เปิด ป.เอก ผลิตผู้นำสุขภาพและพัฒนาที่ยั่งยืน

          นับเป็นครั้งแรก จากครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ที่ “หลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือครั้งใหญ่จากส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล

          นำโดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน พร้อมด้วยอีก 8 ส่วนงาน ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมผลิต “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” มุ่งภารกิจดูแลอนาคตของโลก

          รองศาสตราจารย์ ดร.ชีรวิทย์ รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน และประธานหลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหลักสูตรฯ ว่า เกิดขึ้นจากบทบาทที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะผู้นำขับเคลื่อน “มหาวิทยาลัยสุขภาพโลก”

          โดยมีที่ทำการเครือข่ายฯ ณ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตลอดจนจากการจัดการเรียนการสอนและอบรมด้านสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสาธารณสุขโลก ปัจจุบันได้มีการยกระดับสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งองค์การสหประชาชาติ ทำให้หลักสูตรฯ ได้รับความสนใจ ผ่านศิษย์เก่าจากทั่วโลก

          หลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) มหาวิทยาลัยมหิดล คาดหวังให้นักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯ สามารถบูรณาการความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการทำวิจัยตอบโจทย์ SDGs โลก ได้อย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไป

          ซึ่งหัวข้อที่กำลังเป็นประเด็นที่ท้าทายให้ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรฯ จากทั่วโลก มาร่วมค้นหาคำตอบจากการสร้างสรรค์งานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงนโยบาย ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ความปลอดภัยทางอาหาร ปัญหาสุขภาพจิต และที่ยังคงสร้างผลกระทบในโลกที่กำลังพัฒนา ได้แก่ ปัญหาสุขภาวะแม่และเด็ก เป็นต้น

          โดยในปีการศึกษา 2566 นับเป็นปีแรกที่จะมีนักศึกษาสำเร็จหลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสุขภาพ
และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) มหาวิทยาลัยมหิดล และจะขยายสู่หลักสูตร 2 ปริญญา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (UNU) ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อขยายขอบเขตการศึกษาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ระดับโลกในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า

          และในปีการศึกษา 2567 หลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) มหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดสอน 2 รายวิชาใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็น SDGs ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ได้แก่ รายวิชา “สุขภาพดิจิทัล” (Digital Health) และรายวิชา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืน และสุขภาพสาธารณะโลก” (Climate Change, Sustainability, and Global Public Health)

          Professor Dr.Peter Haddawy รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของคณะฯ ซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา “สุขภาพดิจิทัล” (Digital Health) ในหลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Doctor of Philosophy Program in Health and Sustainable Development) ว่า จัดขึ้นโดยมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี บนพื้นฐานของความเข้าใจในโจทย์ปัญหา และรู้วิธีที่จะใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหา

          โดยมองว่า “เรื่องสุขภาวะ” เป็นหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้ออื่นๆ “ความเจ็บป่วย” นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ความยากจน” หรือ “ความหิวโหย” ฯลฯ และด้วยองค์ความรู้ หรือความเท่าเทียมทางการศึกษา จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้สามารถขยายขอบเขตของการเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น หากเสริมด้วยศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับผู้เรียนที่มาจากสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความคุ้มค่า และเป็นประโยชน์สูงสุด

          รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวในส่วนของรายวิชา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืน และสุขภาพสาธารณะโลก” (Climate Change, Sustainability, and Global Public Health) ที่คณะฯ รับผิดชอบว่า ท่ามกลางความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่บนโลก จำเป็นต้องได้รับการดูแล และจัดสรรให้เพียงพอ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

          หากได้ศึกษาให้เข้าถึงพฤติกรรมมนุษย์ที่มีต่อการใช้ทรัพยากร และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ จะนำไปสู่ความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยหวังให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากรายวิชาฯ ไปประยุกต์ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก และมุ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยัง “คงความสมดุล” เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author