ปลาใบไม้สยามมกุฎ

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


          เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม นี้ ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงปลาใบไม้ชนิดหนึ่งที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์ ปลาชนิดนั้นคือ ปลาใบไม้สยามมกุฎ Soleichthys siammakuti Wongratana, 1975 เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา (Soleidae) พบครั้งแรกในน่านน้ำไทย โดยศาสตราจารย์ทศพร วงศ์รัตน์ ผู้ค้นพบได้บรรยายและตีพิมพ์ใน Senckenbergiana Biologica 56(1/3):21-29 เมื่อปี พ.ศ. 2518

          ศาสตราจารย์ทศพร ได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาเป็นชื่อชนิด siammakuti” เพื่อเทอดพระเกียรติที่ได้รับสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารของประเทศไทย

          ปลาใบไม้สยามมกุฎตัวแรกที่พบนั้นคาดว่าจับมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเครื่องมืออวนล้อม ตัวมีขนาดประมาณ 4-6 เซนติเมตร ตัวอย่างได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ตัว และที่ Senckenberg Museum เมืองเซงเคินแบร์ค ประเทศเยอรมนี อีก 1 ตัว จากการตามหาตัวอย่างสด ๆ เพิ่มเติมโดยผู้เขียนอีกประมาณร่วม 40 ปี หลังจากนั้น ถึงได้ตัวอย่างมาเพิ่มอีก 2 ตัว จากกองปลาเป็ดที่จับโดยอวนลากที่ชายฝั่งจังหวัดสงขลา ในระหว่างที่ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบต่อลูกปลาจากอุตสาหกรรมประมง ในปี พ.ศ. 2561

          เจ้าปลาใบไม้ชนิดนี้มีลักษณะที่ต่างจากชนิดอื่นตรงที่มีรูจมูกยื่นยาวกว่า กินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กพวกหนอนทะเล และอื่น ๆ โดยหากินบนพื้นท้องน้ำ ลวดลายของมันดูคล้ายกับลายของหนอนตัวแบนทะเลบางชนิดที่มีพิษและรสขื่นขมในตัว ทำให้ปลาล่าเหยื่อเกรงใจไม่กล้าหม่ำ เรียกว่าเป็นการเลียนแบบหลอกลวง (Müllerian mimicry)

About Author