บางมุมมองเกี่ยวกับไผ่

เรื่องโดย สราวุธ สังข์แก้ว
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ไผ่กับสังคมไทย

          ไผ่อยู่คู่กับสังคมไทย (หรือแม้แต่สังคมโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีไผ่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ) มาอย่างยาวนาน คนไทยที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2515 อาจเห็นภาพได้ง่ายว่าไผ่เกี่ยวข้องกับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายอย่างไร

          ตอนที่ทารกคลอดจากครรภ์มารดา ก็จะตกลงบนพื้น เรียกว่า “ตกฟาก” ซึ่งคำว่า “ฟาก” หมายถึงสิ่งที่ใช้ปูเป็นพื้นบ้านเรือนสมัยก่อน ทำจากไม้ไผ่ อาจเป็น “ฟากสับ” ที่ทำโดยการผ่าลำไม้ไผ่แล้วสับหรือทุบให้แตกออกเป็นอันเล็ก ๆ ตามยาว แต่ไม่ขาดจากกัน แล้วแผ่ออกให้เป็นแผ่นแบน หรือ “ฟากซี่” ที่ผ่าไม้ไผ่ออกแล้วเหลาเป็นซี่เล็กหรือใหญ่ และอาจถักให้เป็นผืนด้วยหวายหรือเชือก จุดของเวลาที่ทารกคลอดนั้น เรียกว่า “เวลาตกฟาก” ซึ่งถือเป็นเวลา-วัน-เดือน-ปีเกิดของแต่ละคน ช่วงนี้หมอตำแยจะใช้แผ่นใบมีดที่ทำจากไม้ไผ่แห้ง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) ผ่าริมซีกด้านใดด้านหนึ่งของปล้องไม้ไผ่ออกมา ซึ่งแผ่นซีกไม้ไผ่นี้จะคมมากและไม่เป็นสนิม ใช้ตัดสายสะดือทารก


แผนที่การกระจายของไผ่ทั่วโลก
ปรับปรุงจาก : Ohrnberger, 1999

          บ้านเรือนที่อยู่อาศัยในชนบทสมัยก่อนก็มักทำด้วยไม้ไผ่ อาจใช้ไม้ไผ่แทบจะทั้งหลังหรือมีไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบ อาหารการกินเพื่อการมีชีวิตอยู่และเพื่อการเจริญเติบโตก็มีไผ่เป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะหน่อของไผ่ที่แทงออกมาจากเหง้าไผ่ที่อยู่ใต้ดิน ที่เราเรียกกันว่า “หน่อไม้” ซึ่งใช้ทำอาหารได้หลากหลายเมนู ครั้นเมื่อตายลงก็มีการเคลื่อนย้ายศพไปที่เชิงตะกอนโดยใช้แคร่ไม้ไผ่ เนื่องจากน้ำหนักเบา หาง่าย และราคาถูก การเผาศพก็ใช้ไม้ต่าง ๆ รวมถึงไม้ไผ่เป็นเชื้อเพลิงในการเผา

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตนั้นชาวบ้านต่างจังหวัดโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไผ่หรือใช้ประโยชน์จากไผ่มากกว่าคนในเมืองหรือผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดี ในอดีตไผ่จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้ซุงของคนจน” หรือ the poor man’s timber แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ด้วยหลาย ๆ เหตุผล เช่น ไม้จริง (solid wood) เริ่มหายากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ ประกอบกับแนวคิดและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนา เพิ่มคุณภาพ หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไผ่ได้ดีขึ้นกว่าในอดีต ความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์จากไผ่จึงเพิ่มขึ้น แต่ด้วยราคาของผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไม้จริงทั่วไป ทำให้ยุคปัจจุบันนี้เริ่มมีการขนานนามไผ่ว่า “ไม้ซุงของคนรวย” หรือ the rich man’s timber เนื่องจากไผ่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เอาไปทำอะไรก็ได้แทบทุกอย่าง แทบจะตรงกับสำนวนไทยที่ว่าทำได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ หากไผ่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังและจริงใจจากทุกภาคส่วน เราน่าจะได้เห็นไผ่ในภาพของ “วัตถุดิบสีเขียวสำหรับทุกคน” หรือ green material for all ในอนาคตอันใกล้นี้

จริง ๆ แล้วไผ่คืออะไร ?

          หากบอกว่าไผ่เป็นกลุ่มของพืชในวงศ์หญ้า (Family Poaceae หรืออาจคุ้นเคยกันในชื่อวงศ์ Gramineae) หลายคนคงนึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะต้นไผ่หรือกอไผ่ทั่วไปนั้นค่อนใหญ่ถึงใหญ่มาก ไม่น่าจะเป็นพืชในวงศ์หญ้าซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ๆ ได้ โดยอาจลืมไปว่ามีหญ้าหลายชนิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่คล้ายกับไผ่ เช่น อ้อย (Saccharum officinarum L.) ข้าวโพด (Zea mays L.) แขมหรืออ้อน้อย (Phragmites karka (Retz.) Trin. ex Steud. หรือบางคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่าไผ่เป็นพืชวงศ์เดียวกับหญ้า และยิ่งพอทราบด้วยว่าไผ่มีประโยชน์มากมายก็อาจจะรู้สึกยอมรับไม่ได้ว่าว่าไผ่เป็นพืชในวงศ์หญ้าที่มักจะเป็นวัชพืช เป็นพืชที่คนไม่ต้องการ ทั้งที่จริงแล้วพืชในวงศ์หญ้านั้นเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญของมวลมนุษย์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยและข้าวโพดดังที่กล่าวมาแล้ว หรือโดยเฉพาะข้าวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวร่วน (ข้าวจ้าว) (Oryza sativa L.) ข้าวสาลี (Triticum aestivum L.) ข้าวไรย์ (Secale cereale L.) ข้าวโอ๊ต (Avena sativa L.) ข้าวบาร์เลย์ (Hordeum vulgare L.)

          ในทางวิทยาศาสตร์เคยมีความพยายามที่จะตั้งวงศ์ไผ่แยกออกไปจากวงศ์หญ้าเมื่อปี ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) โดยให้ชื่อว่าวงศ์ Bambusaceae แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ จริง ๆ แล้วไผ่เป็นเพียงหนึ่งในสิบกว่าวงศ์ย่อย (subfamily) ของวงศ์หญ้า ชื่อว่าวงศ์ย่อย Bambusoideae ทั่วโลกมีไผ่อยู่ประมาณ 120 สกุล ประมาณ 1,500 ชนิด สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีไผ่อยู่มากน้อยขนาดไหน คาดว่ามีประมาณ 15-20 สกุล ประมาณ 80-100 ชนิด ทั้งนี้ยังมีการค้นพบไผ่ชนิดใหม่ (species new to science หรือ new species) ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

          เดิมเชื่อกันว่าไผ่ในวงศ์ย่อยไผ่นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 เผ่า (tribe) คือ เผ่า Bambuseae (ในที่นี้ขอเรียกว่า “เผ่าไผ่แข็งเหมือนไม้” เป็นเผ่าของไผ่ที่มีลำรวมกันเป็นกอที่เรามักคุ้นเคยกันดี กับไผ่ลำเดี่ยวที่เรามักเห็นกันในภาพยนตร์หรือละครจีน พบบ้างที่เป็นกอ) และเผ่า Olyreae (ในที่นี้ขอเรียกว่า “เผ่าไผ่ล้มลุก” เป็นไผ่ที่มีขนาดเล็ก มองเผิน ๆ คล้ายหญ้าทั่วไป)

          อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาโดยใช้ข้อมูลทางด้านชีววิทยาโมเลกุลเพื่อดูความสัมพันธ์ทางด้านวงศ์วานวิวัฒนาการ (phylogenetic relationships) ประกอบกับการกระจายของไผ่ทั่วโลก พบว่า วงศ์ย่อยไผ่แบ่งออกได้เป็น 3 เผ่า ไม่ใช่ 2 เผ่าอย่างที่เคยเข้าใจกัน ได้แก่ 1) เผ่า Bambuseae (เผ่าไผ่แข็งเหมือนไม้เขตร้อน หรือ tropical woody bamboos เป็นเผ่าที่รวมเฉพาะไผ่ที่มีลำรวมกันเป็นกอ ที่เรามักคุ้นเคยกันดี) 2) เผ่า Olyreae (เผ่าไผ่ล้มลุก หรือ herbaceous bamboos เช่นเดียวกับที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้) และ 3) เผ่า Arundinarieae (เผ่าไผ่แข็งเหมือนไม้เขตอบอุ่น หรือ temperate woody bamboos เป็นเผ่าที่รวมเฉพาะไผ่ลำเดี่ยว พบบ้างที่เป็นกอ)


ความสัมพันธ์และการกระจายของไผ่ทั้ง 3 เผ่า
ปรับปรุงจาก : Sungkaew et al., 2009

          ไผ่ส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยจะอยู่ในเผ่า Bambuseae แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในเขตร้อน (tropical zone) แต่ก็มีไผ่ในเผ่า Arundinarieae ที่ส่วนใหญ่เป็นไผ่ที่พบในเขตอบอุ่น (temperate zone) ด้วยเช่นกัน แต่พบเพียงไม่กี่ชนิด และพื้นที่ที่พบมักจะต้องอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป เช่น ไผ่ข้อหนาม (Chimonocalamus auriculatus Sungkaew, Hodk. & N.H.Xia) ที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดพิษณุโลก เป็นไผ่ที่มีลักษณะของลำรวมกันเป็นกอ มีรากอากาศลักษณะคล้ายหนามที่ข้อล่าง ๆ ของลำ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานของไผ่ลำเดี่ยวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ


ไผ่ข้อหนาม A. ลักษณะกอ; B. ใบจริง; C. ลำอ่อน แสดงรากอากาศลักษณะคล้ายหนามที่ข้อ; D. ลักษณะการประกอบขึ้นเป็นกิ่ง; E. ลักษณะลำในกอ; F. หน่อไผ่ แสดงลักษณะของหูกาบรูปสามเหลี่ยมและมีขนที่ขอบของหูกาบ
ที่มา: Sungkaew et al., 2018

          ความจริงแล้ววิสัย (habit) ของไผ่ทั้งหมดเป็นพืชล้มลุก (herb หรือ herbaceous plant) ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี อาจมีบางชนิดที่เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว โดยเฉพาะไผ่ในเผ่าไผ่ล้มลุก เหตุผลที่เรียกว่า “เผ่าไผ่แข็งเหมือนไม้” ไม่เรียกว่า “เผ่าไผ่มีเนื้อไม้” ก็เพราะคำว่า “เนื้อไม้” (wood) นั้นมักจะใช้กับพืชที่มีวิสัยเป็นไม้ต้นหรือต้นไม้ (tree) ซึ่งในลำต้นของต้นไม้เหล่านี้จะมีส่วนที่เรียกว่า แคมเบียมท่อลำเลียง (vascular cambium) ที่ช่วยสร้างเนื้อไม้ ทำให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดทางด้านข้างได้ ซึ่งในลำไผ่ไม่มีส่วนของแคมเบียมท่อลำเลียงที่ว่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า “ลำไผ่ไม่มีทางมีขนาดทางเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ไปกว่าขนาดของหน่อไผ่ (หน่อไม้)” เพราะฉะนั้นหากจะวัดการเจริญเติบโตทางด้านเส้นผ่าศูนย์กลางของลำไผ่ก็วัดเพียงครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องวัดซ้ำทุกปีเหมือนต้นไม้อื่นที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นไปทุกปี ไผ่จะมีความโดดเด่นในเรื่องการเจริญเติบโตทางความสูงมาก หลายท่านอาจเคยได้ยินมาว่าไผ่โต (ทางความสูง) ได้ถึงวันละ 1 เมตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด มีรายงานว่าแม้แต่ไผ่ขนาดเล็กอย่างไผ่รวกนั้น หลังจากที่หน่อของมันสูงจากผิวดินประมาณ 40 เซนติเมตรแล้ว หน่อนั้นจะเจริญเติบโตทางความสูงได้ถึง 2 เมตร ภายใน 24 ชั่วโมง โดยหน่อไผ่รวกสามารถเจริญไปเป็นลำที่สมบูรณ์ภายในฤดูกาลเดียว (ต้นถึงปลายฤดูฝน) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 เดือนเท่านั้น

ไผ่…พืชสารพัดประโยชน์

          ไผ่เป็นกลุ่มของพืชที่มีศักยภาพยังประโยชน์ให้แก่ประเทศได้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คงไม่เป็นการโอ้อวดเกินจริงหากจะพูดว่าประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบันก็ด้วยมีไผ่เป็นตัวช่วยหลักตัวหนึ่งในการพัฒนาประเทศ แทบจะกล่าวได้ว่าไผ่เป็นไม้โตเร็วที่มีรอบตัดฟัน (harvest rotation) ที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ๆ ที่ปลูกสร้างเป็นสวนป่าและใช้ประโยชน์กันอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับไผ่เป็นไม้อเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทุกส่วนของไผ่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากให้ลองนึกถึงประโยชน์จากไผ่คนละหนึ่งอย่าง คาดว่าน่าจะตอบกันได้โดยไม่ยากนัก

          ลองนึกภาพดูว่าในการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือพบเห็นการใช้ประโยชน์จากไผ่ ไม่ว่าในรูปของการเป็นอาหาร เช่น หน่อไม้ เพื่อประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ หรือไม่ใช่อาหาร เช่น ตะเกียบ เครื่องจักสาน ภาชนะ ยารักษาโรค เยื่อกระดาษ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี นั่งร้าน สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ หรือใช้ในการจัดสวน เก็บกักคาร์บอน กันลม ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง ฯลฯ จนถึงเป็นผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น ท่อส่งน้ำ หมวกกันน็อก

          และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ “SDGs”(Sustainable Development Goals) ที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งไผ่เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จได้หลายเป้าหมาย เช่น

             เป้าหมายที่ 1 เรื่อง การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่

             เป้าหมายที่ 2 เรื่อง การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

             เป้าหมายที่ 3 เรื่องการสร้างหลักประกันว่าคนจะมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

             เป้าหมายที่ 7 เรื่อง การสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา

             เป้าหมายที่ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น

                   เป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

          และในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีแนวความคิดเรื่องโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี” หรือ “BCG Economy Model” ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ไปพร้อม ๆ กัน แทบจะกล่าวได้ว่ามาถึงยุคนี้แล้ว หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศยังมองไม่เห็นความสำคัญของไผ่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอจนถึงเมื่อไหร่

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่ไทย

          หลายคนอาจสงสัยว่าไผ่มีประโยชน์มากมายขนาดนี้ (จนบางครั้งมีการพูดกันในเชิงประชดประชันว่ามีประโยชน์มากมายเหลือเกินจนหาจุดเด่นไม่ได้) แล้วทำไมอุตสาหกรรมไผ่ในประเทศไทยจึงยังไปไม่ถึงไหน ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมไผ่ในประเทศไทยในอดีตนั้นค่อนข้างจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด จนมาถึงยุคปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นรูปเป็นร่างมากพอสมควร ทั้งนี้ต้องให้เครดิตภาคเอกชนที่ช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมไผ่มาได้ถึงขนาดนี้โดยแทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากตัวเลขการส่งออกไม้ไผ่และผลิตภัณฑ์จากไผ่ (ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี) อาจจะยังไม่สูงพอที่จะให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจหยิบยกเรื่องไผ่ไปเป็นนโยบายหลัก เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากหากภาครัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการผลักดันอุตสาหกรรมไผ่อย่างเต็มตัวและอย่างจริงใจ


ไผ่กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

          อีกเหตุผลหนึ่งก็เนื่องจากการที่ไผ่มีประโยชน์หลากหลายมากนั่นเอง จึงทำให้แนวทางการใช้ประโยชน์จากไผ่มันฟุ้งเสียจนไม่รู้จะเดินไปในทิศทางไหนดี ภาครัฐควรต้องจัดโซนให้ชัดว่า ตรงไหนหรือภาคไหนของประเทศควรจะทำอุตสาหกรรมอะไร และควรส่งเสริมการปลูกไผ่ชนิดใดบ้างเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้ที่อยากปลูกได้พบกับผู้ที่อยากซื้ออย่างจริงจังเสียที เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีผู้อยากซื้อไม้ไผ่ไปใช้ประโยชน์เข้าจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน หรือไม่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอกับที่จะใช้ คนปลูกก็ไม่กล้าที่จะปลูกเพราะไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน

โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

          สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องชนิดของไผ่ที่จะปลูก ต้องมีความชัดเจนว่าจะปลูกไผ่ชนิดไหนเพื่อไปป้อนอุตสาหกรรมอะไร ไผ่ต่างชนิดกันต้องการปัจจัยในการเจริญเติบไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และไผ่ต่างชนิดกันก็เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน แม้แต่ไม้ไผ่ในลำเดียวกันยังมีคุณสมบัติทางกายภาพ   คุณสมบัติทางเคมี และคุณสมบัติทางกล ที่แตกต่างกันไปจากโคนลำถึงปลายลำ การหยิบใช้วัตถุดิบให้ถูกชนิด ถูกส่วน จะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ไผ่ได้ตรงศักยภาพที่สุด

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • สราวุธ สังข์แก้ว, อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์, และ กิตติศักดิ์ จินดาวงศ์. (2554). ไผ่ในเมืองไทย. สำนักพิมพ์บ้านและสวน, กรุงเทพฯ.
  • สราวุธ สังข์แก้ว, จงรัก วัชรินทร์รัตน์, อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์, และ ระเบียบ ศรีกงพาน. (2546). รายงานการวิจัยเรื่อง: การศึกษากำลังผลิตของไผ่รวก บริเวณอุทยานธรรมชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี.
  • Ohrnberger, D. (1999). The Bamboos of the World. Elsevier, Amsterdam.
  • Sungkaew, S., Hodkinson, T.R., Xia, N.-H., Teerawatananon, A. (2018). Chimonocalamus auriculatus, one more new temperate woody bamboo species of the genus (Poaceae: Bambusoideae: Arundinarieae) described from Thailand. Phytotaxa 357(1): 66-70.
  • Sungkaew, S., Stapleton, C.M.A., Salamin, N. & Hodkinson, T.R. (2009). Non-monophyly of the woody bamboos (Bambuseae; Poaceae): a multi-gene region phylogenetic analysis of Bambusoideae s.s. Journal of Plant Research 122: 95–108.
  • Tahir, P.M., Lee, S.H., Osman Al-Edrus, S.S. & Uyup, M.K.A. (Eds.). (2023). Multifaceted bamboo: engineered products and other. Springer Nature Singapore Pte Ltd., Singapore.

About Author