สวทช. ร่วมต้อนรับและแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 (Young Scientist Competition, YSC 2022)

          เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (สวทช.) และ นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (สวทช.) เป็นผู้แทนร่วมต้อนรับและแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 (Young Scientist Competition, YSC 2022) ที่เดินทางกลับจากการเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7–13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้มีโครงงานเข้าร่วมประกวด 1,410 ผลงาน จำนวนนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศ และรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา
 
          ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันส่งคณะเยาวชนไทยจากโครงการ YSC เข้าร่วมการประกวด ISEF 2022 และเยาวชนไทยจำนวน 15 คน จาก 7 ทีม ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยสามารถคว้ารางวัลสำคัญคือรางวัล Grand Awards จำนวน 5 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Award) จำนวน 2 รางวัล
 
 
          รางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 (Computational Biology and Bioinformatics) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โครงงานเรื่อง “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” สาขา Computational Biology and Bioinformatics ผู้พัฒนาได้แก่ นายภาวิต แก้วนุรัชดาสร (น้องพีค) นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ (น้องนัท) และนายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ (น้องสุกี้) และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ สถาบันวิทยสิริเมธี
 
 
          รางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 (Earth and Environmental Sciences) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ “โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
 
          รางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP)” สาขา Biomedical Engineering ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
 
          “โครงงานการแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน” สาขา Physics and Astronomy ผู้พัฒนาได้แก่ นายวิชยุตม์ นาคะศูนย์ และอาจารย์ที่ปรึกษา นางซัลวาณีย์ เจ๊ะมะหมัด จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และ รศ. ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
          และ โครงงานการพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา” สาขา Biomedical and Health Sciences ผู้พัฒนาได้แก่ นายพีรทัตต์ ลาภณรงค์ชัย และ นายธนพัฒน์ รีชีวะ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม และ ดร.ธิติกร บุญคุ้ม นาโนเทค สวทช.
 
          รางวัลพิเศษ (Special Award) ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP)” ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลก จาก USAID หรือ องค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
 
          และ “โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ได้รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นผลงานการวิจัยที่มีการบูรณาการวิทยาการจากหลากหลายสาขายอดเยี่ยม
 

About Author