Headlines

ม.มหิดล พร้อมร่วมขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ส่งเสริมประชาชนรอบรู้สุขภาวะ

          ในขณะที่โรคติดเชื้อส่วนมาก เมื่อหายแล้วอาจสามารถกลับฟื้นขึ้นมีสุขภาวะดีดังเดิมได้ แต่โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เมื่อป่วยแล้วจะต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติที่จะต้องสูญเสียงบประมาณปีละมหาศาลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวต่อไปอีกด้วย

          คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม แต่จริงๆ แล้วเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ร่วมด้วย จากปัจจัยกำหนดที่แตกต่างกัน เช่น การอยู่ในบริบทสังคมเมือง และสังคมชนบท ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนให้กับทุกคนที่อยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นปัจจุบันด้วยการให้ความรู้ด้านสุขภาวะอย่างเดียวแก่ประชาชนอาจไม่เพียงพอ จะต้องสร้าง “ความรอบรู้ทางสุขภาวะ” ด้วยการเข้าถึงข้อมูลด้วยความเข้าใจ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังสนา บุญธรรม หัวหน้าภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของภาควิชาฯ นอกจากการผลิตบัณฑิตแล้ว ยังทำงานขับเคลื่อนชุมชนผ่านกระบวนการในการพัฒนาคน และพัฒนาสังคมเพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านสุขภาวะ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากการให้นักศึกษาได้ออกไปฝึกงานในชุมชนแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สามารถเป็นที่พึ่งทางสุขภาวะให้กับตัวเองต่อไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย

          ซึ่งใน “สังคมพลวัต” ที่ไม่เคยหยุดนิ่งนี้ พบว่าในเมือง และชนบท มีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้คนมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมืองในกรุงเทพฯ ที่มีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ และอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ผู้คนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของ “ประชากรแฝง” ที่ทำงานในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้มีความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง เหมือนสังคมในชนบท

          ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาวะสำหรับประชากรในกรุงเทพฯ หากจะรอคอยแต่ให้รัฐเข้ามาดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ จะต้องผลักดันให้ทุกองค์กรเกิด Health Literate Organization หรือ องค์กรแห่งการเรียนรู้ สุขภาวะ เพื่อให้เกิดความรอบรู้ทางสุขภาวะ และต่อยอดขยายผลสู่ครัวเรือน และสังคมรอบข้างต่อไปอย่างยั่งยืน

          โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังสนา บุญธรรม ได้กล่าวแนะนำถึงแนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาวะว่า สามารถเริ่มต้นด้วยการสำรวจสุขภาวะของคนในองค์กรให้ได้ทราบผลโดยทั่วกัน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสุขภาวะว่าส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องใด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสุขภาวะร่วมกันได้อย่างตรงจุด เช่น จากผลสำรวจพบว่าคนในองค์กรส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน หรือภาวะน้ำตาลเกิน ก็อาจจัดให้มีการตั้งกลุ่มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องประสบการณ์การควบคุมภาวะน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ และทำกิจกรรมร่วมกันตามความสนใจ เช่น กิจกรรมประกอบอาหารน้ำตาลต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม จากการสามารถคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ ที่ต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้ต่อไป

          นอกจากนี้ การสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมสุขภาวะก็เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากคนในองค์กรส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง รับประทานอาหารที่เค็มจัดไม่ได้ ในขณะที่ร้านอาหารส่วนใหญ่ในองค์กรยังคงขายแต่อาหารที่อุดมไปด้วยโซเดียม ก็อาจไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้ เนื่องจากชีวิตของคนกรุงเทพฯ และคนเมืองเต็มไปด้วยความเร่งรีบ จนผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาประกอบอาหารรับประทานเอง ต้องรับประทานอาหารสำเร็จรูปนอกบ้าน ซึ่งยากต่อการควบคุมปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมันให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายแต่ละคน

          โดยโซเดียมในอาหาร ไม่ได้วัดกันแต่ปริมาณเกลือ หรือน้ำปลาที่เติมลงไปในอาหาร แต่รวมถึง “ผงปรุงรส” ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงว่าจะทำให้ร่างกายรับโซเดียมมากเกินเพียงใดด้วย ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีร้านอาหารในองค์กรเพื่อสุขภาพ ลดเค็ม ลดหวาน ลดไขมัน มีอาหารประเภทผัก และผลไม้จำหน่ายมากขึ้น

          แม้จะเป็นภารกิจที่ท้าทายเพียงใด ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงพร้อมมุ่งมั่นส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาวะให้กับประชาชนชาวไทยทั้งในเมืองและชนบท โดยหวังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author