Headlines

สำรวจ 9 นวัตกรรมไฮไลต์ ในงาน NAC2023

โดย กองบรรณาธิการ


          กลับมาอีกครั้งสำหรับการประชุมวิชาการประจำปี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบบนพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development)

          NAC2023 คือเวทีนำเสนอองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีความสำคัญตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การสร้างโอกาสการต่อยอดธุรกิจ และการผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ครอบคลุมในทุกมิติของประเทศ ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจะมีการจัดแสดงทั้งในรูปแบบนิทรรศการและหัวข้อสัมมนา ซึ่งสาระวิทย์ได้รวบรวมตัวอย่าง 9 เทคโนโลยีที่ไม่ควรพลาดในงาน NAC2023 มาเป็นตัวอย่างก่อนไปร่วมชมงานกัน

  1. iPlant Multipurpose Spray สเปรย์เติมความ “สด” ให้พืชเมืองหนาว

          ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมไม้เมืองหนาวในประเทศไทยคือสภาพอากาศที่ร้อนจัด เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือความชื้นลดลง พืชจะมีความเครียด ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พัฒนานวัตกรรม iPlant Multipurpose Spray สเปรย์ทําความเย็นอัดแก๊สแรงดันสูง ใช้งานง่ายเพียงฉีดพ่นลงบนใบหรือดอกของต้นไม้วันละ 1 ครั้ง ช่วยลดอุณหภูมิภายในต้นพืช ลดการคายน้ำจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้พืชทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสียหายของผลผลิต

          ที่สำคัญสเปรย์ทําความเย็นยังผลิตจากสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีองค์ประกอบของธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ที่ช่วยบำรุงต้นไม้ในการเจริญเติบโต

  1. MycoSMART ชุดตรวจวินิจฉัยสารพิษจากราแบบแถบทดสอบ

          ปัญหาการปนเปื้อน “สารพิษจากรา (mycotoxin)” ในอาหารหรือวัตถุดิบทางการเกษตร ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น ชัก อาเจียน หมดสติ เบื่ออาหาร หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง (หากได้รับสารพิษสะสมเป็นเวลานาน) ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ด้วย โดยสัตว์ฟาร์มที่ได้รับสารพิษจากราจะมีอัตราการเติบโตและระบบภูมิคุ้มกันลดลง อีกทั้งระบบสืบพันธุ์และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายอาจทํางานผิดปกติ นําไปสู่ผลผลิตที่ลดลงและการขาดทุนของผู้ประกอบการ

          ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนา MycoSMART ชุดตรวจวินิจฉัยสารพิษจากราแบบแถบทดสอบที่พัฒนาจากเทคนิคไมโครอะเรย์ จุดเด่นคือมีลักษณะเป็น Test KiT ใช้งานง่าย สะดวกต่อการพกพาไปใช้ในสถานที่จริง สามารถตรวจวัดสารพิษจากราได้ 5 ชนิดพร้อมกัน ได้แก่ Aflatoxin B1 (AFB1), Deoxynivalenol (DON), Fumonisin B1 (FUMB1), T-2 Toxin (T-2) และ Zearalenone (ZON) อีกทั้งยังทราบผลการตรวจวัดรวดเร็ว และให้ผลการตรวจวัดเป็นเชิงปริมาณ ช่วยคัดกรองการปนเปื้อนสารพิษจากราในอาหารหรือวัตถุดิบอาหารได้ตั้งแต่แปลงเพาะปลูกจนถึงการแปรรูป สามารถป้องกันและลดความเสียหายจากการบริโภคสารพิษจากราของคนและปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. เทคโนโลยีผลิต Functional Ingredients จากจุลินทรีย์โพรไบโอติก

          ประเทศไทยนําเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากต่างประเทศจํานวนมาก โดยเฉพาะ “กลุ่มผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก” ที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประเทศไทยแม้ว่ามีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ รวมถึงมีการศึกษาวิจัยและคัดแยกสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกอย่างกว้างขวาง แต่ยังขาดเทคโนโลยีการผลิตเซลล์โพรไบโอติกในระดับอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ไบโอเทคพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเซลล์จุลินทรีย์โพรไบโอติกในระดับกึ่งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้รับมาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP อีกทั้งกระบวนการผลิตยังมีคุณภาพและให้ผลผลิตสูง ที่สำคัญยังนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โพสต์ไบโอติกได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีการผลิตเซลล์โพรไบโอติกและโพสต์ไบโอติกไปใช้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสําอางเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว

  1. เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บ

          เอ็มเทคพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บ ประกอบด้วย Rachel Motion-Assist Bodysuit ช่วยการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บผู้สูงอายุ เนื่องจากแม้จะมีผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มพฤฒพลัง (Active Aging) มากขึ้น แต่ก็ล้วนเริ่มมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย มีโรคกระดูกและข้อ และความเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ไปตามอายุขัย นำมาซึ่งปัญหาการทรงตัวและความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวและความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม นวัตกรรม Rachel (เรเชล) Motion-Assist Bodysuit คือชุดสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยให้เคลื่อนไหวในการทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างอิสระและช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บด้วยกล้ามเนื้อจำลอง ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเสริมแรงให้กล้ามเนื้อที่ใช้มีการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งชุดยังมีจุดเด่นคือสวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน น้ำหนักเบา ระบายเหงื่อได้ดี ทำให้มีความคล่องตัวและสะดวกต่อการใช้งาน

          นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี “Ross” (รอส) Motion-Assist Exosuit รุ่น Back Support อุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ ได้แก่ พยาบาล เวรเปล หรือบุคคลทั่วไปที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งต้องเผชิญอาการปวดหลังส่วนล่างจากใช้กล้ามเนื้อหลัง ได้แก่ การยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การพลิกตัวผู้ป่วย การประคองผู้ป่วย และการก้มยกของ โดย Ross เป็นชุดอุปกรณ์ที่สวมและสะพายเข้ากับร่างกายของผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ มีน้ำหนักเบา สวมใส่หรือถอดได้สะดวกและรวดเร็ว ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลัง

 

  1. “Gunther Bath” Ambient Fall Detector นวัตกรรมตรวจจับและแจ้งเตือนการพลัดตกหกล้ม

         ปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือการพลัดตกหกล้ม จนเป็นเหตุให้เกิดการเสื่อมถอยของสภาพร่างกายอย่างเฉียบพลัน เช่น กลายเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เอ็มเทคพัฒนา Gunther Bath (กันเท่อร์ บาธ) Ambient Fall Detector ระบบตรวจจับการพลัดตกหกล้ม ด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งในสิ่งแวดล้อม เช่น ผนังห้องต่าง ๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ ซึ่งผู้ใช้งานไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม ระบบจะใช้โครงข่ายประสาทเทียม (artificial neural networks) ทํานายเหตุการณ์พลัดตกหกล้ม โดยใช้เทคโนโลยีไร้สายรับส่งสัญญาณการเคลื่อนที่ของผู้ใช้หรือผู้สูงอายุ แล้วแจ้งเตือนหรือส่งสัญญาณไปยังผู้ดูแลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์พลัดตกหกล้มทันที นอกจากนี้เทคโนโลยีติดตั้งง่าย และไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว เพราะไม่มีการถ่ายภาพ

 

  1. การสังเคราะห์อนุภาคนาโน เพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดพืชตระกูลกัญชง-กัญชา

         Cannabidiol (CBD) คือสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา (Cannabis sativa L.) ที่กําลังได้รับความสนใจ ปัจจุบันนิยมนําไปใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยทางคลินิกในหลายประเทศ โดยในทางการแพทย์จะนําไปใช้ทั้งในรูปแบบสารสกัดเดี่ยวและสารสกัดผสมของ CBD หากแต่ว่าการใช้งานยังมีข้อจํากัด เช่น สารสกัด CBD ละลายนํ้าได้น้อย ส่งผลให้การดูดซับสารสกัดไม่สมบูรณ์ อีกทั้ง CBD ยังเสื่อมสภาพได้จากอุณหภูมิ แสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง และปฏิกิริยาออกซิเดชันเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ นาโนเทคพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการนําส่งสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา ซึ่งช่วยลดข้อกําจัดของตัวสารสกัด และเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา เช่น กระจายตัวในน้ำได้ดีขึ้น ลดความเป็นพิษจากสารสกัด เหมาะสำหรับนําไปประยุกต์และพัฒนาเชิงพาณิชย์

  1. Smart Microgrid ต้นแบบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ

          ปัจจุบันประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต นําส่ง และจําหน่ายพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เตรียมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) พัฒนา Smart Microgrid ต้นแบบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็กและแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า(นําร่องพลังงานชุมชน) โดยเน้นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าในโครงข่ายฯ แบบเชื่อมต่อโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พร้อมทังพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Energy Trading Platform: ETP) และแพลตฟอร์มให้บริการด้านพลังงาน (Energy Service Platform: ESP) ที่ซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง consumer กับ prosumer ภายในโครงข่ายฯ (ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าเข้าโครงข่ายของ กฟภ.) สู่การพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเสริมสร้างรายได้จากการซื้อขายไฟฟ้าภายในชุมชน

  1. Sontana (AI ChatBot)

         เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กำลังปฏิวัติการสื่อสาร เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของมนุษย์ครั้งใหญ่ ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI มากขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญคือการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวทาร์”

         เนคเทคพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวทาร์ (Conversational Avatar AI): Sontana ให้บริการข้อมูล ตอบคำถาม ผ่านการสนทนาโต้ตอบแทนการพิมพ์ โดยเชื่อมต่อกับพาที (Partii) ระบบบริการถอดความเสียงภาษาไทย, อับดุล (Abdul) ระบบบริการโต้ตอบอัตโนมัติ และวาจา (VAJA) รวมถึงระบบบริการสังเคราะห์ภาพและเสียงภาษาไทยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มสามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความอัตโนมัติ เข้าใจคําถาม พร้อมค้นหาคําตอบที่ตรงกับความต้องการตามองค์ความรู้ที่สอนระบบ สังเคราะห์เสียงพูดจากข้อความภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังพูดโต้ตอบแบบทันเวลาด้วยเสียงสังเคราะห์ พร้อมแสดงแอนิเมชัน (Animation) ท่าทางประกอบขณะพูดโต้ตอบ

 

  1. ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากมะพร้าวและลิ้นจี่

         จากปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำและลิ้นจี่พันธุ์ค่อมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามที่ไม่มีผลผลิตมากว่า 10 ปี ทำให้เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ขาดทุนและขาดรายได้อย่างมาก สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ช่วยส่งเสริม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก” ตําบลบางยี่รงค์ อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพิ่มมูลค่าแปรรูปทรัพยากรท้องถิ่นสู่ “ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ” โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีการสกัดน้ำสีเข้มข้นเตรียมผสมสีธรรมชาติกับแป้งพิมพ์ และการพิมพ์สกรีนสีธรรมชาติ ตั้งแต่กระบวนการเตรียมเส้นใยผ้าผืน การทําความสะอาดผ้าด้วยเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) เทคนิคและกระบวนการสกัดสี การย้อมสีจากเปลือกมะพร้าว ใบลิ้นจี่ และพืชในท้องถิ่น การออกแบบลายมัดย้อม การพิมพ์สกรีนสีธรรมชาติ การแปรรูปผลิตภัณฑ์มัดย้อม ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนาโน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติวางจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาด สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้แก่ชุมชน

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. ที่เป็นดั่ง ‘ขุมพลังหลักด้านการวิจัยของประเทศ’ ที่จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบ รายได้ และความยั่งยืนให้แก่ประเทศ ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภายในงานยังมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจมากถึง 40 หัวข้อ นิทรรศการกว่า 70 ผลงาน รวมทั้งยังมีกิจกรรม Open House การเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีจากความเชี่ยวชาญของห้องปฏิบัติการชั้นนำของประเทศ ที่พลาดไม่ได้คือ NAC Market 2023 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชน จากเครือข่าย สวทช. รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ในราคาพิเศษสำหรับผู้มาร่วมงานนี้เท่านั้น (กิจกรรม Open House และ NAC Market 2023 จัดระหว่าง 29-31 มีนาคม)

          สำหรับผู้ที่สนใจร่วมฟังสัมมนาและเข้าชมงานติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.nstda.or.th/nac  หรือโทรศัพท์ 0 2564 8000

About Author