เลขเปลี่ยนโลก ฉบับที่ 119

เรียบเรียงโดย
ธนกฤต ศรีวิลาศ และพีรวุฒิ บุญสัตย์
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากเพจ The Principia และเว็บไซต์ theprincipia.co


                 พลังของตัวเลขนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะตัวเลขนั้นอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้า เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้แต่น้ำหนักของคุณ ไม่เว้นแม้กระทั่งเลขสองตัวท้ายของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เพิ่งซื้อมาเมื่อเดือนที่แล้ว พูดขนาดนี้เราไม่ได้จะมาดูดวงผ่านศาสตร์ของตัวเลขนะ แต่เรากำลังจะพูดถึงความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเลขผ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ให้สมกับชื่อบทความเลขเปลี่ยนโลกนั่นเอง

          ครั้งนี้เป็นเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในเลขท้ายสองตัวของสลากกินแบ่งรัฐบาลของสองงวดที่อยู่คนละปีกัน ทั้งในงวดวันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว และงวดวันที่ 17 มกราคมปีนี้ ซึ่งทั้งสองงวดที่ว่า มีเรื่องราวน่าสนใจอะไรซ่อนอยู่ในตัวเลขบ้าง มาลองติดตามอ่านได้เลย

          เริ่มกันจากรางวัลในงวดวันที่ 30 ธันวาคม 2565 เลขที่ออกได้แก่…

58

          วันที่ 5 เดือน 8 หรือที่หมายถึงเดือนสิงหาคม ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะวันดังกล่าวในปี พ.ศ. 2457 ถือเป็นวันที่โลกของเรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “สัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้า” เป็นครั้งแรก และมันได้กลายเป็นต้นแบบเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนมาจนถึงทุกวันนี้

          เสาสัญญาณไฟจราจรใช้งานครั้งแรกจริง ๆ ก่อนจะมีรถยนต์เสียอีก มีการพัฒนาขึ้นมาในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2411 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อว่า จอห์น พีก ไนต์ (John Peake Knight) ด้วยเหตุผลว่า คนเดินเท้าบริเวณหน้าพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ หรือรัฐสภาของประเทศอังกฤษ มักประสบอุบัติเหตุถูกรถม้าชน ซึ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมาก จึงมีการติดตั้งเสาสัญญาณไฟจราจรดังที่กล่าวไว้หน้ารัฐสภา

          เสาสัญญาณไฟจราจรตัวแรกของประเทศอังกฤษนี้ ไม่ได้ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงโดยปกติแล้ว มันไม่ได้ให้สัญญาณผู้คนบนท้องถนนด้วยไฟเป็นหลัก แต่จะใช้สัญญาณหางปลา (semaphore signal) ซึ่งเป็นเสาสูงและมีแขนยื่นออกมาจากเสาสัญญาณ หากแขนของสัญญาณทำมุมระนาบกับพื้น หมายความว่าให้หยุดการสัญจร แต่ถ้าแขนของสัญญาณทำมุมต่ำลง 45 องศา หมายความว่าให้สัญจรได้ด้วยความระมัดระวัง

          ส่วน “ไฟ” ที่มาจากสัญญาณไฟจราจรตัวแรกในประเทศอังกฤษนั้น จุดด้วยแก๊สโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้มองเห็นได้ในเวลากลางคืน โดยใช้สีเขียวแทนความหมายว่าให้ไป และสีแดงแทนความหมายว่าให้หยุด เหมือนสัญญาณไฟจราจรในปัจจุบัน

แต่สุดท้ายเสาสัญญาณจราจรจากประเทศอังกฤษนี้ใช้งานได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประสบอุบัติเหตุ ถูกไฟระเบิดใส่หน้า เนื่องจากแก๊สรั่ว จากที่เจ้าของผลงานอย่างไนต์ต้องการพัฒนาสัญญาณจราจรเพื่อติดตั้งทั่วประเทศ ก็จำเป็นต้องพับความคิดนั้นเก็บกลับบ้านไป

          ส่วนจุดกำเนิดของเสาสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้า แบบที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันจริง ๆ คือเสาสัญญาณไฟจราจรที่ออกแบบในปี พ.ศ. 2455 โดย เลสเตอร์ ฟาร์นสเวิร์ท ไวร์ (Lester Farnsworth Wire) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจราจรจากเมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

          ลักษณะหน้าตาเสาสัญญาณไฟจราจรของไวร์เป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยม มีหลังคายอดแหลม คล้ายบ้านนก โดยทั้งสี่ด้านของกล่องไม้นี้มีสัญญาณไฟติดตั้งไว้ด้านละสองสี คือ สีแดงและสีเขียว ทำจากหลอดไฟชุบสี ทั้งหมดนี้ติดตั้งอยู่บนเสาสูง 10 ฟุต โดยเชื่อมระบบไฟฟ้าจากสายไฟเหนือรถรางไปสู่ปุ่มกดที่ป้อมตำรวจบริเวณข้างถนน

ไวร์ควรได้จดสิทธิบัตรผลงานของเขา แต่กลับถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสียก่อน อย่างไรก็ตามเขายังได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้าคนแรกของโลก แม้ผลงานจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

          ส่วนผลงานสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับว่าติดตั้งใช้งานจริงที่แรกของโลก รวมถึงมีสิทธิบัตรยืนยัน เป็นเสาสัญญาณไฟจราจรที่ใช้งานบริเวณสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนน Euclid Avenue และ East 105th Street ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา จากการออกแบบของ เจมส์ บุชร็อด ฮอจ ซึ่งยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร “ระบบควบคุมการจราจรในเมือง” ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2456 (ถัดจากผลงานของไวร์ประมาณ 1 ปี) และได้รับการรับรองสิทธิบัตรในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2461

          เสาสัญญาณไฟจราจรของฮอจมีแรงบันดาลใจมาจากผลงานของไวร์ ซึ่งมีลักษณะการใช้ไฟสัญญาณสองสี คือ สีเขียวกับสีแดง ไม่ต่างจากของไวร์ และยังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกดปุ่มเพื่อเปลี่ยนสัญญาณ ยังไม่สามารถทำงานอย่างอัตโนมัติได้ แต่ถึงอย่างนั้นผลงานของฮอจที่ติดตั้งในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2457 ก็นับเป็นสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้าแรกของโลกอย่างเป็นทางการ

          หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเสาสัญญาณไฟจราจรมาเรื่อย ๆ ทั้งการเพิ่มไฟเหลืองเพื่อเป็นสัญญาณให้ชะลอรถ การพัฒนาสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ และการลดต้นทุนการผลิตสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้ติดตั้งในจุดต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ในการจราจรมาจนถึงทุกวันนี้

          และนี่คือเรื่องราวในเลขท้ายสองตัวจากสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดสุดท้ายของปี พ.ศ. 2565 แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะในงวดถัดมา ซึ่งเป็นเลขท้ายสองตัวจากงวดแรกของปีนี้ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

          รางวัลในงวดวันที่ 17 มกราคม 2566 เลขที่ออกได้แก่…

47

          47 ปีที่แล้ว องค์การนาซา (NASA) เปิดตัวกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ (Enterprise) กระสวยอวกาศลำแรกของโลกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2519

          โลกในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ความบอบช้ำเนื่องจากสงคราม ทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้กับสงคราม จนทำให้ขั้วมหาอำนาจโลกที่แต่เดิมเป็นอังกฤษและฝรั่งเศสเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ประกอบกับในขณะนั้นมหาอำนาจทั้งสองต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเคยแสดงแสนยานุภาพการทำลายล้างและสร้างความเสียหายแสนสาหัสให้แก่จักรวรรดิญี่ปุ่น จนนำมาสู่การจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด

          ความตึงเครียดของชาติมหาอำนาจทั้งสองทำให้เกิดการแบ่งโลกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และอีกฝั่งคือโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ โดยจุดกำเนิดของความตึงเครียดนี้เกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้ลัทธิทรูแมนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2490 เพราะต้องการกำจัดแนวคิดที่ไม่พึงประสงค์ออกไปจากโลก ซึ่งเป็นการท้าทายสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก

          โลกในตอนนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดทางจิตวิทยา ประเทศมหาอำนาจพร้อมจะกดปุ่มเริ่มสงครามนิวเคลียร์ที่จะทำลายล้างมนุษยชาติเข้าไปทุกที จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 สหรัฐอเมริกาประกาศว่าตนจะส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกก่อนเป็นชาติแรกให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งต่อมา วันที่ 30 สิงหาคมปีเดียวกัน สหภาพโซเวียตได้ส่งจรวด R-7 Semyorka ถือเป็นจรวดขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ลำแรกของโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก ก่อนที่วันที่ 4 ตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง มีการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลกคือ สปุตนิก 1 ซึ่งถือเป็นชัยชนะของสหภาพโซเวียตที่มีเหนือสหรัฐอเมริกา

          ในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ปล่อยจรวดออกไปมากมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางอวกาศของแต่ละชาติมหาอำนาจ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2519 องค์การนาซาได้เปิดตัวกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ โดยให้รหัส OV-101 (Orbiter Vehicle Designation)

          กระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ถูกนำมาที่ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดเพื่อเริ่มการบินทดสอบ approach and landing tests (ALT) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2520 โดยการบินทดสอบในขั้นนี้ตัวกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์จะอยู่บนเครื่องบินบรรทุกกระสวยอวกาศตลอดเวลา จนกระทั่งวันที่ 12 สิงหาคมปีเดียวกันนั้นเองถึงได้บินแยกตัวออกจากเครื่องบินบรรทุกกระสวยอวกาศเป็นครั้งแรก และได้นำไปแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ก่อนที่จะเข้าสู่การทดสอบขั้นถัดไปที่ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การนาซาในตอนนั้น โดยเริ่มต้นการทดสอบขั้นนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2521

          ต่อมาองค์การนาซามีแผนการจะปรับให้กระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์สามารถใช้งานบนอวกาศได้ เพื่อทำภารกิจในการขนส่งดาวเทียมสื่อสารและภารกิจต่าง ๆ ในอนาคต โดยตามแผนการนี้ กระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์จะขึ้นสู่อวกาศในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2524

          แต่ทว่าในตอนแรกที่ผลิตกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์นั้น ยังไม่มีการติดเครื่องยนต์และฉนวนกันความร้อนสำหรับใช้งานในอวกาศ จึงต้องปรับแต่งทั้งสองส่วนนี้ให้ใช้งานบนอวกาศได้ ซึ่งส่งผลให้กระสวยอวกาศหลังการปรับแต่งมีน้ำหนักมากเกินกว่ากำหนด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและซ่อมแซมตัวกระสวยอวกาศค่อนข้างสูงกว่างบประมาณที่คาดไว้ นอกจากนี้จำเป็นต้องรื้อถอนชิ้นส่วนและส่งคืนผู้รับเหมา นาซาจึงได้พับโครงการดัดแปลงกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ และหันมาสร้างกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เพื่อปฏิบัติภารกิจบนอวกาศแทน

          เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ไม่เคยได้ขึ้นไปบนอวกาศจริง ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตามกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์ก็เป็นยานต้นแบบของกระสวยอวกาศรุ่นถัด ๆ มา เช่น กระสวยอวกาศโคลัมเบีย ชาเลนเจอร์ ดิสคัฟเวอร์รี แอตแลนติส และเอนเดฟเวอร์

          ในเวลาต่อมาสหภาพโซเวียตประสบปัญหาภายใน ส่งผลให้มหาอำนาจที่คานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นต้องล่มสลายลงกลายเป็นประเทศรัสเซียในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจเพียงแห่งเดียว

          ปัจจุบันกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์จัดแสดงอยู่ที่ Steven F. Udvar-Hazy Center ที่รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งนอกจากกระสวยอวกาศเอนเทอร์ไพรส์แล้ว ยังมีเครื่องบินต้นแบบของโบอิง 707 กระสวยอวกาศโคลัมเบียที่ถือเป็นรุ่นแรกของสหรัฐอเมริกา จัดแสดงอยู่ที่นั่นด้วย

          ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของตัวเลขทั้งสองงวดที่เราสรรหามาให้คุณได้รับรู้กัน สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีความน่าสนใจใดที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเลขอีก ติดตามอ่านได้ในฉบับหน้าครับ

          ไม่ว่าการเสี่ยงโชคงวดนี้จะเป็นอย่างไร โปรดจำไว้ เราพร้อมมอบความรู้ใหม่ ๆ ให้คุณเสมอแบบไม่ต้องรอโชคช่วย… #แม้คุณจะไม่ถูกหวยแต่คุณจะรวยความรู้ #พบกันใหม่งวดหน้า


อ้างอิง


อ่านบทความพร้อมภาพประกอบได้ที่ E-Book นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 119 หน้า 42-47

About Author