ดาวเสาร์ ที่มาของวันเสาร์

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานแสนนานมาแล้ว ตามตำนานกรีกโบราณ เมื่อแรกเกิดสรรพสิ่งนั้นมีแต่ความวุ่นวาย (Chaos เคออส) ต่อมาได้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น รวมทั้งยูเรนัส (Uranus) เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ต่อมายูเรนัสได้อยู่กับไกอา (Gaia) เทพเจ้าแห่งโลก จนมีลูกด้วยกันเป็นยักษ์ 18 ตน

          ยูเรนัสไม่ชอบลูกตัวเองจึงกักขังลูกๆ ไว้ ทำให้ไกอาไม่พอใจ จึงยุให้ลูกๆ ยึดอำนาจจากยูเรนัส แต่มีเพียง โครนัส (Cronus) ที่ทำตาม และยึดอำนาจจากยูเรนัสได้สำเร็จ


ภาพเทพเจ้าโครนัสหรือแซตเทิร์นบนผนังบ้านในเมืองปอมเปอี (Pompeii) ประเทศอิตาลี ประมาณเกือบ 2,000 ปีก่อน ในมือถือเคียวเกี่ยวข้าว เป็นสัญลักษณ์เทพเจ้าแห่งการเกษตร (ที่มาภาพ Wikipedia)

          ต่อมาโครนัสได้แต่งงานกับรีอา (Rhea) โครนัสกลัวว่าลูกของตนจะเลียนแบบมายึดอำนาจ ทันทีที่รีอาคลอดลูก โครนัสจะกลืนกินลูกของตัวเอง

          พอมาถึงลูกคนที่ 6 คือ ซูส (Zeus) รีอาไม่อยากให้โครนัสกินซูสเข้าไปอีก จึงใช้ก้อนหินห่อผ้าหลอกโครนัสว่าเป็นลูกที่เพิ่งคลอดใหม่ โครนัสกลืนก้อนหินก้อนนั้นเข้าไปโดยเข้าใจว่าเป็นลูกตัวเอง

          เมื่อซูสโตขึ้นมา ซูสได้ต่อสู้ชนะโครนัส และช่วยพี่ๆ อีก 5 คน ออกมาจากท้องของโครนัสโดยบังคับให้โครนัสคายทุกคนออกมา แล้วซูสขึ้นเป็นราชาแห่งเทพเจ้าครอบครองสวรรค์แทนโครนัส  


ภาพโครนัสหรือแซตเทิร์นกำลังกินลูกตัวเอง วาดโดย Peter Paul Rubens จิตรกรชาวดัตช์ ประมาณปี ค.ศ. 1636-1638 (พ.ศ. 2179-2181) ที่มาภาพ Wikipedia

          ชาวโรมันเรียกชื่อเทพโครนัสว่า แซตเทิร์น (Saturn) ซึ่งคำนี้ยังหมายถึงดาวเสาร์ และเป็นที่มาของชื่อวันเสาร์ (Saturday = Saturn’s Day)

          ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ใหญ่กว่าโลกประมาณ 9 เท่า (ไม่รวมวงแหวน) ประกอบด้วยแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม เนื่องจากดาวเสาร์มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ ทำให้ดาวเสาร์สามารถลอยน้ำได้


ภาพถ่ายดาวเสาร์โดยยานอวกาศ Cassini เมื่อปี พ.ศ. 2559 (ที่มาภาพ NASA)

          เอกลักษณ์ของดาวเสาร์คือวงแหวนขนาดใหญ่สวยงาม แม้ว่าดาวอื่น (ดาวพฤหัสบดี, ดาวเนปจูน และดาวยูเรนัส) จะมีวงแหวน แต่วงแหวนของดาวเสาร์นั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก จนสามารถใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวขนาดเล็กที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป ส่องเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้


ภาพวงแหวนดาวเสาร์ที่ไม่ได้มีวงเดียว แต่มีหลายวงประกอบกัน และมีช่องว่างระหว่างวง ถ่ายโดยยานอวกาศ Cassini เมื่อปี พ.ศ. 2550 (ที่มาภาพ NASA)

          วงแหวนดาวเสาร์ประกอบด้วยน้ำแข็งและก้อนหิน มีความกว้างมากถึง 282,000 กิโลเมตร แต่หนาเพียง 10 เมตร


ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ รูปดาวเสาร์ วาดโดย ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งต้นรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าอาจวาดประมาณปี พ.ศ. 2400 โดยน่าจะวาดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ภาพนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จิตรกรรมฝาผนังของไทยที่วาดดาวเสาร์เหมือนจริง คือมีวงแหวนเหมือนที่เห็นจากกล้องโทรทรรศน์

          เมื่อมองจากบนโลก เราจะเห็นเหมือนวงแหวนส่าย ทำให้บางช่วงเมื่อวงแหวนหันด้านข้าง เราจะเห็นเหมือนวงแหวนหายไปทุก 13-15 ปี ครั้งต่อไปที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า คือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2568 แต่เนื่องจากช่วงนั้นดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจึงสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ทั่วไปไม่ได้ ต้องรอถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2581 จึงจะสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้

          ดาวเสาร์ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1,400 ล้านกิโลเมตร ใช้เวลา 29 ปี โคจรรอบดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวเองประมาณ 11 ชั่วโมง

          ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะคือมีมากถึง 82 ดวง

          เราสามารถมองเห็นดาวเสาร์ด้วยตาเปล่าแม้ในเมืองที่มีมลพิษแสงมากอย่างกรุงเทพฯ

          ตลอดปี พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์จะสูงจากขอบฟ้าเกิน 10 องศา (ประมาณ 1 กำปั้น เมื่อเหยียดแขนสุด ถ้าอยู่ต่ำกว่า 10 องศา จะสังเกตเห็นได้ยาก) เห็นดาวเสาร์ช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก หลังจากนั้นดาวเสาร์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนช่วงเช้ามืด


ภาพดาวเสาร์ (Saturn) อยู่ใกล้ดาวศุกร์ (Venus) วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 ช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ด้านบนมีดาวอังคาร (Mars) และด้านล่างมีดวงจันทร์ (Moon) แรม 12 ค่ำ เดือน 4 ขนาดดวงจันทร์ 13 เปอร์เซ็นต์ เป็นเสี้ยวบาง
ที่มาภาพ แอปดูดาว Celestron SkyPortal ดาวน์โหลดฟรี

          วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์จะอยู่ใกล้ดาวศุกร์ ช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก (ดูภาพประกอบ)

          วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดาวอังคาร

          ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์จะขึ้นก่อนเที่ยงคืนทางทิศตะวันออก และเห็นจนถึงเช้ามืดทางทิศตะวันตก

          วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ เป็นตำแหน่งที่ใกล้โลกและสว่างที่สุด จะเห็นดาวเสาร์ได้ตลอดคืนตั้งแต่หัวค่ำถึงเช้ามืด โดยตอนหัวค่ำดาวเสาร์จะอยู่ทางทิศตะวันออกและเช้ามืดอยู่ทางทิศตะวันตก

          ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จะเห็นดาวเสาร์ตอนหัวค่ำทางทิศตะวันออกแล้วค่อยๆ เฉียงไปทางทิศใต้ ดาวเสาร์จะตกก่อนเช้ามืดทางทิศตะวันตก

          ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 จะเห็นดาวเสาร์ตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนถึงก่อนเที่ยงคืนทางทิศตะวันตก

About Author