เลขเปลี่ยนโลก ฉบับที่ 122

เรียบเรียงโดย
พีรณัฐ วัฒนเสน และธนกฤต ศรีวิลาศ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากเพจ The Principia และเว็บไซต์ theprincipia.co


       

เข้าสู่เดือนใหม่ใจยังคิดถึงเดือนที่แล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ชวนให้ย้อนกลับไปนึกถึง ทั้งช่วงเวลาดี ๆ มีความสุข หรือช่วงเวลาอมทุกข์ที่ทำให้เจ็บใจ ถ้าพูดถึงช่วงเวลาต้นเดือนและกลางเดือนที่เราได้ทราบผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนใหญ่คงเอนเอียงไปทางเจ็บใจ แต่ไม่เป็นไร เราขอเยียวยาทุกคนที่เจ็บใจด้วยเนื้อหาความรู้ที่ซ่อนอยู่ใต้เลขรางวัลแทน ซึ่งเราจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูกันว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รางวัลเลขท้ายสองตัวออกอะไร และมีความรู้ไหนที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เลขนั้นบ้าง

          ถึงเวลาแล้วที่จะประกาศว่า งวดประจำวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

99

          ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีกระแสที่ทำกันในวัยรุ่นอย่าง “Y2K” ซึ่งเป็นการโพสท่าสองนิ้วและแลบลิ้นออกด้านข้างในการถ่ายรูป เพื่อเป็นการแสดงถึงท่าโพสยอดฮิตในช่วงปี ค.ศ. 2000

          แต่ในคำว่า Y2K นั้น ก็ยังสื่อถึงเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบและความวิตกกังวลไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน

          ที่มาทั้งหมดเกิดจากในสมัยก่อน ช่วงปี ค.ศ. 1960 จนไปถึง ปี ค.ศ. 1980 มีการเขียนโปรแกรมให้ปฏิทินในคอมพิวเตอร์แสดงตัวเลขปีเป็นเลขสองหลักท้าย ยกตัวอย่างเช่น ค.ศ. 1998 คอมพิวเตอร์จะแสดงเป็นปี 98 การที่จะให้คอมพิวเตอร์แสดงเลขปีเป็น 4 หลักเป็นเรื่องยากและเปลืองความจำเป็นสำหรับเทคโนโลยีในยุคนั้น

          แต่แล้วปัญหาก็ได้เกิดขึ้น ถ้าเราลองคิดดูให้ดี ในปี ค.ศ. 1999 คอมพิวเตอร์แสดงผลปีนั้นเป็นเลข 99 แล้วถ้าขึ้นเป็นปี ค.ศ. 2000 คอมพิวเตอร์มันก็จะแสดงเป็น 00 แต่ 00 ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ มันไม่ใช่ ค.ศ. 2000 แต่กลับเป็นปี ค.ศ. 1900

          ผลกระทบจากการเขียนโปรแกรมแบบนี้อาจจะฟังดูไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก แต่แท้จริงแล้วกลับสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ไม่ยอมนับก้าวไปในปี ค.ศ. 2000 แต่กลับย้อนกลับไปที่ ค.ศ. 1900 จะก่อปัญหาให้ระบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนไปถึงระดับอันตรายอย่างมาก โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

          ทารกที่เกิดในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ถูกบันทึกในคอมพิวเตอร์ว่ามีอายุ 100 ปี ในวันแรกที่เกิดมา

          ที่สหราชอาณาจักร คอมพิวเตอร์คํานวณอายุครรภ์มารดาผิดพลาด ทำให้มารดาที่กำลังตั้งครรภ์ 154 ราย ได้รับการประเมินความเสี่ยงที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม ผลโดยตรงคือการทำแท้ง 2 ครั้ง และทารกที่เกิดจากมารดาที่ได้รับแจ้งว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำมีอาการดาวน์ซินโดรม 4 คน

          การแสดงหมายเลขปีเป็น 19100 ปรากฏในวันที่บนหน้าเว็บแสดงแผนที่พร้อมพยากรณ์อากาศของบริการพยากรณ์อากาศแห่งชาติฝรั่งเศส และนาฬิกาหลักที่รักษาเวลาอย่างเป็นทางการในประเทศของหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

          เครื่องตรวจตั๋วรถโดยสารใน 2 รัฐในประเทศออสเตรเลียไม่สามารถดำเนินการได้

          ร้านวิดีโอแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาคิดค่าธรรมเนียมการคืนล่าช้า 91,250 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ระบุว่าการเช่าเทปค้างชำระ 100 ปี

          พนักงานใน Deutsche Oper Berlin ในเยอรมนี ถูกระบบบัญชีตีความในปีใหม่เป็นปี ค.ศ. 1900 และได้กำหนดอายุของบุตรของพนักงานด้วยตัวเลขสองหลักสุดท้ายของปีเกิด ทำให้พนักงานถูกระงับเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตรของรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้องในเช็คเงินเดือน

          บริษัทบัตรเครดิตวีซาและมาสเตอร์การ์ด รายงานว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งถูกเรียกเก็บเงินหลายครั้งในการทำธุรกรรม ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความผิดพลาด Y2K ระยะเวลาหลายสัปดาห์หลังจากทบยอดปี

          ระบบการนับดอกเบี้ยของธนาคารล่มเพราะปฏิทินไม่ไปต่อ ซึ่งส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก

          คอมพิวเตอร์ที่สถานีควบคุมภาคพื้นดินของสหรัฐอเมริกาหยุดประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียมสอดแนม

          การเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีของโรงพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอิชิกาวะในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากคอมพิวเตอร์ตรวจสอบระบบหยุดทำงาน

          ความกลัวในเหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ และมีการสร้างกระแสให้มีความตื่นตระหนกมากขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จนมีกลุ่มคนบางกลุ่มคาดว่าจะเป็นวันสิ้นโลก ซึ่งก็เห็นได้ว่าเราผ่านวันที่อ้างว่าวันสิ้นโลกมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน

          แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1999 นั้น ความกลัวได้เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากก่อนหน้านั้นหลาย ๆ ชาติได้เผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตหนี้ในเอเชีย หรือที่เราคุ้นหูอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ทุกคนมีความหวั่นไหวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ไม่แปลกมากนักที่จะมีคนเชื่อเรื่องของวันสิ้นโลกในปี ค.ศ. 2000 เพราะในช่วงวัยของเขาได้ผ่านวิกฤตที่ย่ำแย่มาแล้ว การจะโดนอีกครั้งจนโลกแตกจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แล้วในที่สุดก็ถึงขั้นมีการก่อตั้งลัทธิในวันสิ้นโลกกันเลยทีเดียว

          แต่ในท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์ทุกอย่างก็กลับมาปกติภายในเวลาไม่นาน เพราะได้มีการโปรแกรมแก้ไขให้ระบบมีการนับปีแบบ 4 หลักแทน เนื่องจากเทคโนโลยีในช่วงปี ค.ศ. 2000 สามารถทำได้ง่ายและถูกกว่าในสมัยปี ค.ศ. 1960-1980

          เรื่องราวเทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่ในเลขท้ายสองตัวที่ประกาศผลไปในเดือนเมษายนไม่ได้มีแค่ตัวเลขคู่เดียว เพราะงวดกลางเดือนก็ยังมีตัวเลขอีกสองตัวที่มีความรู้ซุกซ่อนอยู่เช่นกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีการแพทย์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ โดยงวดประจำวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

71

          71 ปีก่อน ในยุคที่เรื่องเพศอาจยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก การผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องที่ใหม่มากและถือเป็นความท้าทายในวงการแพทย์ แต่ในปีนั้นที่ประเทศเดนมาร์ก การผ่าตัดแปลงเพศจากชายให้กลายเป็นหญิงข้ามเพศก็ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศในครั้งนั้นมีชื่อว่า คริสติน ยอร์เกนเซน

          คริสติน ยอร์เกนเซน (Christine Jorgensen) เป็นชาวอเมริกันที่เกิดในย่านบรองซ์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1926 โดยแรกเริ่มเดิมทีเธอมีชื่อว่า จอร์จ วิลเลียม ยอร์เกนเซน จูเนียร์ (George William Jorgensen, Jr.) ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนชายหนุ่มทั่วไปในสังคมสมัยนั้น

          แต่กิจวัตรที่ทำทุกอย่างในฐานะผู้ชายคนหนึ่งในสังคมนั้น ไม่ได้ทำให้เธอมีความสุขเลย เธอมีความคิดว่าตัวเองเป็นเพียงเด็กผู้หญิงที่ถูกขังอยู่ในร่างชาย ร่างกายและจิตใจเธอเปราะบาง ต้องคอยวิ่งหนีให้ห่างจากกิจกรรมที่เด็กผู้ชายในยุคนั้นเล่นกัน รวมถึงบางทีเธอได้แต่คิดว่าทำไมต้องถูกตีกรอบให้ใส่ชุดของเด็กผู้ชาย ในขณะที่พี่สาวอย่าง โดโรที ยอร์เกนเซน (Dorothy Jorgensen) ได้ใส่ชุดสวย ๆ อยู่ในทุกวัน

          เมื่อเติบโตขึ้นมา จอร์จ ยอร์เกนเซน จูเนียร์ ในขณะนั้นต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการรับราชการทหารยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า เธอเกิดมาเป็นผู้หญิงที่ถูกขังในร่างชาย หลังจากปลดประจำการ เธอจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะมองหาหนทางในการ “ผ่าตัดแปลงเพศ”

          การผ่าตัดเปลี่ยนเพศยังเป็นเรื่องใหญ่ในทางการแพทย์ขณะนั้น แม้จะเคยมีการผ่าตัดแปลงเพศเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีเคสไหนที่ประสบความสำเร็จ เช่น ในปี ค.ศ. 1930 ลิลลี เอลบี (Lili Elbe) ศิลปินชาวเดนมาร์ก เข้ารับการผ่าตัดกับทีมแพทย์ชาวเยอรมัน แต่ผลลัพธ์กลับล้มเหลวจนทำให้ถึงแก่เสียชีวิต ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนั้นเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดแปะ โดยยังไม่มีการใช้ฮอร์โมนเพศร่วมในการรักษา

          ในปี ค.ศ. 1950 จอร์จเดินทางไปยังประเทศเดนมาร์กเพื่อปรึกษากับแพทย์ที่ชื่อว่า คริสเตียน แฮมเบอร์เกอร์ (Christian Hamburger) ก่อนเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะนั้นมีวิธีการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่พัฒนามากขึ้น

          ที่จอร์จต้องเดินทางมาถึงประเทศเดนมาร์กเป็นเพราะการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายในแทบทุกพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา เธอจำเป็นจะต้องรับการผ่าตัดในยุโรปเท่านั้น

          คุณหมอคริสเตียนรับหน้าที่ดูแลจอร์จด้วยตัวเอง โดยจำเป็นต้องผ่าตัดหลายครั้ง ครั้งแรกเป็นการตัดอัณฑะ ซึ่งจะดำเนินการได้ต้องผ่านการอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเดนมาร์กก่อน

          การผ่าตัดในครั้งแรก จอร์จยังไม่ได้มีช่องคลอดเทียมจริง ๆ และต้องใช้เวลาหลายปีในการผ่าตัดตกแต่งช่องคลอดในสหรัฐอเมริกา จอร์จยังคงได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเป็นประจำ ซึ่งนั่นทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ลักษณะรูปร่างเริ่มเหมือนกับผู้หญิงคนหนึ่งจริง ๆ

          จนในปี ค.ศ. 1952 ข่าวการผ่าตัดแปลงเพศของจอร์จก็แพร่สะพัดออกไป โดยหลังจากกลับออกมาจากโรงพยาบาลโคเปนเฮเกนก็กลายเป็นคนใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น คริสติน เธอกลายเป็นคนดังในสหรัฐอเมริกา ในฐานะหญิงข้ามเพศคนแรกของโลก

          เรื่องราวดูเป็นไปได้ด้วยดีในด้านการเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์ในการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ในทางสังคม เธอยังคงพบเจอปัญหาอยู่มากมาย ทั้งการหัวเราะเยาะจากคนอื่น ๆ การถูกภาครัฐนิวยอร์กปฏิเสธการหมั้นหมาย แต่ท้ายที่สุดความมุ่งมั่นของคริสติน ยอร์เกนเซน กลายเป็นแรงผลักดันความมั่นใจของผู้คนทุกเพศให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่

        ไม่ว่าการเสี่ยงโชคงวดนี้จะเป็นอย่างไร โปรดจำไว้ เราพร้อมมอบความรู้ใหม่ ๆ ให้คุณเสมอ แบบไม่ต้องรอโชคช่วย… แม้คุณจะไม่ถูกหวยแต่คุณจะรวยความรู้ พบกันใหม่งวดหน้า


อ้างอิง

  1. https://www.gamingdose.com/feature/y2k-problem-%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81/
  2. https://th.wikipedia.org/wiki/ปัญหาปี_2000
  3. https://www.thaipbs.or.th/news/content/130934?fbclid=IwAR33Qq_IPhAPwoJtQKC03pOIr0kgF6qW4cP6co8lPlLtiOKjSiwR-ArdTbo
  4. https://www.biography.com/activist/christine-jorgensen?fbclid=IwAR37RY_xdfalQZBP-dQukMNYU6nP4iijc0EzjHxugf7sLvMo_0AR3CIOUzo

อ่านบทความพร้อมภาพประกอบได้ที่ E-Book นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 122

About Author