วิศวะมหิดล ขยายบ่มเพาะวิศวกรผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม ป้อนตลาดรองรับฮับอาเซียน และ FTA ภาษีนมเป็นศูนย์

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ (นานาชาติ) สาขาวิชาเอกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม (DBE) เผยจุดเด่นจากการผนึกความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและต่างประเทศในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมนมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ครบครันอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยมุ่งผลิตวิศวกรอุตสาหการที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม เพื่อรองรับตลาดแรงงานซึ่งมีความต้องการสูง ตลาดส่งออกเขตการค้าเสรี FTA  และการขยายตัวก้าวเป็นฮับผลิตภัณฑ์นม-เครื่องดื่มในอาเซียน

          รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตร ป.ตรีวิศวกรรมอุตสาหการ (นานาชาติ) สาขาวิชาเอกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม (DBE) ซึ่งเปิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี 2560 ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล โดยผนึกความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมผู้นำผลิตภัณฑ์นม เช่น บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด และองค์กรในต่างประเทศ พัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยและตรงความต้องการของตลาด จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมนม-เครื่องดื่มในประเทศไทยและนานาประเทศเติบโตขยายตัวสูง รองรับความต้องการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและไลฟ์สไตล์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยคนทั้งโลก ดื่มนม 113 ลิตรต่อคนต่อปี ทวีปเอเชีย 66 ลิตรต่อคนต่อปี คนไทยบริโภค 18 ลิตรต่อคนต่อปี ยังมีช่องว่างตลาดในประเทศอีกมาก และโอกาสส่งออกที่เปิดกว้างไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและต่างประเทศจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งมีการลดภาษีผลิตภัณฑ์นมเป็นศูนย์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น คือ อุตสาหกรรมนมและเครื่องดื่มของไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และมีความพร้อมที่จะก้าวเป็น ‘ศูนย์กลางอุตสาหกรรมนม-เครื่องดื่มอาเซียน’

          ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ (นานาชาติ) สาขาวิชาเอกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม (DBE)  มีแผนเปิดรับสมัครนักศึกษา ป.ตรี รอบ Portfolio 1/1 ตั้งแต่วันนี้ – 17 ตุลาคม 2565  จุดเด่นของหลักสูตรนี้ ผู้เรียนจะได้รับความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการที่ก้าวหน้าทันสมัย ระบบการผลิตแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing) การผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรม (Advanced Industrial Manufacturing) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer-aided Product Design) ผู้เรียนจะมีสมรรถนะสูงในวิศวกรรมอุตสาหการ การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ ความรู้ทางจุลชีววิทยา วิศวกรรมกระบวนการแบบองค์รวม ตลอดจนความเป็นผู้นำและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เสริมศักยภาพในด้านวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ด้านการผลิตและการจัดการภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ อีกทั้งบ่มเพาะให้มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพอีกด้วย ภายใต้ Eco-System ห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีเครื่องผลิตนมและอุปกรณ์ทันสมัย ที่กระตุ้นการเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนและวิชาชีพในธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

          บัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้ สามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ทำธุรกิจส่วนตัว ทำงานอาชีพในสายงานวิศวกรรมอุตสาหการ การที่บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มยังเป็นการเปิดโอกาสที่กว้างขึ้นทั้งงานในประเทศและนานาประเทศ ซึ่งมีความต้องการบุคคลากรด้านนี้มาก

          คุณสมบัติของผู้เรียน ต้องมีวุฒิการศึกษา ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ 1) กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเกรดเฉลี่ยสะสมอย่างน้อย 4 ภาคการศึกษา (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 3.00,  2) กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษาสุดท้ายในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย, 3) กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษาสุดท้ายในต่างประเทศ, 4) ได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 

          รายละเอียดgเพิ่มเติม  https://www.eg.mahidol.ac.th/egmu/all-tcas/3295-tcas-66-direct-admission-industrial-engineering-intenational-daily-and-beverage.html 

          ติดต่อสอบถาม ดร.ดลพร โทร 081-909-0200 E-mail : donlaporn.sae@mahidol.ac.th

About Author