ม.มหิดล ส่งเสริม “เกษตรไทยหัวใจอินทรีย์” ออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบปลูกสมุนไพรและทำการเกษตรปลอดภัย

          แม้โลกจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ แต่แหล่งอาหารส่วนใหญ่ ตลอดจนที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของมนุษย์อยู่บนบก องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs 15) “Life On Land” ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตบนบก สู่การทำให้เกิดความสมดุล และยั่งยืน

          แม้จังหวัดกาญจนบุรี หรือ “เมืองกาญจน์” จะอยู่ในพื้นที่เขาหินปูน ที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง แต่อาจทำการเกษตรปลูกพืชไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร หากขาดการออกแบบการทำการเกษตรที่เหมาะสม

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ “คนดีศรีกาญจน์ศึกษา ประจำปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี”

          จากการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี – เอก ก่อนมาเป็นอาจารย์สอนทางด้านเคมีอินทรีย์ เคมีวิเคราะห์ และเคมีอาหาร ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มาทำประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนตำบลวังกระแจะ และตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จนได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านต้นแบบ “หมู่บ้านสมุนไพรและเกษตรปลอดภัยไทรโยค”

          ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ได้อุทิศตัวลงพื้นที่ “ใช้ชุมชนเป็นห้องแล็บ” เพื่อศึกษาโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของชุมชนกลับมาสร้างสรรค์สู่งานวิจัยคุณภาพ โดยได้มีบทบาทหลักในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมาย

          หนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การทำให้เกษตรกรไร่มันสำปะหลังสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่าสองเท่าจากการแนะนำวิธีการปรับปรุงหน้าดิน โดยใช้ “แม่ปุ๋ย” ซึ่งเป็นแหล่งรวมธาตุอาหารที่จำเป็นต่อหน้าดิน มาผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม และปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในทุกรอบการปลูก ด้วยการเอาใจใส่ติดตามจนบังเกิดผล

          นอกจากนี้ ยังได้นำเอาศาสตร์พระราชาเรื่อง การใช้ประโยชน์จากการปลูกหญ้าแฝก สู่การสร้าง “กระถางมีชีวิต” แก่ชุมชน ที่นอกจากช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้กับหน้าดินแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต จากการใช้น้ำได้น้อยลง ลดการกำจัดวัชพืชได้ และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องปลูกหญ้าแฝกบ่อย ซึ่งช่วยประหยัดแรงงานได้อีกด้วย

          รวมทั้งได้ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี โดยใช้ข้อได้เปรียบของดินในพื้นที่เมืองกาญจน์ ซึ่งเป็นเขาหินปูนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุแคลเซียม ทำให้สามารถปลูกพืชบางชนิดได้ผลผลิตที่โดดเด่นไม่เหมือนเช่นพื้นที่ใดๆ ในประเทศไทย

          ไม้ผลเมืองกาญจน์ที่ขึ้นชื่อ อาทิ ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมังคุด ซึ่งเปรียบเหมือน “ราชินีแห่งผลไม้” ของไทย โดยพบว่าด้วยคุณสมบัติของดินอันอุดมไปด้วยแคลเซียมของพื้นที่เมืองกาญจน์ ทำให้ได้มังคุดที่มีรสชาติหวานอร่อย เนื้อสมบูรณ์ ไม่เป็นเนื้อแก้ว เป็นต้น

          และนอกจากชุมชนเมืองกาญจน์จะมีของดีจากพืชสมุนไพรต่างๆ แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ยังได้ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ถึงพืชผักท้องถิ่นที่มักไม่ขึ้นในพื้นที่เคมี แต่ให้ผลดีในเขตป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่อินทรีย์ ได้แก่ ผักปลัง ผักกูด และผักหวานป่า ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านอาหารปลอดภัยให้กับชุมชนได้ต่อไปอีกด้วย

          นอกจากงานบริหารในฐานะผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี แล้ว

          ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดกาญจนบุรี (Agritech and Innovation Center; AIC) โดยพร้อมให้คำปรึกษา อบรมบ่มเพาะเกษตรวิถีใหม่ (Smart Farmers) แก่เกษตรกรในชุมชน ตลอดจนผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ สู่การเป็น “เกษตรไทยหัวใจอินทรีย์” ที่ยั่งยืนต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ
นักวิชาการโสตทัศนศึกษา

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author