จำเป็นไหมที่อาจารย์ต้องเป็นนักวิจัย ?

โดย ป๋วย อุ่นใจ


เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้รับคำเชิญชวนให้ไปร่วมงานหลายงาน แต่มีอยู่สองงานหลัก ๆ ที่ผมนับวันรอ…เพราะอยากไปมากทั้งสองงาน ทว่าอนิจจา… ทั้งสองงานที่ผมสนใจนั้นกลับมาลงเอยจัดอยู่ในวันเดียวกันซะงั้น

งานแรกที่ผมอยากจะไปก็คืองาน TEDxChiangMai 2024 ที่มาในธีม What if หรือ “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” จัดที่เชียงใหม่ ตอนที่รู้ว่างานนี้จะกำลังจะเวียนมาถึง ผมตื่นเต้นมาก และพอพี่เบิ้ม มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิ่ง (Martin Venzky-Stalling) โต้โผใหญ่ของงานชวนว่าสนใจจะมาด้วยไหม ผมก็ยิ่งตื่นเต้นและตัดสินใจว่านี่คืองานที่ไม่อยากจะพลาด

สำหรับหลาย ๆ คน TEDx อาจจะเป็นขุมทรัพย์ทางสติปัญญาที่เอาไว้ให้คนที่มีแนวคิดเจ๋ง ๆ มาแชร์มุมมอง เปิดโลก น่าสนใจ แปลกใหม่ ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดู TED talk มากในยามว่าง TED คือแหล่งชอปปิงไอเดียใหม่ ๆ และมุมมองแบบแหวก ๆ ที่บางทีก็คาดไม่ถึง

ซึ่งจริง ๆ ผมก็ดูทอล์กส่วนใหญ่ผ่านทางคลิปที่อัดลงไว้ ทั้งในเว็บของ TED เอง หรือในช่อง YouTube ที่มีลงไว้นั่นแหละ ถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่าถ้าดูคลิปได้ ทำไมยังอยากเดินทางไกลไปร่วมงานถึงเชียงใหม่

สาเหตุเพราะว่า สำหรับผม งาน TEDx นั้นไม่ใช่แค่ทอล์กธรรมดา ๆ แต่เป็นสังคม…เป็นคอมมูนิตีของคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ คนที่รักการพัฒนา คนที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนเปลง และแม้ว่าทอล์กส่วนใหญ่จะหาดูได้ออนไลน์ แต่ถ้ามีโอกาสได้ไปร่วมงานจริงแบบตัวเป็น ๆ สักครั้ง จะรู้ว่าบรรยากาศในงานมันสนุกขนาดไหน การได้เสวนากับผู้คนที่มีไอเดียใหม่ ๆ มีแนวคิดเชิงบวก และมีใจที่อยากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้สังคมนั้น มันเป็นความสนุกที่หาอะไรมาเทียบได้ยากจริง ๆ

และยิ่งเป็น TEDxChiangMai ที่จัดโดยพี่เบิ้ม ผู้ซึ่งเป็นต้นฉบับของการจัดงาน TEDx ในประเทศไทยด้วยแล้ว พลาดทีนี่เสียดายแบบสุด ๆ

แต่ทว่าในวันเดียวกันนั้นผมตกปากรับคำน้อง ๆ อีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้ก่อนแล้วว่าจะไปงานของพวกเขา เลยจำต้องยอมเสียดายโอกาสที่จะได้เข้าฟังงาน TEDx ไป ได้แต่รอส่องคลิปดูกันต่อไปในอนาคต

เรื่องของเรื่องก็คือ โดยส่วนตัว ผมมีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องชีววิทยาสังเคราะห์ และแล้วในวันหนึ่งผมก็ได้อีเมลที่จุดประกายความสนใจของผม อีเมลนั้นมาจากน้อง ๆ นักศึกษาแพทย์ Siriraj Research Club แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนให้ผมไปเข้าร่วมเป็นกรรมการงานพิตชิง (pitching) ไอเดียต่อยอดงานวิจัยในธีม “ชีววิทยาสังเคราะห์ในทางการแพทย์ หรือ Synthetic Biology in Medicine

เห็นแค่ชื่องาน ผมตกปากรับคำในทันที… (แม้จะแอบเสียดายเล็ก ๆ ที่อดไปงาน TEDxChiangMai) แต่นี่คืองานที่สองที่ผมอยากไป และท้ายที่สุดก็ได้ไปเข้าร่วมจริง ๆ

งานแข่งขันนำเสนอไอเดียชีววิทยาสังเคราะห์ทางการแพทย์ “SI Medisynth Pitching Challenge: Synthesize the Future” เปิดให้นักเรียน นักศึกษาจากทุกคณะ ทุกสาขา หรือแม้แต่มัธยมศึกษาก็สมัครเข้ามาร่วมแข่งพิตชิงเพื่อชิงชัยกันได้ ไม่ได้จำกัดวงเอาไว้แค่สำหรับนักศึกษาแพทย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจงานวิจัยและโครงงานวิทยาศาสตร์ แม้จะมีกลุ่มนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง โดยกลุ่มที่ดูจะมีประสบการณ์มากที่สุดก็ยังอยู่กันแค่ปี 1 หรือปี 2

แต่ธีมของงานที่เป็น “ชีววิทยาสังเคราะห์ทางการแพทย์” ออกแนวดีปเทคจ๋า ๆ ซึ่งพอเห็นระดับของน้อง ๆ ที่เข้ามาร่วมแข่ง ผมก็ยิ่งอยากรู้มากว่าไอเดียของน้อง ๆ จะมาล้ำขนาดไหน เพราะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรม และชีววิทยาสังเคราะห์ที่เห็นมีสอนกันในระดับมัธยมศึกษานั้น มันอยู่แค่ในระดับผิวเผินเท่านั้น

และจากบรีฟของน้อง ๆ ผู้จัด …แนวคิดที่อยากได้จะเน้นการต่อยอดข้อมูลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จริง แนว R&D หรือถ้าคิดไปไกลได้ถึงเวชศาสตร์ปริวรรต (translational medicine) ที่ประยุกต์วิจัยจากห้องทดลองสู่การรักษาผู้ป่วยในคลินิก (from bench to bed side) จริง ๆ ได้ก็ยิ่งดี

น่าสนใจ สำหรับงานนี้ผมบอกเลยว่านับวันรอเข้าไปร่วมงาน

และพอวันงานมาถึง ผมก็ไปที่ศิริราช และก็ได้เรียนรู้ว่าไอเดียของงานนี้มาจากน้อง ๆ นักศึกษาแพทย์ที่มีไฟ สนใจงานวิจัย และอยากที่จะขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศงานวิจัยในศิริราช แต่ก็อยากจะเปิดกว้างออกมาสู่สังคมด้วย ซึ่งทำให้ผมยิ่งประทับใจมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

และได้ฟังไอเดียของน้อง ๆ แต่ละกลุ่มในวันนั้น ผมก็ยิ่งตื่นเต้น เพราะแต่ละกลุ่มก็จัดหนักจัดเต็มกันจริง ๆ ทั้งเนื้อหาและแนวคิดมาแบบไม่ธรรมดา ผมอึ้งและทึ่งกับไอเดียของน้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมงานพิตชิงในวันนั้นมาก ๆ เพราะแทบทุกไอเดียที่มานั้นตกผลึกมาเป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ และมีการหาข้อมูลงานวิจัยมาแบ็กอัปได้อย่างรัดกุมมาก ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาและนักศึกษาปี 1-2)

หลายไอเดียดีเลิศประเสริฐมาก ไม่แพ้ไอเดียที่มาจากนักวิจัยจริง ๆ ที่มีประสบการณ์มายาวนานในระดับโลก มีทั้งการออกแบบวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอแบบใหม่ ไปจนถึงชุดตรวจโรคแบบล้ำ ๆ ไปจนถึงกลยุทธ์ในการกำจัดยุง ไปจนถึงการออกแบบเอนไซม์แก้ไขจีโนม และมีที่ล้ำแบบสุด ๆ ก็การวิศวกรรมเซลล์แบคทีเรียมาต้านมะเร็งและโรคไม่ติดต่อ

ต้องบอกว่าทำการบ้านมาดีจริง ๆ แม้แต่สำหรับคนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวิจัยมาเนิ่นนานหลายสิบปีอย่างผมและคณะกรรมการก็ยังต้องยอมรับเลยว่าประทับใจ หลายไอเดียมีข้อมูลเบื้องลึกแน่นปึก มาแบบเป็นเปเปอร์งานวิจัยระดับโลกล้วน ๆ หลายไอเดียมีการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา เพนพอยต์ (pain point) และวางแผนกลยุทธ์มาเป็นอย่างดี

ในวันเสาร์นั้นแม้จะอดไป TEDxChiangMai แต่ก็เหมือนได้ไป TEDx ทางการแพทย์ ที่จัดมาเต็มทั้งเนื้อหาและไอเดีย

แน่นอนว่าหลายไอเดียยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่สำหรับน้อง ๆ ที่มาในวันนี้ บอกเลยว่าเกินเบอร์ เหนือความคาดหมายมาก และที่ชื่นชมที่สุดคือน้อง ๆ ส่วนใหญ่สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจนว่าเข้าใจจริงในสิ่งที่พูด ตอบคำถามได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ไม่ได้จำมาแบบนกแก้วนกขุนทอง แม้เปเปอร์บางฉบับที่พวกน้อง ๆ เอามาสนับสนุนไอเดียที่พิตช์นั้นไม่ใช่เปเปอร์อ่านง่าย บางเปเปอร์เป็นงานวิจัยขั้นสูงที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง ที่ต้องบอกว่าแม้แต่นักศึกษาปริญญาโทบางคนยังแทบกระอักถ้าต้องอ่านทำความเข้าใจ น้อง ๆ ก็ยังสามารถเอามาอ้างถึงและอธิบายได้อย่างถึงแก่น

งานนี้เป็นอะไรที่ทำให้หัวใจพองโต เพราะทำให้เราได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีแรงใจในการพัฒนา

หลังจากกลับมาจากงาน SI Medisynth Pitching Challenge คำถามหนึ่งก็เริ่มผุดขึ้นมาในหัวของผม “อะไรที่ทำให้น้อง ๆ เหล่านี้ทุ่มเทนั่งอ่านงานวิจัยที่บางทีแม้แต่นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกอ่านยังแทบพะอืดพะอม จนเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และสามารถคิดไอเดียต่อยอดได้อย่างสวยงามอลังการ

เงินรางวัลเพียงน้อยนิดคงไม่ใช่ พอร์ตโฟลิโออาจจะมีส่วน แต่ผมว่าส่วนสำคัญจริง ๆ น่าจะเป็น “แรงบันดาลใจ”

วิลเลียม อาร์เทอร์ วาร์ด (William Arthur Ward) เคยเขียนในบทความของเขาว่า “ครูธรรมดาบอกเล่า ครูที่ดีอธิบาย ครูที่เก่งสาธิต แต่ครูที่ยิ่งใหญ่สร้างแรงบันดาลใจ (The mediocre teacher tells. The good teacher explains. The superior teacher demonstrates. The great teacher inspires.)

บางทีแรงบันดาลใจจากครูอาจจะเป็นอะไรที่สำคัญ คำถามคือเราจะพัฒนาครูอย่างไรที่ไม่ใช่แค่สอนดี แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ผู้เรียนเรียนได้ดี…

บางคนถามว่าจำเป็นไหมที่ครูหรืออาจารย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากสอนแล้วควรจะทำวิจัยด้วย) ส่วนตัวผมคิดว่าจำเป็น เพราะการทำวิจัยจะเป็นการเปิดมุมมองในการสอน เนื้อหาวิชาเบื้องลึกและแนวคิดใหม่ ๆ แน่นอนอาจจะมีประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญระหว่างงานวิจัยกับการสอนที่อาจจะถ่วงดุลกันอย่างไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่การเรียนการสอนในระดับสูง ทั้งสองด้านอย่างไรก็ต้องมี

เพราะถ้าผู้สอนจะแค่สอนไปวัน ๆ ด้วยเนื้อหาแค่ตามตำรา ซึ่งถ้าไม่อัปเดต ก็แน่นิ่งไม่ต่างไปจากเนื้อหาที่ตายแล้ว ผู้เรียนเราก็คงไม่อาจเข้าใจอะไรที่ถ่องแท้ได้ อุปมาเหมือนเอาซากผีเสื้อสตัฟฟ์มาให้ดูแล้วให้อธิบายพฤติกรรมทั้งหมดของผีเสื้อว่าเป็นอย่างไรนั้นเป็นไปไม่ได้ และถ้าจะเอามาประยุกต์ต่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะท่องจำกายวิภาคของซากผีเสื้อที่ตายแล้วได้จนขึ้นใจ แต่ก็ไม่เข้าใจมากพอจะพลิกแพลงใด ๆ ได้ ก็ไม่มีประโยชน์

ศาสตร์ต่าง ๆ มันเหมือนมีชีวิต องค์ความรู้ทุกอย่างแปรเปลี่ยนและเติบโตอยู่ตลอดจากงานวิจัย จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่นอกจากจะให้องค์ความรู้ที่สดใหม่แล้ว ผู้สอนยังจะต้องสามารถถ่ายทอดชีวิตของวิทยาศาสตร์ ความสนุก ความน่าตื่นเต้น แนวคิด และการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจและรู้สึกได้ถึงพลวัตแห่งชีวิตของศาสตร์ต่าง ๆ

ครูที่ดีถึงควรต้องทำงานวิจัยด้วยเพื่อให้เข้าใจถึงชีพจรและพลวัตของศาสตร์ต่าง ๆ ที่ตัวเองสอน แน่นอน ทุกอย่างต้องทำอย่างสมดุล เพราะถ้าวิจัยอย่างเดียวจนไม่สนใจจะเตรียมสอนและไม่พยายามเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน อันนั้นก็คงไม่สมประโยชน์อยู่ดี

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการไปร่วมงาน SI Medisynth Pitching Challenge นั้นค่อนข้างชัดเจน การที่น้อง ๆ มัธยมศึกษาและปีต้น ๆ ของอุดมศึกษามีแรงบันดาลใจมากเสียจนสามารถทุ่มเทและทำความเข้าใจเนื้อหาจากเปเปอร์ระดับโลกมากมายจนเริ่มสามารถคิดต่อยอดงานวิจัยได้อย่างน่าอัศจรรย์นั้นบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดว่า “ศักยภาพของเยาวชนของเรานั้นมีล้นเหลือ”

การบ้านของผู้ใหญ่ในการสร้างอนาคตของชาติจึงอยู่ที่การสร้างระบบนิเวศเชิงบวกที่เต็มไปด้วยครูที่เข้าใจเนื้อหาวิชา พลวัตของศาสตร์ และธรรมชาติของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงขับให้ใฝ่ในการเรียนรู้ รวมถึงช่วยสนับสนุนให้เยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติได้บ่มเพาะศักยภาพของพวกเขาให้เติบโตและฉายแววรุ่งโรจน์ได้อย่างเต็มกำลัง

เพราะถ้าพวกเขาเข้าใจในศาสตร์และพลวัตของศาสตร์จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อโลก แม้จะมีเนื้อหาวิชาที่ยากแสนยากเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาก็จะก้าวข้ามผ่านกำแพงกั้นนั้นมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

หลังจากที่เห็นน้อง ๆ ในวันนั้น ผมบอกเลยว่าดีใจและมีหวังมาก ๆ กับอนาคตของชาติกลุ่มนี้…และก็แอบหวังอยากให้ผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาหันมาสนใจและช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนงานสร้างคนแบบนี้ให้มากขึ้น

เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ !!!

About Author