ม.มหิดล พร้อมผลักดัน “ห้องแล็บอนุภาคนาโน” ปฏิวัติสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่

          เพื่อตอบรับการขยายประโยชน์จากการใช้นาโนเทคโนโลยีให้เกิดผลอย่างกว้างขวางสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมในอนาคต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการนาโนเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีชีววัสดุ” หรือ “ห้องแล็บอนุภาคนาโน MUSC” ขึ้น และได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นับตั้งแต่ได้มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง จนสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้


รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ
หัวหน้าห้องปฏิบัติการนาโนเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีชีววัสดุ
และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนาโนเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยีชีววัสดุ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของการได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยมีสมาชิกของห้องปฏิบัติการร่วมเป็นแรงกำลังสำคัญ

          และยังได้เป็นผู้นำรายวิชานาโนเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมชีววัสดุ มาบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาโท และเอก ของหลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก “ห้องแล็บอนุภาคนาโน MUSC” ดังกล่าวอีกด้วย

          จากความสำเร็จจากโครงการวิจัย เรื่อง “การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กระจายตัวในกระแสเลือดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ระยะแพร่กระจายด้วยอนุภาคนาโนของทองและอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก” ที่สามารถคว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2561 จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้ทำให้ต่อมามีการขยายศักยภาพของ “ห้องแล็บอนุภาคนาโน MUSC” สู่การวิจัยที่หลากหลาย

          โดยสามารถส่งต่อเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งได้มีภาคอุตสาหกรรมสีนำอนุภาคนาโนจากห้องปฏิบัติการไปใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์สีและวางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย

          รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ มองว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการทำงานวิจัย ซึ่งการเข้ารับการรับรองมาตรฐานมอก. 2677-2558 จาก วช. ส่วนหนึ่งเกิดจากความตระหนักถึงความปลอดภัยในสุขภาพร่างกายของผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับสารเคมีที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ จากที่ได้มีการ scale up หรือขยายกำลังการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคประชาชนที่ควรได้รับความมั่นใจ จากการส่งต่อเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้นนั้นด้วย

          เคล็ดลับของการประยุกต์นำเอาอนุภาคนาโนเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ ได้เปิดเผยว่า อยู่ที่การปรับแต่งโครงสร้างทางเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนพื้นผิวของอนุภาคนาโนเทคโนโลยี ให้มีความจำเพาะต่อการเกาะติดกับวัตถุเป้าหมายได้ตามโจทย์วิจัยที่แตกต่าง

          ก้าวต่อไป ทีมวิจัยอนุภาคนาโน MUSC มุ่งขยายองค์ความรู้ด้านอนุภาคนาโนเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อมอบความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค จากการใช้องค์ความรู้ด้านอนุภาคนาโนเทคโนโลยีเพื่อจำกัดการใช้สารเคมี “โซเดียมไตรโพลีฟอสเฟต” (STPP – Sodium Tripolyphosphate) ที่เพิ่มความกรุบกรอบและรักษาสภาพให้กับกุ้งแช่เยือกแข็ง ซึ่งนอกจากผู้บริโภคปลอดภัย ยังจะสามารถช่วยลดต้นทุนจากการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเพื่อช่วยในการควบคุมคุณภาพสินค้ากุ้งแช่เยือกแข็งได้ต่อไปอีกด้วย

          รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ เชื่อว่านักวิจัยด้านอนุภาคนาโนเทคโนโลยีมีองค์ความรู้และทักษะพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ idea และการจะจับโจทย์อย่างไรให้แตกต่างมากกว่า

          “ห้องแล็บอนุภาคนาโน MUSC” พร้อมปฏิวัติสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เคียงข้างประชาชนและประเทศชาติสู่ก้าวที่มั่นคงและปลอดภัย ด้วยการใช้อนุภาคนาโนเทคโนโลยีด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Cr: ภาพจาก MUSC

About Author