ม.มหิดล มุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก ส่งเสริมวิจัยจีน-ไทย จัดทัวร์วัฒนธรรมสืบสานวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสาย “จีนแคะ”

          วัฒนธรรมจีน-ไทยมีความสอดคล้องกลมกลืนกันมาอย่างยาวนาน โดยชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วพบมากที่สุดในประเทศไทย และชาวจีนกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ในชื่อเรียกที่เป็นสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร
รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและการคลัง และประธานกลุ่มวิจัยจีน-ไทยศึกษา (Chinese – Thai Studies)
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA)

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและการคลัง และประธานกลุ่มวิจัยจีน-ไทยศึกษา (Chinese – Thai Studies) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ “One Belt, One Road” ที่มุ่งศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของกว่า 100 นานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ภาษาและวัฒนธรรมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อทางการค้าในภูมิภาคฯ

          ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มุ่งสู่การเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 60 แห่ง ซึ่งที่ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดการการสอนเกี่ยวกับจีน-ไทยศึกษา โดยจัดให้นักศึกษาจีนจากมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือทางวิชาการ ได้มาศึกษาภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่องทุกปีติดต่อกันมาจนถึงช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ต้องหยุดสอนตามมาตรการฯ ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญที่มีการศึกษาในกลุ่ม “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือการถ่ายทอดภูมิปัญญาอย่างยั่งยืนผ่านชุมชนฮากกาออนไลน์

          วัฒนธรรมของชาวจีนในแต่ละกลุ่มมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างในบางด้านตามลักษณะทางประชากรและภูมิประเทศ ฯลฯ ซึ่งกลุ่ม “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” มีความโดดเด่นในเรื่องการทำอาหาร ที่รู้จักกันดีคือ “ก๋วยเตี๋ยวแคะ” ที่มี “เต้าหู้ยัดไส้” เป็นตัวชูโรงแห่งตำนานความอร่อย โดยหนึ่งในชุมชนหลักซึ่งเป็นที่ตั้งรกรากของ “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ในไทย คือ ชุมชนจีนแคะ (ฮากกา) บ้านห้วยกระบอก ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งในโอกาสวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ สมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กลุ่มวิจัยจีน-ไทยศึกษา RILCA จะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในวันและสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับเทศกาลไหว้ “ขนมเสียกแหยน” หรือ “ขนมบัวลอย” ของชาว “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ซึ่งเป็นเทศกาลในรอบปีของชาวจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูใบไม้ร่วงสู่ฤดูหนาว และยังเป็นขนมที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวจีนอีกด้วย โดยความหมายของขนมบัวลอยนี้เชื่อว่าทานแล้วทำให้ครอบครัวมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล
นายกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA)

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรานันท์ ดำรงสกุล นายกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA) ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมศึกษา หนึ่งในวิทยากรพาชมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ต่างจากการท่องเที่ยวทั่วไป ตรงการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในครั้งนี้ จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยนอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ความรู้ทางด้านประเพณีวัฒนธรรมชาว “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากการเยี่ยมชมและกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อสามภูเขา ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสาย “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา”

          นอกจากไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทำขนมโบราณของชาว “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ที่หาทานยาก และควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดเพื่อไม่ให้สูญสลายไป ได้แก่ “ขนมเง่ปั้น” ที่มีลักษณะคล้ายโมจิที่อุดมด้วยธัญพืช พร้อมทั้งได้มีโอกาสลองเขียนคำอวยพรด้วยพู่กันจีน เพื่อใช้ในเทศกาลปีใหม่ และร่วมวงเสวนารำลึกถึงวัฒนธรรมที่แสดงความเป็น “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ที่มีมาแต่เก่าก่อน จากสิ่งของที่เป็นความทรงจำ หรือรูปภาพ โครงการต่อไปจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมศึกษาวิถีชีวิตของชาว “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งใหญ่ของชาวไทยเชื้อสาย “จีนแคะ” หรือ “ฮากกา” อีกด้วย

          ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียด พร้อมสำรองที่นั่ง (จำนวนจำกัด) ได้ที่ FB : RILCA, Mahidol University


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author