ม.มหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีไทย-จีน เพื่อควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย

          สมรภูมิแห่งการควบคุมโรคธาลัสซีเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ไม่เคยห่างหายการต่อสู้สู่หนทางรอดแห่งมวลมนุษยชาติที่ลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งไม่อาจเอาชนะได้

          อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการรวมพลังต่อสู้โรคธาลัสซีเมียในกลุ่มประเทศที่มีอุบัติการณ์สูงอย่างเช่นในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนย้ายประชากรเพิ่มขึ้น


อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล

          จำเป็นต้องเตรียมแผนร่วมสร้างฐานข้อมูลเพื่อรับมือกับอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละพื้นที่โดยเร่งด่วนด้วยความรู้เท่าทันอยู่ตลอดเวลา จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย แห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการวินิจฉัยเพื่อขยายผลสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียต่อไป

          ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีพัฒนาการในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียในระดับโมเลกุลตั้งแต่เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

          แต่เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียของสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าประเทศไทยยังคงต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาสู่เทคนิคขั้นสูงให้มีความหลากหลายมากขึ้น

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี Next Generation Sequencing – NGS และ Multicolor Melting Curve Analysis จากการนำสารพันธุกรรม (DNA) มาตรวจเพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษาข้อมูลกลายพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมีย

          แม้ผู้ที่มียีนแฝงหรือเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียจะไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ แต่อาจถ่ายทอดความผิดปกติสู่ลูกหลานได้ ซึ่งในเชิงนโยบายการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยเพื่อการควบคุมโรคธาลัสซีเมีย พบว่าประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีข้อกำหนดในกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

          โดยประเทศไทยกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายเข้ารับการตรวจและประเมินความเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียก่อนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดให้มีการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยเพื่อการควบคุมโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่จดทะเบียนสมรส

          คาดว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ตลอดจนจะเป็นการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับใช้ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียที่แตกต่างร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author