Headlines

สำรวจอุทยานธรณีโลกสตูล สร้างองค์ความรู้สู่ ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’

เรื่องโดย วัชราภรณ์ สนทนา


          จังหวัดสตูลขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามทั้งธรรมชาติ ท้องทะเล ป่า ภูเขา ถ้ำ และยังพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ รวมถึงสัตว์ทะเลโบราณจำนวนมาก ขณะเดียวกันพื้นที่แห่งนี้ยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่น ในปี พ.ศ. 2561 ยูเนสโกอนุมัติให้อุทยานธรณีสตูลเป็นพื้นที่ ‘อุทยานธรณีโลก’ แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้นำ ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’ มาใช้เป็นเครื่องมือจัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม เพื่อบันทึกเรื่องราวมรดกอันล้ำค่าและส่งต่อให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

สำรวจ ‘ถ้ำ’ แหล่งซากดึกดำบรรพ์จากบรรพกาล

          แหล่งท่องเที่ยวด้านธรณีวิทยาที่สำคัญของอุทยานธรณีโลกสตูลต้องยกให้ระบบนิเวศ ‘ถ้ำ’ เพราะนอกจากจะมีถ้ำที่สวยงามตระการตามากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเช่น ถ้ำทะลุ ถ้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการละลายของหินปูนในยุคออร์โดวิเชียน หรือเมื่อราว 445-490 ล้านปีมาแล้ว

          “บนผนังถ้ำด้านนี้ที่เราเห็นคือซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลชื่อว่า นอติลอยด์ บรรพบุรุษของหมึก เมื่อ 450 ล้านปีก่อน” บังธิ หรือ นายธานี ใจสมุทร ไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นอาสาสมัครชุมชนรักษ์บ้านหาญ กล่าวถึงร่องรอยซากดึกดำบรรพ์จากบรรพกาลที่เป็นจุดไฮไลต์สำคัญของถ้ำทะลุแก่ผู้ร่วมเดินทาง และเล่าว่า ในถ้ำทะลุเราสามารถเห็นฟอสซิลนอติลอยด์ที่มีความคมชัดและสมบูรณ์ที่สุดแล้วในจังหวัดสตูล หากมองไปด้านบนจะเห็นฟอสซิลแกสโตรพอด​ ต้นกระกูลหอยฝาเดียวที่เกิดขึ้นบนโลก

          “ความพิเศษของถ้ำทะลุแห่งนี้คือเมื่อเดินทะลุเข้าไปด้านในจะพบหลุมยุบป่าดึกดำบรรพ์ เกิดจากปรากฏการณ์แผ่นดินเลื่อนและยุบตัวลงคล้ายปล่องภูเขาไฟ ภายในมีพันธุ์ไม้เด่นคือต้นท้ายเภายักษ์ขนาด 15 คนโอบ และยังมีพรรณไม้แปลกตานานาชนิดที่หาชมได้ยาก ทั้งเห็ดถ้วยแชมเปญ ต้นกระดาด และต้นลูกชก”

          แน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตอันน่าอัศจรรย์ในถ้ำทะลุไม่ได้มีเพียงเท่านี้ นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า สวทช. โดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการสำรวจถ้ำหินปูนต่าง ๆ ในพื้นที่ของอุทยานธรณีโลกสตูล รวมถึงถ้ำทะลุ ซึ่งเราพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวนมาก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่น่าสนใจ เช่น แมงมุมขายาว กิ้งกือมังกร หอยทากจิ๋ว ที่สำคัญยังเจอมดถ้ำซึ่งมีหนวดยาว ขายาว และอยู่ระหว่างการบรรยายลักษณะสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

          “สำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลังที่พบมากในถ้ำทะลุ คือ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฐ์ ซึ่งพบเป็นโคโลนีขนาดใหญ่มากประมาณ 500 ตัว โดยค้างคาวใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยเนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและทำให้ไม่สูญเสียพลังงาน ขณะเดียวกันยังช่วยทำหน้าที่ควบคุมแมลงให้มีความสมดุล นอกจากนี้ยังมีตุ๊กกายหมอบุญส่ง เป็นญาติกับตุ๊กแก แต่มีความแตกต่างคือนิ้วตุ๊กกายจะเรียวยาว ไม่แบน และไม่มีพังผืดเชื่อมต่อระหว่างนิ้ว”

ล่องเรือล่าช้างดึกดำบรรพ์ที่ ‘ถ้ำเลสเตโกดอน’

          เดินทะลุถ้ำบกมาแล้ว มาลองเปลี่ยนบรรยากาศล่องเรือไคแย็กชมถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำธารลอดในเทือกเขาหินปูนคล้ายอุโมงค์ใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีลักษณะคดเคี้ยวและมีระยะทางจากปากถ้ำถึงทางออกยาว 4 กิโลเมตร ถือเป็นถ้ำที่เชื่อมกับทะเลที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ความโดดเด่นของถ้ำแห่งนี้คือการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นชิ้นส่วนฟันกรามของช้างสกุลสเตโกดอน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำเลสเตโกดอน

          นายสัมฤทธิ์ ทิพมย์มณี  ไกด์ท้องถิ่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล เล่าว่า ภายในถ้ำนอกจากจะได้ตื่นตาตื่นใจกับหินงอกหินย้อยหลากรูปแบบแล้ว ยังมีฟอสซิลของสัตว์ทะเลมหายุคพาลีโอโซอิกอีกหลายชนิด อาทิ นอติลอยด์ แอมโมไนต์ ซึ่งหากพายเรือเข้าไปในถ้ำในช่วงน้ำใสจะได้เห็นกุ้งก้ามกรามขนาด 3-4 ตัว/กิโลกรัม ตามผนังถ้ำจะมีจิ้งโกร่ง และบนเพดานตามแนวที่มีน้ำจืดซึมไหลผ่านจะมีปูเขาหินปูนทุ่งหว้า ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกที่พบเฉพาะบริเวณนี้ ที่บริเวณทางออกของถ้ำนักท่องเที่ยวจะได้พบกับค้าวคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ และได้สัมผัสกับภาพสุดประทับใจที่ธรรมชาติสรรค์สร้างไว้คือ ‘หัวใจที่ปลายอุโมงค์’

ชมนิเวศชายฝั่ง ‘หอสี่หลัง’ มหัศจรรย์ ‘กองทัพปู’

          หลังจากนั่งเรือลอดอุโมงค์ใต้ภูเขา ชมร่องรอยแห่งโลกธรณีกาลแล้ว เรายังสามารถนั่งเรือชมวิวป่าชายเลนไปอีกเพียง 30 นาที เพื่อพบกับ ‘หอสี่หลัง’ เนินทรายอันกว้างใหญ่กลางทะเลอันดามันที่ปรากฏเมื่อยามน้ำทะเลลดลง และเมื่อก้าวเท้าเดินบนชายหาดไม่กี่ก้าวเท่านั้น ก็ได้พบกองทัพปูที่มารอต้อนรับอยู่ทั่วพื้นทราย

          “ที่เราเห็นคือปูทหารก้ามโค้ง มักออกมาหากินช่วงน้ำลงและมีพฤติกรรมเคลื่อนที่ไปพร้อมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่คล้ายกับการเคลื่อนพลของกองทัพ ทำให้ได้รับสมญานามว่าปูทหาร” ผศ. ดร.กริ่งผกา วังกุลางกูร อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายถึงความอัศจรรย์ของกองทัพปูที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าและเล่าว่า “ผลการสำรวจสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ หาดหิน หาดทราย หาดเลน แนวหญ้าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น และป่าชายเลน เราพบความหลากหลายมากถึง 566 ชนิด แบ่งเป็นสาหร่ายทะเล 25 ชนิด พืชมีท่อลำเลียง เช่น หญ้าทะเล และพืชบก 11 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอย กุ้ง ปู ไส้เดือนทะเล 301 ชนิด และสัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา นก โลมา พะยูน 229 ชนิด

          “ที่สำคัญเราพบว่าสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เช่น หญ้าใบพาย Halophila beccarii หญ้าทะเลขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ด้วยความที่มีขนาดเล็กมากจึงถูกทับถมด้วยตะกอนได้ง่าย กิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการรบกวนตะกอน เช่น การทำประมง อวนลาก อวนรุน การก่อสร้างริมชายฝั่ง ล้วนส่งผลเสียต่อหญ้าใบพาย ซึ่งหญ้าใบพายมีความสำคัญช่วยสะสมตะกอน ทำให้พื้นทรายแน่นขึ้น รวมทั้งยังเป็นอาหารของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล นอกจากนี้ยังมีสัตว์ในข่ายใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกหัวโตมลายู นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล โดยองค์ความรู้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ สวทช.”

ชิมโกปี๊นาข่า สร้างสรรค์ผ้าบาติกสีธรรมชาติ

          เสน่ห์แดนใต้ไม่ได้เลื่องชื่อแค่ธรรมชาติที่งดงาม แต่วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ดังเช่น ‘โกปี๊นาข่า’ กาแฟโบราณผ่านการคั่วมือพร้อมปรุงรสให้มีความขมปนหวาน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านนาข่าเหนือ ผลิตจากเมล็ดกาแฟพื้นถิ่นสตูลพันธุ์โรบัสตา ที่เพาะปลูกในพื้นที่หินปูนในช่วงยุคออร์โดวิเชียนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ จึงช่วยขับรสชาติโกปี๊นาข่าให้กลมกล่อมไม่เหมือนใคร

          นางรุจินก สำเร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านนาข่าเหนือ เล่าว่า แต่เดิมวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะชอบดื่มกาแฟที่เรียกว่าโกปี๊ ซึ่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ แต่พอมีกาแฟสำเร็จรูปเข้ามา ทำให้กาแฟโบราณเริ่มสูญหาย ทางวิทยาลัยชุมชนสตูลเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจฯ หันมารื้อฟื้นการทำกาแฟโกปี๊ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำทุกส่วนของกาแฟมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG

          “เรานำเมล็ดกาแฟมาพัฒนาผลิตภัณฑ์โกปี๊ กาแฟสด และทอฟฟี่กาแฟ เปลือกเชอร์รีกาแฟและใบกาแฟนำมาทำสีสำหรับการทำผ้ามัดย้อม ส่วนกากกาแฟนำไปใช้ทำปุ๋ยและสบู่สครับกาแฟ โดยออกแบบก้อนสบู่ให้คล้ายกับซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่ เพื่อสะท้อนเรื่องราวของความเป็นอุทยานธรณีโลก”

          ชิมแล้วก็ต้องชอปผ้าบาติกที่วิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก หนึ่งในวัฒนธรรมการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคการปิดเทียนบริเวณที่ไม่ต้องการให้ย้อมติดสี ที่คนสตูลสืบทอดเทคนิคนี้กันมาจนถึงปัจจุบัน และมีการต่อยอดโดยนำเอาภาพซากดึกดำบรรพ์ที่พบในพื้นที่มาสร้างสรรค์เป็นลวดลาย ด้านสีย้อมก็มีการต่อยอดโดยนำเอาดินแทร์รารอสซา ดินจากซากหินปูนผุพังยุคออร์โดวิเชียนมาใช้ย้อมให้เกิดสีน้ำตาลอมส้มสวยงาม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น และยังมีการนำเทคนิคมัดย้อมและการย้อมสีธรรมชาติจากไม้ป่าชายเลนอย่างหูกวาง โกงกาง และตะบูน เข้ามาเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วย

บันทึกมรดกล้ำค่า ผ่าน ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’

          องค์ความรู้ทั้งในด้านความหลากหลายชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้เก็บรวบรวมไว้ในนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม ระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลที่พัฒนาโดย เนคเทค สวทช. สำหรับจัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมและพร้อมส่งต่อสู่ชุมชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาไกด์ท้องถิ่น การประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

          ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า จุดเด่นของแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ์’ คือ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานหรือชุมชนที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลและเป็นเจ้าของข้อมูล โดยเข้ามาเพิ่มเติมข้อมูลได้ด้วยตนเอง สามารถใส่ชื่อ สถานที่ ข้อมูลกายภาพ ข้อมูลทางชีวภาพ บทบรรยายสำหรับนำชม ขนาด ลักษณะ ประวัติ สถานที่จัดเก็บได้ โดยเลือกได้ว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ และยังอัปโหลดสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพ เสียง วิดีโอ ภาพ 360 องศา ชุมชนสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลในท้องถิ่น ใช้ทำสื่อเรียนรู้ต่าง ๆ ช่วยยกระดับและพัฒนาทักษะของชุมชนให้บริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลและการสื่อความหมายได้อย่างต่อเนื่อง

          ผลจากการศึกษาวิจัยและบันทึกองค์ความรู้ไว้อย่างเป็นรูปธรรมในนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม ได้เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลนำไปใช้บอกเล่าถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในฐานะไกด์ท้องถิ่นได้อย่างภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันยังสามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาต่อยอดสร้างรายได้ในหลายมิติ  นำมาสู่การตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรแห่งธรณีกาล และก่อให้เกิดการอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

          นายสมชาย นกเกษม หรือ บังบอย ไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นอาสาสมัครชุมชนรักษ์บ้านหาญ เล่าว่า เมื่อก่อนด้วยความไม่รู้ ยอมรับเลยว่าไม่กล้าพูด แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้จากนักวิชาการทั้ง สวทช. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งได้เข้ามาจัดอบรมความรู้ให้กับชาวบ้านด้วย ทำให้เกิดความมั่นใจ กล้าที่จะถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของถ้ำทะลุ หลุมยุบดึกดำบรรพ์พื้นที่ขนาด 2-3 ไร่ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้ถ้ำขนาดใหญ่ในอดีตยุบตัวลง จนก่อเกิดเป็นระบบนิเวศพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ที่ชุมชนรักษ์บ้านหาญต่างภาคภูมิใจ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานธรณีโลกที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแห่งนี้มากขึ้นด้วย

          สำหรับประชาชนที่สนใจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ https://www.navanurak.in.th/satungeopark

About Author