Headlines

การรักษาอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

โดย
Jonathon Dixon รองประธานและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีนของ Cloudflare


อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพหรือ Healthcare กำลังเติบโตกลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยมูลค่าที่คาดว่าจะสูงถึง 115,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027 สำหรับประเทศไทย ธุรกิจการดูแลสุขภาพเป็นตลาดขนาดใหญ่และกำลังเฟื่องฟู โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงที่สุดในโลกสำหรับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงและมีราคาเหมาะสม

ระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพเป็นภาคส่วนสำคัญที่กำลังพัฒนาและต้องการนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ หลากหลายกลุ่ม เช่น แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค และผู้บริหาร บุคลากรเหล่านี้เป็นผู้จัดทำ จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมหาศาลทุกวัน เช่น เวชระเบียน แผนการรักษา ผลตรวจ และข้อมูลการเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าข้อมูลที่รับส่งได้อย่างราบรื่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวด้วยอย่างมาก


Jonathon Dixon รองประธานและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีนของ Cloudflare

สำรวจภูมิทัศน์ความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเทศไทยและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน

การกำหนดมาตรการที่เข้มงวดไว้คอยปกป้องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญในขณะที่ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์โดยรวมมีความท้าทายมากขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 Cloudflare ทำการศึกษาครั้งใหม่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมหลายประเภท รวมถึงการดูแลสุขภาพ และพบว่า 6 ใน 10 (57%) ของผู้ตอบแบบสำรวจจากองค์กรในประเทศไทยประสบปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์มากกว่า 10 ครั้งในปีที่แล้ว และยังทำให้องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยเสียเงินจำนวนมาก โดยผู้ตอบแบบสำรวจสองในสาม (65%) ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ภายในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ อาชญากรทางไซเบอร์กำลังมุ่งเป้าไปที่องค์กรด้านการดูแลสุขภาพ เนื่องจากผลตอบแทนก้อนโตที่จะได้จากข้อมูลผู้ป่วยมาเพื่อการโจรกรรมเอกลักษณ์บุคคล การฉ้อโกงทางการเงิน หรือการโจมตีแรนซัมแวร์

ปัญหาอีกประการหนึ่งมาจากระบบการดูแลสุขภาพที่ซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายราย เช่น ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ บริษัทประกัน บริษัทยา และซัพพลายเออร์บุคคลที่สาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละรายจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเท่ากับการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามจากคนในและการละเมิดข้อมูลโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากข้อผิดพลาดของมนุษย์หรือการอนุญาตที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHR), การแพทย์ทางไกล และระบบดิจิทัลอื่น ๆ จะเอื้อต่อการเข้าถึง แบ่งปัน และจัดเก็บข้อมูล แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์และการละเมิดข้อมูลอีกด้วย

 

อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เพิ่มและซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากมีนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมออกมาอย่างต่อเนื่องซึ่งได้เพิ่มความยุ่งยากเข้าไปอีก และการมี Digital Touchpoint ที่มากขึ้นยิ่งทำให้ผู้ไม่หวังดีมีช่องทางโจมตีเพิ่มขึ้นด้วย แต่ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนน้อยกว่าครึ่ง (48%) เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวรีตี้เป็นอย่างดี

เมื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์เสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์ ผู้ป่วยก็ปลอดภัยน้อยลง เห็นได้ชัดว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าที่เคยสำหรับองค์กรด้านการดูแลสุขภาพคือการนำแนวทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แบบองค์รวมและเชิงรุกมาใช้ปกป้องข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน เพื่อให้แน่ใจว่าการดูแลสุขภาพจะพร้อมให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักและปกป้องผู้ป่วยจากกิจกรรมที่เป็นอันตรายของเหล่าอาชญากรไซเบอร์

รักษาความปลอดภัยให้ระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพ

องค์กรไทยแห่งหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมาตรการป้องกันขณะเข้าถึงข้อมูลควบคู่กับการรักษามาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยอย่างเข้มงวดคือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นผู้นำด้านการแพทย์ของประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี และให้บริการผู้ป่วยปีละกว่าล้านรายจาก 190 ประเทศทั่วโลก

ในฐานะผู้ให้บริการทางการแพทย์ชั้นนำที่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความลับของผู้ป่วยในระหว่างการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมด โรงพยาบาลได้ร่วมมือกับ Cloudflare ในฐานะพันธมิตรด้านความปลอดภัย จัดระบบการให้บริการ CDN, Web Application Firewall (WAF) และการจัดการบอทให้พร้อมใช้งานและสอดคล้องกับข้อกำหนด Health Insurance Portability and Accountability Act (HIPAA) และ HITECH ของสหรัฐอเมริกา เมื่อกล่าวถึงการบรรเทาภัยคุกคามในเชิงปริมาณ เช่น บอทและการโจมตี DDoS สิ่งที่เห็นคือ Cloudflare WAF, การจัดการบอท และการจำกัดอัตราจะช่วยหยุดภัยคุกคามที่มุ่งเจาะเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและเว็บแอปพลิเคชันในแต่ละเดือนได้เฉลี่ย 37,000 รายการ เห็นได้ชัดว่าขอบเขตของเครือข่ายที่ปลอดภัยมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้โรงพยาบาลหันมามุ่งเน้นการให้บริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและรักษาความไว้วางใจของผู้ป่วยไว้ต่อไป

โซลูชันด้านไซเบอร์ซีเคียวรีตี้ที่สำคัญที่องค์กรด้านการดูแลสุขภาพควรพิจารณานำไปปรับใช้:

กรอบการทำงาน Zero Trust: แนวทาง Zero Trust จะตรวจสอบผู้ใช้และอุปกรณ์ทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ที่ใด พร้อมใช้การควบคุมการเข้าถึงที่เข้มงวดเพื่อลดปริมาณการลอบเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความปลอดภัย

การรักษาความปลอดภัยเครือข่ายและอุปกรณ์ปลายทาง: การใช้มาตรการขั้นสูง เช่น Firewall ระบบตรวจจับการบุกรุก และสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่ปลอดภัย เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่เข้มแข็งของระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โซลูชันการป้องกันอุปกรณ์ปลายทาง เช่น ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและการเข้ารหัส จะช่วยป้องกันมัลแวร์ การละเมิดข้อมูล และการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต

การตรวจสอบความปลอดภัยและการทดสอบการเจาะเข้าระบบเป็นประจำ: การตรวจสอบและการทดสอบบ่อยครั้งจะระบุช่องโหว่ ช่วยให้สามารถเสริมความแข็งแกร่งเชิงรุกให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการละเมิดข้อมูล

การฝึกอบรมและสร้างการตระหนักรู้แก่พนักงาน: การให้ความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านไซเบอร์ซีเคียวรีตี้แก่พนักงาน เช่น การสังเกตอีเมลฟิชชิ่งและการจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอย่างปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงและสร้างวัฒนธรรมที่ตระหนักถึงความมั่นคงทางไซเบอร์

มาตรการเข้ารหัสข้อมูลและความเป็นส่วนตัว: การเข้ารหัสข้อมูลขณะจัดเก็บและข้อมูลขณะส่งต่อจะช่วยปกป้องข้อมูลของผู้ป่วย มาตรการความเป็นส่วนตัวที่รัดกุม รวมถึงการควบคุมการเข้าถึงและบันทึกการตรวจสอบ จะช่วยรับประกันว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและยังรักษาความไว้วางใจของผู้ป่วย

ภูมิทัศน์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่กำลังพัฒนาและการเพิ่มความซับซ้อนของระบบดูแลสุขภาพทำให้เกิดความท้าทายและความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากองค์กรด้านการดูแลสุขภาพในประเทศไทยนำโซลูชันเหล่านี้ไปใช้ ก็จะสามารถปรับปรุงมาตรการด้านไซเบอร์ซีเคียวรีตี้ของตน และลดการโจมตีทางไซเบอร์ได้

ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดทั่วทั้งอุตสาหกรรม เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวรีตี้ รักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย พร้อมรับประกันถึงความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ในเชิงรุกและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของไทยในภูมิภาคนี้สามารถมอบความมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย ทั้งในด้านการเข้าถึง แบ่งปัน และจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ละเอียดอ่อน พร้อมกับการให้บริการดูแลที่มีคุณภาพสูงและการรักษาความไว้วางใจที่มีต่อระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพไว้ได้

About Author