มหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง ภาค 9 – การสื่อสารกับชุมชน

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


          โลกยิ่งร้อน ภาวะอากาศก็จะยิ่งแปรปรวน และเมื่อโลกร้อนถึงจุดหนึ่ง อากาศในเขตหนาวก็อาจจะเริ่มอบอุ่น

          คำว่า “อบอุ่น” ฟังดูเหมือนจะดี ถ้าพื้นที่ที่เคยหนาวเหน็บ เดินแค่ช่วงตึกเดียวก็เย็นจนหูแทบแข็ง เริ่มอุ่นขึ้น อุณหภูมิอยู่ได้สบายกว่าเดิม ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อใจ แต่ทว่าปัญหาที่ตามมาก็คือสภาพอากาศที่อบอุ่นอยู่สบาย ดันไม่ได้สบายแค่กับมนุษย์เราแค่เผ่าพันธุ์เดียว แต่จะถึงขั้นเปลี่ยนภาพรวมของสภาพแวดล้อมในท้องที่แบบหน้ามือเป็นหลังมือไปได้เลยทีเดียว

          และสำหรับพวกปรสิตสมาคมมินิแวมไพร์สายกัดอย่าง “เห็บ ริ้น ไร หมัด และยุง” พื้นที่ที่ร้อนระอุขึ้นก็ไม่ต่างไปจากแดนสวรรค์

          และเมื่อเริ่มอุ่นขึ้น ไม่ช้าไม่นานปรสิตเหล่านี้ก็จะเริ่มรุกคืบกระจายตัวเข้าพื้นที่ที่เคยหนาว แล้วเริ่มปักหลักในพื้นที่ใหม่ สร้างเป็นเขตอาณานิคมแห่งปรสิต ที่ซึ่งพวกมันจะอยู่รอดและสืบต่อเผ่าพันธุ์ไปได้อีกยาวนานนนนนน ยากยิ่งจะกำจัด

          “พื้นที่ใหม่” “สภาพแวดล้อมใหม่”… ว่ากันตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน นี่คือ “แรงคัดเลือกทางธรรมชาติ” ที่จะช่วยหล่อหลอมและกระตุ้นการกำเนิดขึ้นมาของตัวแสบสายพันธุ์กลายที่อาจจะมีจุดเด่นทางวิวัฒนาการเหนือชั้นกว่าสารพัดปรสิตร้ายที่เคยเจอมาทั้งหมดในอดีต

          และถ้าจะมีกรณีศึกษาเรื่องวิวัฒนาการที่เห็นได้ชัดที่สุดในเวลานี้ก็คงไม่พ้นวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด 19 เพราะจวบจนถึงปัจจุบันปัญหาก็ยังไม่จบ แถมยังส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส

          ยิ่งมีการระบาดเยอะ ไวรัสก็ยิ่งกลายพันธุ์ไว กลายแล้วก็กลายอีก เป็นสายพันธุ์น่ากังวล (variants of concern) มาแล้วไม่รู้กี่รุ่น ตั้งแต่อู่ฮั่น แอลฟา บีตา เเกมมา เดลตา ไล่มาจนถึงโอมิครอน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

          การกลายพันธุ์ของสารพัดปรสิต (รวมทั้งยุงด้วย) ก็มาในแนวเดียวกัน ยิ่งระบาดก็ยิ่งกลายได้ไว และยิ่งถ้าเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เจอแรงคัดเลือกใหม่ ๆ ด้วยแล้ว แจะยิ่งกลายไวกว่าเดิมเป็นหลายเท่า ซึ่งสายพันธุ์ใหม่ ๆ ก็จะค่อย ๆ โดดเด่นทวีจำนวนและค่อย ๆ มาแทนสายพันธุ์เก่า ๆ ที่จะค่อย ๆ ลบเลือนหายไป ไม่ต่างจากโควิดโอมิครอนที่วิวัฒน์ขึ้นมาแทนสายพันธุ์ที่เคยโดดเด่นอย่างแอลฟาและเดลตาที่เคยสร้างปัญหามาแล้วทั่วโลก​ต่อจากสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม

          ตราบใดที่พวกมันยังไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่กลายพันธุ์เพิ่มเติมนู่นนิดนี่หน่อยก็จะทยอยผุดขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ และวันดีคืนดี ถ้าเจอแจ็กพอต ตัวแสบ ๆ ก็อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ได้อีก ที่เป็นที่จับตามองกันในตอนนี้เลยก็คือ “โอมิครอน XBB.1.5” ที่แม้จะยังวิวัฒนาการไปไม่ไกลจากโอมิครอนมากพอจะถูกแยกเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ก็แสบพอที่จะสะเทือนวงการได้

          จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (US Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แม้ในแง่ความร้ายแรงของอาการเมื่อเทียบกับโอมิครอนดั้งเดิมจะยังไม่ชัดเจนว่าหนักกว่าหรือไม่ แต่สิ่งที่พิสูจน์แล้วก็คือ โอมิครอน XBB.1.5 มีความสามารถในการติดเชื้อทะลุภูมิวัคซีนได้โดดเด่นแบบไร้คู่เทียบ และนั่นทำให้เคสผู้ป่วยของสายพันธุ์ XBB.1.5 นี้ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว พุ่งจาก 1 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลายเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียงแค่ไม่ถึงเดือน และในเวลานี้ก็มีเกือบสามสิบประเทศแล้วที่เจอ XBB.1.5 รุกราน

          แม้จะมีการออกมาประกาศแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะ แต่จุดยืนขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ก็ยังไม่ถือว่า XBB.1.5 นั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แยกออกมาจากโอมิครอน เพราะไม่ว่าจะแสบแค่ไหน แต่ถ้าเทียบพันธุกรรมกัน XBB.1.5 ก็เป็นได้แค่หนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเท่านั้น

          หากแต่การที่เรายังดึงดันเรียกมันเป็น โอมิครอน XBB.1.5 อยู่ตลอด กลับทำให้สังคมสับสน และไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของเชื้อตัวใหม่ ​ท้ายที่สุด ไรอัน เกรกอรี (Ryan Gregory) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเกวลฟ์ (University of Guelph) ในแคนาดาก็รอไม่ไหว จึงขอขนานนามโควิดโอมิครอน XBB.1.5 เสียใหม่ว่า “โควิดคราเคน (Kraken)” 

          และเริ่มมีการรณรงค์ในหลายที่ให้กลับมาเฝ้าระวังการระบาดกันอย่างเคร่งครัดใหม่อีกรอบ แม้ว่าจำนวนเคสที่หนักหนาสาหัสนั้นจะยังไม่ได้เยอะไหลทะลักท่วมวอร์ดคนป่วยจนแพทย์รับมือไม่ไหวเหมือนตอนที่โควิดระบาดใหม่ ๆ แต่ด้วยการกลายพันธุ์ของคราเคนที่ทำให้แอนติบอดีและภูมิวัคซีนที่เคยได้ผลกับโควิดตัวก่อน ๆ แทบจะไม่มีผลเลยกับคราเคน ยังไงก็มีความเสี่ยง

          และที่สำคัญ ไม่มีใครเลยที่จะบอกได้ว่า หลังจากคราเคนแล้ว ตัวอะไรจะมาอีก ?​ เซเบอรัส ? กอร์กอน ? แต่คงไม่ใช่ยูนิคอร์นวิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์เเน่ ๆ

          การเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่ทุกประเทศจะมองข้ามไม่ได้ ไม่ใช่แค่กับโควิด 19 แต่กับทุกโรคเลย รวมทั้งโรคระบาดจากพาหะพวกปรสิตด้วย

          แน่นอนที่สุดพอย้อนกลับมาเรื่องยุง ในหลายประเทศ การเฝ้าระวังในชุมชนเป็นเรื่องที่ทุกคนร่วมกันช่วยสอดส่อง ช่วยกันสำรวจหาและทำลายแหล่งระบาด ตามยางรถยนต์ แอ่งน้ำขัง กะละมังแตก หรือบริเวณที่ยุงจะไปวางไข่ ที่มีแนวโน้มอาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรุ่นใหม่ขึ้นมาสร้างปัญหาให้ชุมชน

          ยิ่งในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่การระบาดของไวรัสไข้เลือดออกเดงกีเป็นปัญหาสำคัญ การเฝ้าระวัง การสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุง การจัดการควบคุม ก็ยิ่งต้องรวดเร็ว เคร่งครัด และมีประสิทธิภาพ

          ลูกศิษย์ผมคนนึงไปทำงานสิงคโปร์ เคยเล่าให้ฟังว่า เธอต้องทนกินมาม่าไปหลายเดือน ตอนที่เจอว่าบ่อบัวหน้าบ้านมีดีเอ็นเอของลูกน้ำยุงลายอยู่ (เจอตัวไหมไม่รู้ แต่มีดีเอ็นเอหลงอยู่แสดงว่าเคยมี) องค์กรสิ่งเเวดล้อมแห่งชาติเลยปรับเธอไปหลายพันดอลลาร์สิงคโปร์ เล่นเอาเธอแทบเกิดอาการแพนิก (panic attack) กับแหล่งน้ำขังทุกประเภทในละแวกบ้านไปพักใหญ่

          และด้วยเพราะมีการสำรวจและระบบจัดการ (ลงโทษ) ที่หนักหน่วงทำให้จำนวนยุงที่พบในเขตต่าง ๆ นั้นส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม การที่เห็นยุงบินว่อนราวจะหามคนได้ทั้งคนก็แทบไม่มี โอกาสที่โรคระบาดจะติดต่อแพร่กระจายก็ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย

          ข้อดีนึงของการไม่มียุงก็คือ เมื่อไรที่เริ่มมีการขยายตัวของประชากรยุง ​ผู้คนก็จะเริ่มสังเกตเห็นได้ง่าย​ จากที่เคยไม่มี แล้วอยู่ ๆ กลายเป็นมี และสร้างปัญหา ผู้คนจะเริ่มตระหนกและเริ่มส่งเสียงร้องขอทีมเคลื่อนที่เร็วมาจัดการ ซึ่งทำให้สิงคโปร์กำราบการระบาดของยุงได้ค่อนข้างดี

          เหมือนเป็นการทดสอบระบบเมื่อ “โพรเจกต์โวลบาเคีย” ที่ใช้ยุงติดเชื้อแบคทีเรียมาคุมกำเนิดยุงลาย สลายไวรัสเดงกีเริ่มต้นขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แม้ว่ามีการทำงานลงชุมชนและสื่อสารสู่สังคมอยู่บ้างว่าจะทดลองปล่อยยุงลายตัวผู้ที่เป็นหมันเข้าไปในธรรมชาติเพื่อหาทางลดและแก้ปัญหายุงลายอย่างยั่งยืน แต่ไม่ว่าจะสื่อสารอย่างไร ในสังคมก็ยังมีคนไม่รู้อยู่ดีว่าจะมีการทดลองแบบนี้ขึ้น

          พวกเขาไม่รู้ว่านักวิทยาศาสตร์จะปล่อยยุงตัวผู้ “ที่ไม่กัดคน” เข้าไปในชุมชน และอีกไม่นานจำนวนยุงตัวเมียที่กัดพวกเขาก็จะลดลงอย่างมหาศาลจนเเทบเป็นศูนย์ แม้ว่าด้วยสัณฐานของปากยุงตัวผู้ที่กัดคนไม่ได้ ยังไงก็ไม่กัด ​การทดลองนี้จึงไม่น่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากแต่เรื่องมันไม่เป็นเช่นนั้น อย่าลืมว่า กัดได้หรือไม่กัด ไม่สำคัญ ที่สำคัญคืออยู่ ๆ ก็มีฝูงยุงชุกชุมมาบินว่อน ร่อนเร่ วี้ ๆ อยู่ใกล้ ๆ ไม่คันก็มโนไปเองได้ว่าคัน

          พอทีมโพรเจกต์โวลบาเคียเริ่มปล่อยยุงติดเชื้อโวลบาเคียเข้าไปในชุมชน ชาวบ้านในละเเวกที่ทำการทดลองก็เริ่มอยู่ไม่เป็นสุข กรมกองต่าง ๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสาธารณสุขก็งานเข้าขึ้นมาทันที มีรายงานพรั่งพรูไหลทะลักเข้ามาจากหลายพื้นที่ว่าพบยุงบินว่อนไปทั่ว เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

          ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งถึงกับโทรศัพท์ไปโวยวายว่ามีปัญหาฝูงยุงบุกโรงเรียน ทำให้ทางโรงเรียนหวั่นวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก ๆ ขอให้จัดการโดยด่วน ซึ่งพอเรื่องมาจากโรงเรียน เสียงกระหึ่มจากผู้ปกครองก็เริ่มตามมา

          เล่นเอาทางองค์กรสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์และทีมผู้ทดลองในโพรเจกต์โวลบาเคียต่างก็มึนตึบไปตาม ๆ กัน เพราะนอกจากต้องติดตามผลแล้ว ยังต้องคอยปรับความเข้าใจกับผู้คนในสังคมไปด้วย

          ที่จริง​แม้ไม่มีการสำรวจและรายงานจำนวนยุงติดเชื้อโวลบาเคียที่ถูกตบหรือโดนสเปรย์ฉีด แต่ผมแอบเดาเอาเองว่าน่าจะโดนกันไปไม่น้อยอยู่

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “การทำงานแบบลงท้องที่นั้น การสื่อสารกันกับชุมชนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการออกแบบการวิจัย” เพราะถ้าทำลงไปแบบไม่ระวัง ผลกระทบที่เกิดอาจโกลาหลเป็นวงกว้างได้

          ผมเคยนั่งฟังเลกเชอร์เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม การทำความเข้าใจ stakeholder หรือผู้มีส่วนร่วมนั้นสำคัญที่สุดหากอยากให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและใช้งานได้จริง เพราะถ้างานวิจัยสวย ๆ ผลในเปเปอร์เลิศเลอเพอร์เฟกต์ แต่พอลงหน้างานจริง โดนต่อต้าน โดนขับไล่ ท้ายสุดอาจเป็นได้แค่เมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ในจักรวาลแห่งงานวิจัยที่ล่องลอยไป ไม่มีวันได้งอกงามขึ้นมาสร้างความเจริญอะไรจริง ๆ ให้แก่โลก

          และนี่คงเป็นอะไรที่นักวิจัย (และนวัตกร) ​ต้องคิดให้ครอบคลุม​

          เพราะการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เข้าใจ เห็นภาพเดียวกัน และพร้อมที่จะก้าวไปด้วยกัน คือหนทางสู่ความสำเร็จ !

About Author