จับตาเอลนิญโญกับปีที่ร้อนระอุทะลุทุกสถิติ

เรื่องโดย
พรอำไพ นเรนทร์พิทักษ์


          เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติแห่งหนึ่งในสาขา “วิทยาศาสตร์บรรยากาศ” หรือ Atmospheric Sciences ในยุโรป โดยเอางานวิจัยเกี่ยวกับก้อนเมฆของตัวเองไปนำเสนอทางออนไลน์ อีกทั้งได้เข้าไปฟังการบรรยายเกี่ยวกับ “อุตุนิยมวิทยาในแถบเขตร้อน” หรือ Tropical Meteorology หนึ่งในหัวข้อที่มีคนสนใจมากในวันนั้นคือ สถานการณ์เอลนิญโญ (El Niñoและลานิญญา (La Niña) กับสถิติอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

          ใจความสำคัญมีอยู่ว่า… สภาวะลานิญญาที่เกิดขึ้นมาสามปีซ้อน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ถึงต้นปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) หรือที่เรียกกันว่า “Triple Dip La Niña” บัดนี้สิ้นสุดแล้ว แนวโน้มโลกเราจะเข้าสู่สภาวะเอลนิญโญในกลางถึงปลายปีนี้ ประกอบกับเดือนมีนาคมปีนี้ อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นอันดับที่สองเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมอื่น ๆ ตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา[1] เนื่องจากโลกเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และการที่โลกกำลังจะผันเข้าสู่ภาวะเอลนิญโญจะยิ่งทำให้โลกเรามีแนวโน้มร้อนขึ้นอีกเป็นแน่

          หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ก็เริ่มได้ยินข่าวในประเทศไทย พูดถึงปรากฏการณ์เอลนิญโญและแนวโน้มที่ประเทศไทยจะร้อนและแล้งขึ้น บ้างก็โยงผลกระทบของเอลนิญโญและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าด้วยกัน พัวพันยุ่งเหยิงไปหมด บ้างก็ทำให้รู้สึกตระหนกถึงภัยร้อนและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงคิดว่าคงถึงเวลาอีกครั้งที่จะหยิบยกงานวิจัยเกี่ยวกับ “เอลนิญโญและลานิญญา” ขึ้นมา และขอใช้โอกาสนี้อธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจถึงที่มาที่ไป รวมถึงเรื่องผลกระทบต่อสภาพอากาศในประเทศไทย เพื่อจะได้เตรียมตัวกันอย่างมีสติ ไม่ประมาท และก็ไม่ตระหนกเกินควร

เอลนิญโญและลานิญญาคืออะไร?

          เอลนิญโญ (El Niño) และลานิญญา (La Niña) หรือที่มีชื่อเต็มว่า El Niño-Southern Oscillation (ENSO) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศแทบจะทุกพื้นที่ทั่วโลก เนื่องจากมหาสมุทรแปซิฟิกกว้างใหญ่มาก และมหาสมุทรทำหน้าที่ช่วยรักษาความสมดุลให้แก่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วย

          เริ่มจากในภาวะปกติของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเขตร้อน (Tropical Pacific Ocean) หรือบริเวณที่อยู่ไม่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร จะมีหย่อมน้ำอุ่น (warm pool) อยู่ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (Western Pacific หรือในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และมีแถบน้ำเย็น (cold tongue) อยู่ในฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (Eastern Pacific หรือในฝั่งอเมริกาใต้) ซึ่งแถบน้ำเย็นนี้อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกาใต้เท่าไร คนที่เคยเล่นน้ำทะเลทั้งสองฝั่งอาจพอสังเกตได้ว่า น้ำทะเลแถวประเทศฟิลิปปินส์มักจะอุ่นกว่าน้ำทะเลแถวประเทศเปรู

อุณหภูมิและกระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเขตร้อน (ก) ในสภาวะปกติ หย่อมน้ำร้อนที่อยู่ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกก่อให้เกิดการยกตัวของอากาศ ทำให้มีฝนตกใกล้กับบริเวณชายฝั่งทวีปเอเชียมากกว่าฝั่งอเมริกา (ข) ในสภาวะเอลนิญโญ หย่อมน้ำอุ่นกระจายตัวทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น การยกตัวของอากาศก่อให้เกิดเมฆฝนง่ายขึ้นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ทำให้แนวโน้มฝนฝั่งทวีปเอเชียลดลง และ (ค) ในสภาวะลานิญญา หย่อมน้ำอุ่นถูกผลักไปชนชิดชายฝั่งทวีปเอเชียทำให้เกิดการยกตัวของอากาศที่มากขึ้นในฝั่งเอเชียด้วย

ที่มาภาพ : Fred the Oyster – Own work; ปรับปรุงจาก NOAA/PMEL/TAO diagrams (archived link), Public Domain,

          สาเหตุที่หย่อมน้ำอุ่นและแถบน้ำเย็นอยู่กันเป็นคู่เช่นนี้เพราะลมสินค้า (trade winds) ที่พัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกและช่วยพาเรือใบขนส่งสินค้าจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่งนั้น ได้พัดเอาน้ำบริเวณผิวมหาสมุทรที่อุ่นกว่าน้ำด้านล่างไปรวมกันที่ฝั่งตะวันตกฝั่งเดียว และน้ำเย็นที่ก้นมหาสมุทรสามารถผุดขึ้นมาได้ในฝั่งตะวันออก เกิดเป็นหย่อมน้ำอุ่นและแถบน้ำเย็นดังแสดงในภาพ ก

          ในภาวะที่ลมสินค้าอ่อนกำลังลง (ภาพ ข) หย่อมน้ำอุ่นในฝั่งตะวันตกจึงสามารถกระจายตัวมาบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและฝั่งตะวันออกได้มากขึ้น เมื่อแถบน้ำเย็นหดตัวลง จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นด้วย โดยปกติแล้วน้ำในมหาสมุทรทำหน้าที่ดูดซับความร้อนจากอากาศได้ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น ความสามารถในการดูดซับความร้อนจากอากาศจะน้อยลง ทำให้อุณหภูมิอากาศที่ติดกับพื้นผิวโลกสูงขึ้น มีการค้นพบสภาวะนี้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยชาวประมงชาวเปรูสังเกตถึงการหดตัวของแถบน้ำเย็น ซึ่งรู้สึกได้ชัดในช่วงเดือนธันวาคม จึงเรียกสิ่งนี้ว่า “El Niño de Navidad”[2] ซึ่งเป็นภาษาสเปน แปลตรงตัวได้ว่า “The Boy of Christmas” และในเวลาต่อ ๆ มา ชื่อนี้จึงเหลือสั้น ๆ ว่า เอลนิญโญ

          ในทางกลับกัน สภาวะที่ลมสินค้ามีกำลังสูงมากกว่าปกติ (ภาพ ค) และทำให้หย่อมน้ำอุ่นในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกถูกดันไปชิดชายฝั่งของทวีปเอเชียมากยิ่งขึ้น แถบน้ำเย็นในบริเวณแปซิฟิกตะวันออกก็ขยายกินพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม กระแสน้ำเย็นที่มาจากก้นบึ้งมหาสมุทรและเสริมแถบน้ำเย็นนี้ได้นำสารอาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) ขึ้นมาด้วย ปลาทะเลจึงชุกชุมมากกว่าปกติ ในช่วงเวลานี้อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรแปซิฟิกลดลง น้ำในมหาสมุทรดูดซับความร้อนจากอากาศได้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยโลกลดลงด้วย เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ตรงข้ามกับเอลนิญโญที่แปลว่า เด็กผู้ชาย จึงเรียกสิ่งนี้ว่า เด็กผู้หญิง หรือในภาษาสเปนคือ ลานิญญา

          ปรากฏการณ์เอลนิญโญและลานิญญาเกิดขึ้นสลับกันไปมา รวมแล้วทุก ๆ 2 ถึง 7 ปี โดยเอลนิญโญหรือลานิญญาแต่ละครั้ง อาจเกิดขึ้นเพียง 1 ปี หรือจะเกิดติดต่อกันถึง 3 ปีก็ได้ ดังภาพกราฟแสดงดัชนี Ocean Niño Index (ONI) โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐอเมริกา ให้นิยามนี้ว่า เมื่อดัชนี ONI นี้สูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเอลนิญโญเกิดขึ้นแล้ว และหากต่ำกว่า -0.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นลานิญญา จากบันทึกข้อมูลย้อนหลังจะเห็นได้ว่า วัฏจักรเอลนิญโญและลานิญญาเกิดขึ้นมากว่าสี่ร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1750-1840) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และแก๊สธรรมชาติ ที่ทำให้ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการกักเก็บรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศโลกมากเกินไปจนสภาพภูมิอากาศโลก เสียสมดุล อันเป็นที่มาของคำว่า climate change ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเอลนิญโญและลานิญญาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจากน้ำมือมนุษย์แต่อย่างใด

          แต่สาเหตุที่สื่อต่าง ๆ รวมทั้งเหล่านักวิจัยหยิบยกประเด็นเอลนิญโญกับความร้อนของสภาพอากาศมาพูดถึงมากขึ้น เป็นเพราะในหลายสิบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราสูงขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้สังเกตได้ในประเทศไทยของเราด้วย แม้ใน 3 ปีที่ผ่านมามีสภาวะลานิญญาที่รุนแรง มหาสมุทรแปซิฟิกช่วยดูดซับความร้อนจากชั้นบรรยากาศไว้ได้เยอะ จนปัจจุบันสภาวะลานิญญาหมดไป เข้าสู่สภาวะปกติ มนุษย์เรายังรู้สึกถึงความร้อนที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ แล้วถ้ามีเอลนิญโญเกิดขึ้นในกลางถึงปลายปีนี้ อุณหภูมิอากาศที่พื้นผิวจะสูงขึ้นไปอีกเท่าใด


กราฟแสดงดัชนี Ocean Niño Index (ONI) หรืออุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง (Central Tropical Pacific) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1983 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2023 เมื่อดัชนี ONI มีค่าสูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส จัดว่าเข้าสู่สภาวะเอลนิญโญแล้ว ตามนิยามขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา เมื่อดัชนี ONI มีค่าต่ำกว่า -0.5 องศาเซลเซียส จัดว่าเข้าสู่สภาวะลานิญญา
ที่มาของข้อมูล : NOAA Climate Prediction Center (PCP) และ NOAA Physical Sciences Laboratory (PSL)

เอลนิญโญและลานิญญาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร ?

          การสลับขั้วของวัฏจักรเอลนิญโญและลานิญญาส่งผลต่อปริมาณฝนเฉลี่ยของทวีปรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องมาจากกระแสลมและอุณหภูมิที่ผันเปลี่ยน สำหรับในช่วงเอลนิญโญเนื่องจากอากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอุ่นขึ้น ทำให้เพิ่มการยกตัวของอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดเมฆฝนมากขึ้นแถวนั้น (ภาพ ข) ความชื้นเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก นั่นก็คือแถวบ้านเรา จึงถูกดึงไปอีกฝั่งมากกว่าด้วย ทำให้แนวโน้มความชื้นฝั่งเอเชียลดลงเมื่อมีเอลนิญโญและผลจะสลับกันในช่วงลานิญญา ส่วนเรื่องความร้อนนั้น ผลกระทบของเอลนิญโญต่ออุณหภูมิพื้นผิวประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นั่นคือ อากาศจะอุ่นขึ้นโดยรวม โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นแนวโน้มอาจไม่ต้องนำเสื้อกันหนาวออกมาใช้ในฤดูหนาวปีนี้สักเท่าไร

          สำหรับเรื่องฝนนั้น เนื่องจากประเทศไทยของเราทั้งอยู่ติดขอบมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งอ่าวไทย และได้รับอิทธิพลมรสุมจากมหาสมุทรอินเดียผ่านทางทะเลอันดามันด้วยเช่นกัน ดังนั้นปัจจัยเรื่องฝนของไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิกแต่เพียงอย่างเดียว ข้อมูลที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า (1) เอลนิญโญทำให้แนวโน้มฝนภาคใต้ในเดือนธันวาคมและมกราคม (ฤดูฝนของภาคใต้) น้อยลง (2) แนวโน้มฝนในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนลดลงทั่วทั้งประเทศ (3) แต่สำหรับเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝนหลักของไทย แนวโน้มเรื่องฝนกลับไม่ชัดเจน เนื่องจากความชื้นจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มาจากหาสมุทรอินเดียเป็นตัวกำหนดเรื่องฝนช่วงนี้ จึงกลายเป็นแล้วแต่กรณีไป ส่วนใหญ่หากเอลนิญโญรุนแรง ฝนในหน้าฝนมักจะน้อยลงไปด้วย แต่หากเอลนิญโญไม่รุนแรงก็อาจไม่ได้รับผลกระทบนัก (4) ส่วนเดือนกันยายนและตุลาคมหรือปลายฤดูฝนนั้น ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและเคลื่อนตัวเข้ามาประเทศเวียดนามหรือลาว เราจึงอาจได้รับผลกระทบในช่วงนี้เช่นกัน โดยเอลนิญโญมักทำให้พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันตก (เรียกอีกอย่างว่า พายุไต้ฝุ่น) เกิดขึ้นใกล้เส้นศูนย์สูตรแต่ห่างจากชายฝั่งทวีปเอเชียมากกว่าปกติ หากพายุเหล่านี้ไม่เคลื่อนที่เข้าใกล้ประเทศไทย แนวโน้มฝนในช่วงนี้ก็ย่อมลดลง

          ถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบปริมาณฝนในไทยช่วงสภาวะเอลนิญโญกับช่วงสภาวะปกติจะค่อนข้างซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่จะรู้สึกได้ชัดเจนในปีนี้คือ ปริมาณฝนโดยรวมจะน้อยลงกว่าสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามปีที่แล้วเป็นลานิญญาซึ่งมีแนวโน้มทำให้ฝนมากขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นในความรู้สึกของเราที่ยึดความทรงจำระยะสั้นเป็นหลัก อาจจะทำให้รู้สึกว่าฝนปีนี้น้อยลงเมื่อเทียบกับไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย

          แน่นอนว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผันผวนของฝนในประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับเอลนิญโญและลานิญญาเพียงอย่างเดียว แต่การเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบต่อฝนด้วย โดยจะเพิ่มการผันผวนของสภาพอากาศ (climate variability) นั่นคือ เกิดพายุฝนหนักรุนแรงขึ้น แต่เวลาแล้งก็แล้งได้มากขึ้น คลื่นความร้อนเองก็เกิดได้บ่อยและรุนแรงมากกว่าก่อน ส่วนในประเทศที่เจอพายุหิมะก็สามารถเจอพายุหิมะหนักขึ้นและเจอในช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เรียกโดยสรุปได้ว่าเป็นสภาพอากาศแบบสุดขั้ว (extreme weather) ขึ้นนั่นเอง

เอลนิญโญครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหนและอยู่นานเท่าไร ?

          สำหรับการคาดการณ์สภาวะเอลนิญโญครั้งนี้ สถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศทั่วโลกต่างส่งผลวิเคราะห์จากแบบจำลองมาเปรียบเทียบกัน และ International Research Institute for Climate and Society (IRI) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย[3] ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ พบว่า แนวโน้มเอลนิญโญครั้งนี้โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่างปานกลางถึงรุนแรง โดยน่าจะรุนแรงกว่าเอลนิญโญครั้งล่าสุด คือในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) แต่ไม่รุนแรงเท่าปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยแล้งอย่างหนัก ดังนั้นก็ยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะไม่ได้แล้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เพราะเอลนิญโญ แต่ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยในปีนี้จนกระทั่งถึงปีหน้าจะน้อยลงกว่าในปีที่ผ่านมาแน่นอน และช่วงที่ต้องจับตาดูคือเดือนมีนาคมและเมษายนของปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เป็นฤดูแล้งอยู่แล้ว และประเทศไทยมักจะมีฝนน้อยลงในช่วงเดือนนี้เมื่อเกิดเอลนิญโญอีกด้วย นอกจากผลกระทบจากเอลนิญโญแล้ว ยังมีความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนในไทย และที่แน่ ๆ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศร่วมกับเอลนิญโญจะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น

          ส่วนถามว่าเอลนิญโญครั้งนี้จะอยู่นานเท่าไร ? ผลการวิเคราะห์จาก IRI บอกว่า ณ ตอนนี้ (มิถุนายน ค.ศ. 2023) โลกเราก้าวเข้าสู่สภาวะเอลนิญโญแล้ว คาดการณ์ดัชนี ONI เฉลี่ยจากทุกแบบจำลองบอกว่าจะมีกำลังปานกลางถึงรุนแรงในเดือนกันยายนและตุลาคมของปีนี้ และในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีหน้า จะเริ่มมีโอกาสที่เอลนิญโญผันกลับเป็นสภาวะปกติถึงประมาณร้อยละ 30 แต่ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์และการพยากรณ์จะเปลี่ยนไปทุก ๆ เดือน (สามารถเปิดดูย้อนหลังเปรียบเทียบบนเว็บไซต์ของ IRI ได้ด้วย) เราจึงควรติดตามสถานการณ์เอลนิญโญและลานิญญาอย่างต่อเนื่อง

การปรับตัวของมนุษย์ต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

          ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเอลนิญโญกำลังได้รับความสนใจขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมนุษย์เริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากการที่สมดุลบรรยากาศและมหาสมุทรของโลกถูกรบกวนจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากเกินไป เช่น อากาศที่ “ร้อนซ้อนร้อน” จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  ร่วมกับเอลนิญโญของปีนี้ และเมื่อพบว่าโลกเราอ่อนไหวต่อการรบกวนสมดุลนี้ หลายคนคงเริ่มหันกลับมาใส่ใจ ดูแลรักษาโลกกันมากขึ้น แน่นอนว่าตอนนี้ มนุษย์เราทำได้สองอย่างควบคู่กันไปในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งคือ การลดผลกระทบ (mitigation) ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศผ่านการลดการปล่อยคาร์บอน (รวมถึงแก๊สเรือนกระจกอื่น ๆ) โดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และสองคือ การปรับตัว (adaptation) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออนุรักษ์และลดการเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม เช่น การแยกขยะ การลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น การปลูกป่า ปลูกพืชที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างอาคารเพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันทำได้ ทั้งรายบุคคล รายชุมชน แม้กระทั่งผู้นำประเทศแทบทั่วทั้งโลกได้ลงนามร่วมมือป้องกันการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการลดคาร์บอนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นยิ่งเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน “รักษ์โลก” ได้เร็วเท่าไร ความหวังที่จะป้องกันไม่ให้โลกพบเจอวิกฤตความร้อนอันรุนแรงไปมากกว่านี้ก็ใกล้ขึ้นมาอีกเท่านั้น


อ้างอิง

  1. https://climateadaptation.ucdavis.edu/news/march-2023-earths-2nd-warmest-march-record#:~:text=March%202023%20was%20Earth%27s%20second,of%20the%20El%20Niño%20event
  2. https://oceanservice.noaa.gov/facts/ninonina.html#:~:text=South%20American%20fishermen%20first%20noticed,can%20affect%20our%20weather%20significantly
  3. https://iri.columbia.edu/our-expertise/climate/forecasts/enso/current/

About Author