มาเป็นโครง ส่วนตัวถังจะหุ้มห่อด้วยหนังของออร์วิลล์

          และแล้ว “ออร์วิลล์คอปเตอร์” แมวสี่ใบพัดก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก !

          บาร์ทอัดคลิปโดรนหน้าแมวของเขา แล้วอัปโหลดขึ้นเว็บ แค่ชั่วข้ามคืน คลิปของเขาก็เป็นไวรัล ที่ขยายขจรขจายไปทั่วทั้งในโซเชียล ฟอร์เวิร์ดเมล จนถึงขนาดที่สื่อดังอย่างลอสแองเจลิสไทม์ (Los Angeles Times) บิซิเนสอินไซเดอร์ (Business Insider) ไวร์ (Wired) และฟอร์บส์ (Forbes) ก็ยังต้องเอาไปกล่าวถึง

          และนั่นทำให้โดรนแมวหน้านิ่ง ออร์วิลล์คอปเตอร์ ได้มีโอกาสโบยบินอวดโฉมไปทั่ว แม้แต่ในงานแสดงศิลปะในอัมสเตอร์ดัม

          จากความสำเร็จอย่างท่วมท้นของออร์วิลล์คอปเตอร์ ในปี พ.ศ. 2556 บาร์ทตัดสินใจ จัดใหม่เอาให้ใหญ่ขึ้นกว่าเก่า เขาสอบถามไปที่เจ้าของฟาร์มใกล้ ๆ บ้านว่ามีซากตัวอะไรสักอย่างที่เพิ่งจะตาย ที่น่าที่จะเอามาพัฒนาต่อให้กลายเป็นโดรน


Ostrichcopter
ที่มาภาพ : Copter Company

          ไม่นานบาร์ทก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของฟาร์ม พวกเขามีซากนกกระจอกเทศสดใหม่เพิ่งตายหมาดๆ น่าจะเอามาใช้ได้ บาร์ทจึงมีโอกาสได้รวมทีมกับอาร์เยนอีกครั้ง คราวนี้เพื่อสร้าง Ostrichcopter หรือโดรนนกกระจอกเทศขึ้นมา

          “นี่คือครั้งแรกที่นกกระจอกเทศจะบินได้” บาร์ทกล่าว

          โพรเจกต์โดรนนกกระจอกเทศนั้นแตกต่างและท้าทายมากเมื่อเทียบกับโพรเจกต์โดรนแมวออร์วิลล์ แมวมีสี่ขา ตำแหน่งก็พอเหมาะพอเจาะกับการใส่ใบพัดโดรน

          บาร์ทและอาร์เยนเลยดีไซน์โดรนออร์วิลล์ให้มีใบพัดติดอยู่ที่ขา ข้างละใบ สี่ข้างก็สี่ใบพอดี

          แต่นกกระจอกเทศนั้นไม่เหมือนกัน ขาก็เก้งก้าง ปีกก็ไม่ได้จะเหมาะกับการบิน การติดใบพัดให้นกกระจอกเทศเลยมีความทุลักทุเลอยู่พอประมาณ

          แต่ท้ายที่สุด Ostrichcopter ก็ได้ออกมาบินร่อนทะยาน กลายเป็นกระเเสฮือฮาไปอีกช่วง

          ทีมบาร์ทกับอาร์เยนสานต่องานนี้อยู่พักใหญ่ภายใต้ชื่อ Copter Company และได้สร้างโดรนแปลก ๆ ออกมาอีกหลายตัวจากพวกซากสัตว์ที่ได้มาจากชุมชนหรือบางทีก็มาจากท้องถนน (roadkill) ที่เด่น ๆ ก็จะมีคอปเตอร์หนู (proctorcopter) และฉลามเจ็ต (sharkjet) ที่มีหน้าตาพิลึกพิลั่นคล้ายเครื่องบินรบสมัยสงครามโลก


ฉลามเจ็ต

ที่มาภาพ : Copter Company

          กลายเป็นผลงานศิลปะแนวพิสดารจากซากสัตว์ ที่แม้จะดูยี้สำหรับบางคน แต่สำหรับผม ผมว่าไอเดียน่าสนใจ

          งานของบาร์ททำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงภาพยนตร์คอมเมดีชื่อดังเรื่อง Dinner for Schmucks ที่เอานักแสดงตลกชื่อดัง สตีฟ คาเรลล์ (Steve Carell) มารับบทเป็นแบร์รี สเป็ก (Barry Speck) เจ้าหน้าที่สรรพากรที่มีงานอดิเรกเป็นนักสตัฟฟ์สัตว์ หรือภาษาอังกฤษจะเรียกว่า แท็กซี่เดอร์มิสต์ (taxidermist) ฝีมือดี ที่สร้างงานศิลป์จากซากสัตว์จากท้องถนน

          หลังจากที่ได้พบกับทิม คอนราด (Tim Conrad) นักวิเคราะห์การเงินดาวรุ่งที่กำลังร่วง (นำแสดงโดย พอล รัดด์ (Paul Rudd)) แบร์รีก็ได้รับเชิญไปร่วมงานดินเนอร์ปาร์ตีของพวกเศรษฐีและนักลงทุนนิสัยเสีย ในฐานะพวกห่วยแตก (loser) แม้จะถูกเชิญมาเพื่อทำให้ขายหน้า

          แต่จะบอกว่าผลงานสตัฟฟ์สัตว์ของแบร์รีในเรื่องนั้นสวยงามและสร้างสรรค์สุด ๆ

          ส่วนตัวผมไม่ค่อยอินเท่าไร แต่ชอบมากอยู่ตอนเดียวคือตอนที่แบร์รีโชว์ผลงานแท็กซี่เดอร์มีของเขา หนังค่อนข้างเก่า (ปี พ.ศ. 2553) แต่ดูทีไรก็สร้างความบันเทิงได้ตลอด เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจไปหามาดูได้ครับ         และถ้ามองในมุมนี้ สัตว์สตัฟฟ์มีคุณค่าทั้งในเรื่องความบันเทิงและความสุนทรีย์ อาจจะแถมเรื่องการศึกษาด้วยนิดนึง เพราะถ้าว่ากันตามจริง สัตว์สตัฟฟ์ก็เอามาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนอยู่พอสมควร     แต่ถ้ามองในมุมความยั่งยืน (sustainability) แม้โดรนจะทำอะไรได้เยอะ แต่สัตว์สตัฟฟ์อาจจะยังไม่ค่อยมีบทบาทอะไรนัก…

          ทว่าตอนนี้หลายๆ อย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะทีมวิจัยนำโดย มอสตาฟา ฮาสซานาเลียน (Mostafa Hassanalian) วิศวกรหุ่นยนต์จากสถาบันวิจัยเหมืองแร่และเทคโนโลยีแห่งนิวเม็กซิโก (New Mexico Institute of Mining and Technology) ได้ออกแบบโดรนชนิดใหม่จากซากสัตว์สตัฟฟ์เพื่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ

          “โดรนแบบดั้งเดิมมักจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศหลายด้าน ทั้งเรื่องเสียงและความไม่คุ้นชิน ถ้าเราพัฒนาทางเลือกใหม่ที่เงียบกว่าและดูเป็นธรรมชาติมากกว่าก็จะเป็นประโยชน์ในการติดตามและวิจัยพฤติกรรมสัตว์ป่า” มอสตาฟาเผย

          นกบางชนิดอาจจะตกใจกลัวถึงขนาดทิ้งรังไปเลยก็มี

          ทีมของเขาก็เลยเริ่มหาวิธีพรางตัวโดรนด้วยการห่อหุ้มด้วยหนังนก นกหรือสัตว์อื่น ๆ ก็จะไม่ระแวง ทำให้เห็นภาพพฤติกรรมที่ตรงกับความเป็นจริงได้ และแล้วเขาก็เกิดไอเดียบรรเจิด “เราสามารถใช้นกตายมาปรับแต่งทางวิศวกรรมเสียใหม่ให้กลายเป็นโดรน

          และเพื่อทำให้วิถีการบินเหมือนนกจริง ๆ ทีมมอสตาฟาออกแบบโดรนของพวกเขาให้สามารถกระพือปีกร่อนลมได้ไม่ต่างจากนก

          เหมือนจนถึงขนาดที่ว่าถ้าดูไกล ๆ แล้วไม่มีใครบอก คนส่วนใหญ่คงแยกไม่ออกว่านั่นโดรนหรือนก

          “เราอยากจะให้มันบินและกระพือปีกแบบเดียวกับนก เพื่อให้เราเข้าใจฟิสิกส์ (ของการบิน)” มอสตาฟากล่าว

          ตอนนี้โดรนเวอร์ชันล่าสุดของเขาบินถลาร่อนลมอยู่ได้ราว 20 นาที ก่อนที่จะต้องลงมาเติมพลังงานและซ่อมแซม ทำให้ยังไม่สามารถเอาไปใช้ในการติดตามสัตว์ป่าได้ในระยะยาว


โดรนนกสตัฟฟ์ เวอร์ชันนิวเม็กซิโก
ที่มาภาพ : Mostafa Hassanalian

          ในเวลานี้ทีมวิจัยได้สร้างแบบจำลองการบินของโดรนนกในคอมพิวเตอร์ และให้ความสำคัญมากกับการศึกษาฟิสิกส์ของการบินของโดรนนก พวกเขาเก็บข้อมูลทุกอย่างจากการทดสอบบินและนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดในทุกแง่มุม ก่อนที่จะนำไปปรับปรุงแบบจำลองการบินของพวกเขา เพื่อเพิ่มสมรรถนะของโดรน ให้พวกมันบินและทรงตัวอยู่ในอากาศได้ยาวนานมากขึ้น

          ทีมวิศวกรผู้พัฒนามั่นใจว่าในอีกไม่นานโดรนนกสตัฟฟ์ของพวกเขานี้จะบินถลาร่อนลมอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน จนเอามาประยุกต์ใช้ในการติดตามพฤติกรรมนกอพยพได้

          “แต่นวัตกรรมนี้ไม่ได้ออกแบบมาไว้แอบส่องเพื่อ spy นะ !” มอสตาฟาย้ำ

          บางทีเทคโนโลยีก็แอบน่ากลัวแบบแปลก ๆ แต่ก็อัศจรรย์จนเหมือนมีมนต์ขลัง

          ขนาดนกตายยังกลับมาบินได้ !!!  ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ … ><

About Author