Headlines

สร้างความหวัง – เติมพลัง เพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจมีชีวิตยืนยาว ผ่านงานวิจัยคุณภาพมาตรฐานโลก

ในฐานะอาจารย์แพทย์ผู้ทุ่มเททำงานวิจัยจนสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การรักษา และดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ รองหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลศิริราช และอาจารย์แพทย์ประจำสาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยกย่อง และเชิดชูเกียรติให้เข้ารับรางวัล Mahidol University Top1% Researcher 2024

งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และความร่วมมือกับ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำให้ปัจจุบันมีข้อมูลของผู้ป่วยโรคหัวใจของประเทศไทยที่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจไทยจะได้มี “ทางเลือกใหม่”

จากการใช้ “ยาใหม่” ที่มีประสิทธิภาพดี และผลข้างเคียงน้อย ซึ่งน่าจะได้รับการพิจารณาระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติในลำดับต่อไป ยังจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานในการวินิจฉัย รักษา ดูแล และติดตามผู้ป่วยโรคหัวใจในระดับนโยบาย พร้อมสร้างความหวัง – เติมพลัง เพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปอีกด้วย

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ณ ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยในปัจจุบัน โรคที่พบบ่อย และเป็นประเด็นด้านคุณภาพในการรักษา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ และผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งพบมากในผู้สูงวัย ด้วยอัตราร้อยละ 1 ของประชากรทั่วโลก

ผลของงานวิจัยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยแบบเป็นองค์รวมผ่านทาง “คลินิกเฉพาะทาง” ได้แก่ คลินิกยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดของทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ และคลินิกผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ช่วยทำให้ได้ผลการรักษาที่ตรงจุด และพร้อมต่อยอดสู่การศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการวินิจฉัย รักษา ดูแล และติดตามผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการทำงานที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายจากสหสาขาวิชาต่อไปในอนาคตอีกด้วย

จากการวิจัยโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ เป็นการยืนยันว่ายาป้องกันลิ่มเลือดตัวใหม่ที่ใช้ในผู้ป่วยหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า และผลข้างเคียงน้อยกว่ายาที่ใช้ในอดีต ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากลิ่มเลือด ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์และทุพพลภาพ

ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว วิจัยโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ พบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวในประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับยารักษา ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง และอัตราการอยู่โรงพยาบาลสูง

ปัจจุบันมีการค้นพบยาใหม่ที่ปกติใช้รักษาโรคเบาหวาน แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว เป็นผลจากการทำวิจัยตามมาตรฐานของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้ยาใหม่โรคเบาหวาน ต้องมีผลการวิจัยและทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่ยืนยันว่ายามีความปลอดภัยเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐาน

ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่ายาใหม่กลุ่มนี้ทดลองสามารถใช้ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้แม้ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วก็ตาม จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ในด้านความคุ้มค่าของการใช้ยาใหม่กลุ่มนี้ พบว่าน่าจะมีส่วนในการผลักดันให้ยาใหม่กลุ่มนี้ได้รับการพิจารณาระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติในอนาคตอันใกล้

ด้วยความแน่วแน่ในพระปณิธานแห่ง “พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทย” สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และความภาคภูมิใจในฐานะ ”ปัญญาของแผ่นดิน“ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ พร้อมสร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจไทย และมวลมนุษยชาติด้วย “หัวใจของความเป็นมนุษย์” ของอาจารย์แพทย์นักวิจัยผู้อุทิศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author