เปิด ป.โท วิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยริเริ่มโครงการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ

ด้วยยุทธศาสตร์พลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล 5 กลุ่มสาขา ได้แก่ ชีววัตถุและวัคซีน (Biologic and Vaccine) การค้นหาและพัฒนายา (Drug Discovery) เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics) และการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Based Medical Diagnosis)

ปัจจุบันได้ขยายผลสู่หลักสูตรปริญญาโทภาคพิเศษ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ ในลักษณะ Higher Education Sandbox โดยมีเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนากำลังคนรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้บุกเบิกยุทธศาสตร์พลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) และเบื้องหลังของการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทครั้งใหญ่

ด้วยการระดมทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้เรียนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมได้นำไปต่อยอดและสร้างนวัตกรรมได้ตามกลุ่มสาขาที่ตนเองสนใจ ภายใต้เครือข่ายที่สร้างและพัฒนาขึ้นด้วยความเข้มแข็ง ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ

ไม่ว่าจะเป็นด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเช่น Johns Hopkins University สหรัฐอเมริกา ผ่านคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Based Medical Diagnosis) ผ่านหน่วยวิจัย MIRU – Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of Bremen สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในฐานะการเป็นสถาบันร่วมผลิตเพื่อช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติหน้างานผ่านหลักการ Co-Created Education

โดยได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และส่งเสริมนวัตกรรมแบบเฉพาะเจาะจงตามสาขาวิชาหลัก (Major specialties) โดยมีเวลาศึกษาตลอดหลักสูตรประมาณ 1 ปี ตลอดจนได้เปิดกว้างสู่ “Fast-Track program” ที่สามารถเรียนควบคู่สองปริญญา (Double Degree) ในระดับตรี-โท หรือโท-เอก รวมทั้งการเรียนแบบสะสมรายวิชาเพื่อสะสมหน่วยกิตนำไปเทียบโอนผ่านโครงการเรียนรู้ตลอดชีพ MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) และการบูรณาการการเรียนรู้เชิง Non-degree กับ Degree program เข้าด้วยกัน

มาร่วมสร้างอนาคตให้กับประเทศชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการเพิ่มทักษะเชิงลึก เพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง ควบคู่กับการมุมมองเชิงประกอบการ จะช่วยขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีคุณภาพ และใช้งานได้จริง พร้อมสร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของชาติ เพื่อสร้างการยอมรับในเวทีโลก และเป็นแนวทางเพื่อนักวิจัยและนวัตกรรุ่นหลังอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author