เจ้าชายเพอร์ซีอัส

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามตำนานกรีกโบราณ พระราชาอไครซีอัส (Acrisius) แห่งเมืองอาร์กอส (Argos) ทรงมีพระราชธิดาทรงสิริโฉมงดงามชื่อ แดเนอี (Danaë) ต่อมาทรงปรารถนาจะมีพระราชโอรสบ้าง จึงเสด็จไปปรึกษากับเทพพยากรณ์แห่งเมืองเดลไฟ (Delphi)

          แต่เทพพยากรณ์กลับเตือนว่า พระองค์จะถูกปลงพระชนม์โดยพระโอรสของเจ้าหญิงแดเนอี

          ขณะนั้นเจ้าหญิงแดเนอีทรงยังไม่ได้อภิเษกสมรส เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไปตามคำพยากรณ์ พระราชาอไครซีอัสจึงทรงสั่งให้กักตัวเจ้าหญิงแดเนอีอยู่ในห้องที่สร้างจากโลหะสัมฤทธิ์

          เทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเทพเจ้ากรีก ทอดพระเนตรเห็นเจ้าหญิงแดเนอีก็ทรงเกิดสิเน่หา ซูสเลยแปลงองค์เป็นฝนสีทองเข้ามาในห้องของเจ้าหญิงแดเนอี และทำให้เจ้าหญิงแดเนอีทรงพระครรภ์ และทรงคลอดพระโอรสชื่อ เพอร์ซีอัส (Perseus)

          พระราชาอไครซีอัสจึงทรงมีพระบัญชาให้นำตัวเจ้าหญิงแดเนอีพร้อมพระโอรสคือเจ้าชายเพอร์ซีอัสใส่หีบไปลอยทะเล

          หีบดังกล่าวได้ลอยไปเกยหาดเกาะเซรีฟอส (Serifos) ชาวประมงชื่อ ดิกติส (Dictys) ได้พบและช่วยเจ้าหญิงแดเนอีและเจ้าชายเพอร์ซีอัส ดิกติสได้ถวายการเลี้ยงดูทั้งสองพระองค์เป็นอย่างดีจนเจ้าชายเพอร์ซีอัสเจริญพระชันษาเป็นหนุ่ม

          ดิกติสมีพี่ชายคือ โพลิเดกตีส (Polydectes) เป็นพระราชาแห่งเกาะเซรีฟอส พระราชาโพลิเดกตีสทรงปรารถนาจะได้เจ้าหญิงแดเนอีเป็นพระชายา แต่เจ้าชายเพอร์ซีอัสทรงขัดขวางกีดกัน

          วันหนึ่งพระราชาโพลิเดกตีสทรงคิดอุบายที่จะกำจัดเจ้าชายเพอร์ซีอัส โดยทรงจัดงานและให้ทุกคนบนเกาะนำม้ามาเป็นของขวัญ เจ้าชายเพอร์ซีอัสทรงไม่มีม้า จึงทรงเสนอว่าจะนำของขวัญอื่นมาให้แทน ขอเพียงพระราชาโพลิเดกตีสทรงเอ่ยว่ามีพระประสงค์สิ่งใด พระราชาโพลิเดกตีสจึงตรัสว่าต้องการศีรษะของปีศาจเมดูซา (Medusa) และเจ้าชายเพอร์ซีอัสจะเสด็จกลับเกาะเซรีฟอสไม่ได้ถ้าไม่มีศีรษะเมดูซา

          เมดูซาเป็นปีศาจผู้หญิง มีผมเป็นงู ถ้าใครจ้องหน้าจะกลายเป็นหิน เป็นหนึ่งในปีศาจกอร์กอน (Gorgon) สามพี่น้อง


ภาพถ่ายประติมากรรมเพอร์ซีอัสกับหัวปีศาจเมดูซา โดย Benvenuto Cellini ศิลปินชาวอิตาลี ปี พ.ศ. 2097
ที่มาภาพ Wikipedia

          เทพีอทีนา (Athena) พระราชธิดาของซูสทรงได้ช่วยเจ้าชายเพอร์ซีอัสโดยให้เจ้าชายเพอร์ซีอัสเสด็จไปหาสามแม่เฒ่ากรีอี (Graeae) เพื่อถามทางไปหาเทพธิดาเฮสเปอริดีส (Hesperides) ผู้มีถุงวิเศษสำหรับใส่ศีรษะเมดูซา แต่สามแม่เฒ่าปฏิเสธที่จะบอกทางให้

          สามแม่เฒ่าใช้ดวงตา 1 ดวง และฟัน 1 ซี่ ร่วมกัน ระหว่างที่แม่เฒ่ากำลังส่งดวงตาไปให้อีกคน เจ้าชายเพอร์ซีอัสก็เข้ามาคว้าดวงตาดวงนั้นไป และตรัสว่าถ้าแม่เฒ่าช่วยบอกทางก็จะคืนดวงตาให้ แม่เฒ่าทั้งสามจึงจำใจต้องบอกทาง

          หลังจากที่เจ้าชายเพอร์ซีอัสได้ถุงวิเศษจากเทพธิดาเฮสเปอริดีสแล้ว เทพีอทีนาทรงให้ยืมโล่วิเศษ ซูสทรงให้ยืมดาบวิเศษ เทพเฮดีส (Hades) ทรงให้ยืมหมวกวิเศษที่ทำให้ล่องหนหายตัวได้ และเทพเฮอร์มีส (Hermes) ทรงให้ยืมรองเท้าวิเศษมีปีกทำให้เหาะได้

          เจ้าชายเพอร์ซีอัสทรงแอบย่องเข้าไปในถ้ำที่เมดูซาหลับอยู่ ใช้โล่วิเศษเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นเมดูซา เพื่อจะไม่ต้องจ้องมองหน้าเมดูซาโดยตรงเพราะจะกลายเป็นหิน ใช้ดาบวิเศษตัดศีรษะเมดูซาใส่ถุงวิเศษ พี่น้องสองคนของเมดูซาสะดุ้งตื่นขึ้นมา แต่มองไม่เห็นเจ้าชายเพอร์ซีอัส เนื่องจากทรงสวมหมวกวิเศษที่ทำให้ล่องหนหายตัว

          ขณะที่ตัดศีรษะเมดูซาได้เกิดม้าปีกเพกาซัส (Pegasus) ออกมาด้วย ลักษณะเป็นม้าสีขาว มีปีกสองข้าง

          ระหว่างทางเสด็จกลับผ่านเมืองเอธิโอเปีย (Aethiopia) เจ้าชายเพอร์ซีอัสได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าหญิงแอนดรอเมดา (Andromeda) ทรงถูกล่ามโซ่ไว้กับก้อนหินริมทะเลเพื่อสังเวยสัตว์ประหลาดซีตัส (Cetus)

          เจ้าชายเพอร์ซีอัสจึงเสด็จเหาะลงมาสอบถามและช่วยเหลือเจ้าหญิงแอนดรอเมดาโดยสังหารซีตัส แล้วทั้งสองพระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสกัน  


ภาพวาดกลุ่มดาวเพอร์ซีอัสบนการ์ด Urania’s Mirror ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2368
ที่มาภาพ Wikipedia

          เรื่องของเจ้าหญิงแอนดรอเมดาสามารถอ่านได้จากนิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่แล้วคือฉบับที่ 112 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 หน้า 44-48

          เมื่อเสด็จกลับมาถึงเกาะเซรีฟอส เจ้าชายเพอร์ซีอัสทรงพบว่าพระมารดาคือเจ้าหญิงแดเนอีทรงถูกพระราชาโพลิเดกตีสคุกคามจนต้องทรงหนีไปซ่อนอยู่ในวิหาร ด้วยความโกรธเจ้าชายเพอร์ซีอัสเสด็จไปที่ท้องพระโรงที่พระราชาโพลิเดกตีสและเหล่าขุนนางกำลังประชุมอยู่

          เมื่อพระราชาโพลิเดกตีสทอดพระเนตรเจ้าชายเพอร์ซีอัสก็ไม่ทรงเชื่อว่าเจ้าชายเพอร์ซีอัสจะทรงสามารถตัดศีรษะเมดูซามาได้จริง เจ้าชายเพอร์ซีอัสจึงทรงหยิบศีรษะเมดูซาออกมา เมื่อพระราชาโพลิเดกตีสและเหล่าขุนนางจ้องหน้าเมดูซา ทุกคนก็กลายเป็นหินไปหมด

          เจ้าชายทรงถวายราชบัลลังก์ให้ดิกติสชาวประมงและพระอนุชาของโพลิเดกตีส ผู้เคยช่วยเหลือพระมารดาและพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ให้ขึ้นเป็นพระราชาองค์ใหม่แห่งเกาะเซรีฟอสสืบไป

          หลังจากคืนของวิเศษให้เหล่าเทพเจ้าต่าง ๆ (เทพีอทีนานำศีรษะเมดูซามาติดไว้บนโล่) เจ้าชายเพอร์ซีอัสก็เสด็จไปเมืองลาริสา (Larissa) ซึ่งกำลังมีการแข่งขันกีฬา เจ้าชายเพอร์ซีอัสทรงเข้าร่วมด้วย โดยทรงขว้างจักร แต่เกิดอุบัติเหตุจักรลอยเข้าไปโดนศีรษะชายผู้หนึ่งจนเสียชีวิต ชายผู้นั้นก็คือพระราชาอไครซีอัสผู้เป็นพระอัยกา (ตา) ของเจ้าชายเพอร์ซีอัส และเป็นพระบิดาของเจ้าหญิงแดเนอีที่ทรงสั่งให้นำเจ้าหญิงแดเนอีและเจ้าชายเพอร์ซีอัสใส่หีบลอยทะเลนั่นเอง เป็นความบังเอิญที่พระราชาอไครซีอัสเสด็จมาชมการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ว่าโอรสของเจ้าหญิงแดเนอีจะปลงพระชนม์พระราชาอไครซีอัส

          เรื่องของเจ้าชายเพอร์ซีอัสเป็นที่ประทับใจชาวกรีกโบราณมาก จึงนำมาเป็นตั้งเป็นกลุ่มดาวหนึ่งใน 48 กลุ่มดาวโบราณที่รวบรวมโดย ทอเลมี (Ptolemy) นักดาราศาสตร์ชาวกรีก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 643-713


ภาพแผนที่กลุ่มดาวเพอร์ซีอัส
ที่มาภาพ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU)

          ดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกลุ่มดาวเพอร์ซีอัสคือ ดาวปีศาจอัลกอล (Algol) เป็นดาวที่อยู่ตรงรูปวาดศีรษะเมดูซา ที่เรียกว่าดาวปีศาจเนื่องจากแสงสว่างของดาวอัลกอลจะเปลี่ยนไปทุก 3 วัน (อันดับความสว่างหรือโชติมาตรเปลี่ยนตั้งแต่ 2.1 ถึง 3.4) เรียกว่า ดาวแปรแสง (variable star) เกิดจากในระบบดาวอัลกอลมีดาวฤกษ์ 3 ดวง ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งจะเคลื่อนที่มาบังอีกดวง เมื่อมองจากโลกจึงเห็นดาวลดความสว่างลง

          ทุกปีวันที่ 12 หรือ 13 สิงหาคม จะเกิดฝนดาวตกมีจุดศูนย์กลางหรือจุดกระจายพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวเพอร์ซีอัสเรียกว่า ฝนดาวตกเพอร์ซีอัส (Perseids) มีดาวตกจำนวนมากสูงสุดเฉลี่ย 100 ดวงต่อชั่วโมง แต่น่าเสียดายที่ในประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน มักมีเมฆมาก โอกาสเห็นยาก


ภาพถ่ายฝนดาวตกเพอร์ซีอัสปี พ.ศ. 2564 ที่ประเทศแคนาดา โดย Pierre Martin
ที่มาภาพ NASA Astronomy Picture of the Day (APOD)

          เราสามารถเห็นกลุ่มดาวเพอร์ซีอัสในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้ในคืนที่ท้องฟ้าแจ่มใส ในเดือนสิงหาคมกลุ่มดาวเพอร์ซีอัสจะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนเที่ยงคืนและเห็นได้จนถึงเช้ามืด

About Author