ม.มหิดล สร้างสรรค์ “นวัตกรรมชุมชน” ริเริ่ม “โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” สร้าง “ระบบแหล่งอาหารปลอดภัย” เพื่อชุมชนยั่งยืน

          คงจะปฏิเสธกันไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อชุมชนอยู่ได้ มหาวิทยาลัยจึงอยู่ได้” ดังนั้นหน้าที่ใส่ใจดูแล และเป็นที่พึ่งของชุมชน จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ความปลอดภัยทางด้านสุขภาวะจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

          ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จู่ๆ ผู้ซื้อจะเดินเข้าไปขอตรวจสอบร้านอาหาร หรือแผงลอย ถึงสิ่งที่ตนกำลังรับประทานอยู่ว่าทำมาจากวัตถุดิบอะไร และมีความปลอดภัยเพียงใด หากไม่มีองค์ความรู้ และเครื่องมือที่ได้มาตรฐานคอยสนับสนุน พร้อมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เที่ยงตรง แม่นยำ และตรวจสอบได้ รวมทั้งการให้คำปรึกษาตามหลักสุขาภิบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อ และผู้จำหน่าย

          จึงนับเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนตรวจสอบสุขอนามัยร้านจำหน่ายอาหารประจำปี และสร้างระบบให้กับชุมชนเพื่อการมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน


อาจารย์ ดร.ศศิมา วรหาญ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนนำ “โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค”

          อาจารย์ ดร.ศศิมา วรหาญ และ อาจารย์ วรารัตน์ หนูวัฒนา อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานพยาบาลหลักของชุมชน คือ เบื้องหลังสำคัญของการสร้างสรรค์ “นวัตกรรมชุมชน” จากการริเริ่ม “โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” เพื่อสร้างระบบให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

          ซึ่งจากการนำนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่ตรวจสอบอาหารปลอดภัย ตามร้านอาหารและแผงลอยในชุมชน ในระยะแรกได้พบกับปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกิดจากความไม่เข้าใจในเป้าหมายร่วมกันของการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน ทีมโครงการฯ จึงยังไม่สามารถบรรลุผลการดำเนินงานได้ 100% แต่เมื่อได้มีการให้ความรู้และคอยให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และจริงใจ จึงได้รอยยิ้มกลับมา พร้อมความร่วมมืออย่างเต็มที่

          “เราจะต้องไม่พยายามทำเหมือนกับว่าเรากำลังเข้าไปขอตรวจสอบเพื่อจับผิด แต่จะต้องพยายามแสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ใส่ใจ พร้อมดูแล ที่สำคัญในฐานะสถาบันการศึกษา เราจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยให้กับทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้ออย่างไม่ย่อท้อ และต่อเนื่องด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืน” อาจารย์ ดร.ศศิมา วรหาญ หนึ่งในแกนนำ “โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” กล่าว

          จากการลงพื้นที่ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน จากการสุ่มตรวจสอบสารเคมี และสารปนเปื้อนจุลินทรีย์กลุ่มโคลิฟอร์มในอาหาร ด้วยชุดทดสอบที่ได้มาตรฐาน ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เที่ยงตรง แม่นยำ และตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นการฝึกให้นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปรียบเหมือนลูกหลานของชุมชน ได้ลงพื้นที่จริง ฝึกปฏิบัติจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 – 4 เพื่อการเข้าถึงชุมชน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

          จุดแข็งของโครงการฯ อยู่ที่นอกจากการให้นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฝึกตรวจสอบสารเคมี และจุลินทรีย์กลุ่มโคลิฟอร์มปนเปื้อนในอาหาร และสามารถแปลผลได้แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของหลักสูตรฯ ได้ร่วมสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์อาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งต่อไปจะได้จัดทำเป็นสติกเกอร์เพื่อรับรองอาหารปลอดภัยให้กับร้านค้าและแผงลอยที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ทั้งที่เป็นคนในชุมชน และผู้มาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยวต่อไปได้อีกด้วย

          แม้ในวันนี้ COVID-19 จะยังคงอยู่กับเราต่อไป แต่สักวันจะต้องแพ้ภัยด้วยวัคซีนที่สร้างขึ้นจากความรู้รักสามัคคีของคนในชุมชนที่พร้อมฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน เพียงร่วมกัน “ใส่ใจอาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค”

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author