มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดย กองบรรณาธิการ


 

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”

          ช่วงเวลาที่นักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไปรอคอยมาถึงแล้ว กับงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564” ระหว่างวันที่ 9-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยปีนี้จัดงานภายใต้แนวความคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Art–Science–Innovation and Creative Economy) ในรูปแบบใหม่ด้วยการผสมผสานระหว่างการจัดงานภายในอาคารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กับการจัดงานทางออนไลน์ ที่ผู้ชมเข้าชมนิทรรศการเสมือนพร้อมกับร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่น่าสนใจได้

          ผู้ที่เดินทางมาชมที่งานจะได้พบกับนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างประเทศ สมาคม/สภาสมาคม หน่วยงานเอกชน และสถาบันการศึกษา และนิทรรศการหลัก 9 นิทรรศการ ได้แก่

          – นิทรรศการเทิดพระเกียรติ
          – นิทรรศการหนึ่งเรียบง่าย หลายคุณอนันต์
          – นิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี 5G
          – นิทรรศการภารกิจข้ามดวงดาว
          – นิทรรศการหมื่นจินตนาการ ล้านความรู้
          – นิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง
          – นิทรรศการดินแดนผักและผลไม้
          – นิทรรศการ Maker Space : สู่นวัตกรรมเพื่ออนาคต
          – นิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ “จากท้องนทีสู่ห้วงสมุทร, สายน้ำกับสายสัมพันธ์ของชีวิต”

          ซึ่งกองบรรณาธิการนิตยสารสาระวิทย์ได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการบางส่วนในวันแรกของงาน จึงอยากจะขอเล่าบรรยากาศให้คุณผู้อ่านได้ติดตามร่วมกัน

+ นิทรรศการหนึ่งเรียบง่าย หลายคุณอนันต์ (Simple Machine)

          นิทรรศการ “หนึ่งเรียบง่าย หลายคุณอนันต์” ช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ในเรื่องราวของเครื่องกลอย่างง่ายให้แก่ผู้ชม โดยแสดงอุปกรณ์ตัวอย่างที่ใช้หลักการเครื่องกลอย่างง่ายที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้เข้าชมสามารถลงมือเล่นกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คาน ไม้ยก พื้นที่ลาดเอียง ได้เห็นถึงหลักการสร้างพีระมิดของคนอียิปต์ในยุคโบราณ จนถึงรถไฟ Hyperloop ในยุคปัจจุบัน

+ นิทรรศการภารกิจข้ามดวงดาว (Space Odyssey)

          นิทรรศการที่จะพาผู้ชมสำรวจกาแล็กซีผ่านเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาการ เตรียมตัวให้พร้อมกับการใช้ชีวิตเหนือพื้นโลก พร้อมออกเดินทางสู่ deep space เพื่อค้นหาดาวดวงใหม่ ที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต ในรูปแบบ immersive theatre อันน่าตื่นตาตื่นใจ

          การแสดงแบ่งออกเป็น 3 โซน โดยเริ่มจากห้อง control room จำลองฉากภายในยานอวกาศ แสดงข้อมูลชุดนักบินอวกาศ และมีแคปซูลจำศีล (hibernation) สำหรับการเดินทางข้ามดวงดาวในระยะไกล จากนั้นเข้าสู่โซนที่ 2 กับการชมภาพยนตร์ immersive theatre จอ 180 องศา พาออกเดินทางสู่ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ก่อนจะปิดท้ายโซนที่ 3 ด้วยการลงจอดบนดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากโลก 41 ปีแสง แสดงถึงสิ่งมีชีวิตที่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ต้นไม้ที่สูงกว่าบนโลกเพราะมีแรงโน้มถ่วงต่ำ

+ นิทรรศการหมื่นจินตนาการ ล้านความรู้ (Science Fiction Fun & Knowledge)

          นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนขุมทรัพย์แห่งแนวคิดของผู้คนทั่วโลก มีความท้าทาย โลดโผน ผจญภัย และสร้างจินตนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์กว้างไกลอย่างไม่สิ้นสุด เป็นเสมือนจุดร่วมของ art, science and imagination นำมาซึ่งนวัตกรรมที่พลิกวิถีชีวิตของเราอย่างมากมาย นิทรรศการชุดนี้จะพาผู้เข้าชมท่องไปสู่โลกของนิยายวิทยาศาสตร์ที่เสริมสร้างจินตนาการและความรู้ของมนุษย์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก และได้เข้าไปรู้จักกับวิทยาศาสตร์ที่จะอธิบายความเป็นไปได้ของเรื่องราวเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

          ภายในนิทรรศการจัดแสดงข้อมูลเส้นเวลา (timeline) เหตุการณ์สำคัญทางวิทยาศาสตร์ของไทยและต่างประเทศ มีตู้หนังสือรวบรวมนิยายวิทยาศาสตร์นับร้อยเล่ม รวมถึงหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยฉบับจริงที่มีอายุหลายสิบปี พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็นหลายโซนตามการแบ่งแก่นของเรื่อง คือ Space, Time, Machine และ Monster มีการจำลองเป็นฉากในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลายเรื่อง เช่น Inception, Interstellar และ Back to the Future

          และปิดท้ายด้วยการจัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่มีใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า และนาฬิกาอัจฉริยะ

+ นิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง (Skeleton)

          “นิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง” นำเสนอเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตผ่านมุมมองของเรื่องราวโครงร่างของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ผ่านสื่อการจัดแสดง kinect exhibition & interactive และการจัดแสดง specimen ของสิ่งมีชีวิตที่หาชมได้ยาก เช่น โครงกระดูกวาฬบรูดาขนาดใหญ่ ฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ โครงสร้างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แบบเจาะลึกถึงกระดูก และยังได้ทำความรู้จักกับระบบโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตและกลไกระบบโครงกระดูกด้วย

          ผู้เช้าชมจะได้เห็นตัวอย่างดองใส ดองเขียวของพืช ภาพเอกซเรย์ ได้เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้เห็นการเปรียบเทียบกระดูกมนุษย์ส่วนต่างๆ เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ เช่น ที่มาของคำว่า “ม้าดีดกะโหลก” การนำกระดูกมาใช้ทำเครื่องดนตรีตลอดจนการนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตของมนุษย์

+ นิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง (Art Science in Sound exhibition)

          นิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง (Art Science in Sound exhibition) สอดคล้องกับปีสากลแห่งเสียง พ.ศ. 2563-2564 ถ่ายทอดเรื่องราวของเสียงในมิติของความเป็นวิทยาศาสตร์และเสียงในความเป็นศิลปะ ผ่านชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ และบรรยากาศในนิทรรศการที่แวดล้อมไปด้วยเสียง อารมณ์ และความรู้สึก นิทรรศการมีเนื้อหาแบบสหวิทยาการที่ผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเสียง) การประยุกต์ใช้เสียงทางการแพทย์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และการนำเสนอเสียงในรูปแบบของศิลปะผ่านทางการแสดงทัศนียภาพทางเสียง รวมถึงการใช้เสียงเพื่อการบำบัดในแง่ของการรักษา โดยเน้นกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานผ่านชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ และบรรยากาศของเสียงที่สัมผัสได้เพื่อการบำบัดทางด้านจิตใจ

          นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ขวัญใจเด็กๆ ที่อยู่คู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ มาอย่างยาวนาน คือ Science Lab ห้องกิจกรรมการเรียนรู้และทดลองวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ก็จัดให้ทั้งแบบห้องทดลองจริงและรูปแบบออนไลน์ ถ้าใครไปที่งานก็อย่าพลาด อาจจะรอคิวยาวหน่อย แต่บอกเลยว่าคุ้ม เพราะการทดลองแต่ละอันก็เด็ดๆ และมีหลายแนวให้เลือกตามความถนัด

          อย่างเด็กสายเขียวก็ห้ามพลาด “กระถางมหัศจรรย์” ประดิษฐ์กระถางที่ช่วยลดความกังวลเมื่อไม่มีคนช่วยรดน้ำ, สายโปรแกรมเมอร์ก็ต้อง “Coding รถซิ่ง…วิ่งสู้ฟัด” เรียนรู้การเขียนโปรแกรมแบบง่าย และยังได้ประลองความเร็วกันด้วย, สายเวทย์ก็เชิญที่ “มายากลแห่งวิทยาศาสตร์” ค้นหาความลับวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังมนต์มายา, สายมนุษย์ไฟฟ้าพบกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงได้ที่ห้องทดลอง “ไฟฟ้าน่ารู้กับ กกพ.”,

          สายธรรมชาติพลาดไม่ได้กับการเรียนรู้เรื่องพืชและการทดสอบคุณค่าทางอาหารในแล็บ “พืชให้อาหาร” และสุดท้ายสายอาร์ต “สร้างสีสันด้วยพรรณไม้” สร้างสรรค์งานศิลปะด้วยสีธรรมชาติจากพืช

          ส่วนกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ออนไลน์นั้นก็มีให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก 6 กิจกรรมเช่นกัน ได้แก่ เคมีฟองฟู่ สนุกกับการทดลองและไขความลับของผงฟู, ศึกษาดูใจ เรียนรู้โครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ, สอนศิลป์สนุกวิทย์ เทคนิคระบายสีน้ำให้ปัง, ภารกิจพาเจ้าตูบและผองเพื่อนกลับบ้าน เรียนรู้ทักษะ coding เบื้องต้น ฝึกฝนการจัดลำดับความคิด, หลอดแก้วล่องหน ร่วมกันค้นหาความลับสีที่หายไปในหลอดทดลอง และสร้างสีสันด้วยพรรณไม้ สรรค์สร้างงานศิลป์ด้วยสีจากพรรณไม้ เด็กๆ ที่สนใจและไม่อยากพลาดกิจกรรมเหล่านี้ เข้าไปจองคิวกันได้ที่ https://registerthailandnstfair.com/Login.aspx

          ในส่วนพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้เตรียมหลากหลายกิจกรรมให้ร่วมสนุกภายในงาน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมพับหมวก nSPHERE แรงดันบวกซึ่งนักวิจัย สวทช. คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19, กิจกรรมปลูกผักสลัด by Magik Growth ถุงปลูกผักรักษ์โลก, กิจกรรมประกอบกล่องดนตรีกันน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี นอกจากได้ร่วมกิจกรรมแล้วยังสามารถนำกลับบ้านได้อีกด้วย

          และสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาเข้าชมงานที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สามารถเข้าชมงานในรูปแบบออนไลน์ที่ถอดเอานิทรรศการจริงมาแสดงบนเว็บไซต์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงกับ 9 Highlight Virtual Exhibition ที่ประหนึ่งเดินชมนิทรรศการอยู่ในงาน สนุกไปกับเกมและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบวิถีนิวนอร์มัล ได้ที่เว็บไซต์ https://thailandnstfair.com/360virtualexhibition/

          แม้ปีนี้เรายังอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่เราก็ยังสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เหมือนปกติ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับความรู้และสนุกไปกับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 ในรูปแบบ hybrid event ส่วนปีหน้าการจัดงานจะมาในรูปแบบไหน จัดอย่างไร มาเฝ้ารอไปด้วยกัน แล้วพบกันใหม่ในปีหน้า

About Author