ดาวจระเข้

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในดินแดนกรีกโบราณ มีเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ คัลลิสโต (Callisto) เป็นหนึ่งในผู้ติดตามเทพีอาร์เทมิส (Artemis หรือชาวโรมันเรียกว่า ไดแอนา Diana) เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์

          ซูส (Zeus หรือชาวโรมันเรียกว่า จูปิเตอร์ Jupiter หรือดาวพฤหัสบดี) ราชาแห่งเทพเจ้ากรีก เห็นคัลลิสโตก็เกิดสิเน่หา เมื่อมีโอกาสตอนอาร์เทมิสไม่อยู่ ซูสเลยแปลงร่างเป็นอาร์เทมิสหลอกให้คัลลิสโตเข้าใจผิดว่าเป็นอาร์เทมิส แล้วทำให้คัลลิสโตตั้งท้อง

          หลายเดือนผ่านไป วันหนึ่งขณะอาบน้ำด้วยกัน อาร์เทมิส (ตัวจริง) เห็นคัลลิสโตท้องใหญ่ขึ้นผิดปกติก็รู้ว่าคัลลิสโตท้อง อาร์เทมิสโกรธมากจึงไล่คัลลิสโตไป คัลลิสโตได้คลอดลูกชายชื่อ อาร์คัส (Arcas) กลางป่า

          เฮรา (Hera หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า จูโน Juno) มเหสีของซูส เมื่อทราบเรื่องคัลลิสโตก็เกิดหึงหวงเลยสาปให้คัลลิสโตกลายเป็นหมี ส่วนอาร์คัสนั้นซูสได้แอบเอาไปซ่อนไว้ช่วยให้อาร์คัสไม่โดนเฮราสาปไปอีกคน ซูสฝากอาร์คัสไว้กับเมอา (Maia) ช่วยเลี้ยงดูอาร์คัสจนเติบใหญ่

          เมอาเป็นหนึ่งในลูกสาวทั้ง 7 ของยักษ์แอตลาส (Atlas) กับเทพธิดาพลีโอนี (Pleione) หญิงสาวทั้ง 7 นี้เรียกว่า พลีอาดีส (Pleiades) หรือคนไทยเรียกว่า ดาวลูกไก่ เมอามีลูกชายกับซูสชื่อ เฮอร์มีส (Hermes หรือชาวโรมันเรียกว่า เมอร์คิวรี Mercury) เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร หรือดาวพุธ หรือปรอท เมอาเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่มาของของชื่อเดือน May (พฤษภาคม)

          เวลาผ่านไป 16 ปี กษัตริย์ไลเคออน (Lycaon) แห่งเมืองอาร์เคเดีย (Arcadia) ได้จับตัวอาร์คัสไปเพื่อจะฆ่าสังเวยบูชาเทพเจ้า อาร์คัสได้เรียกให้ซูสช่วย ซูสจึงได้สาปให้ไลเคออนกลายเป็นหมาป่า แล้วอาร์คัสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

          อาร์คัสยังเป็นนายพรานที่เก่งกาจ วันหนึ่งอาร์คัสออกล่าสัตว์ในป่า บังเอิญพบคัลลิสโตแม่ของตนที่ถูกสาปให้เป็นหมี คัลลิสโตจำอาร์คัสที่เป็นลูกได้จึงวิ่งเข้ามาหา แต่อาร์คัสจำแม่ไม่ได้ คิดว่าเป็นหมีที่จะเข้ามาทำร้าย อาร์คัสจึงเล็งธนูไปที่หมีเพื่อจะยิงสังหารหมีเพื่อป้องกันตัว

          โชคดีที่ซูสเห็นเหตุการณ์ทันเวลา และเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมลูกฆ่าแม่ ซูสจึงเสกให้อาร์คัสกลายเป็นหมีมีหางยาว (หมีปกติมีหางสั้น) แล้วจับหางของอาร์คัสโยนขึ้นไปบนท้องฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) จากนั้นก็เสกให้คัลลิสโตหางยาวขึ้นแล้วจับหางของคัลลิสโตโยนตามอาร์คัส กลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ทั้งสองกลุ่มดาวนั้นมีรูปร่างคล้ายกันอยู่ใกล้กัน และเคลื่อนที่วนหากัน

          เฮราเมื่อทราบเรื่องก็สาปให้กลุ่มดาวทั้งสองไม่ให้ลงจากท้องฟ้าเพื่อไม่ให้กินน้ำ


ภาพถ่ายกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดาวจระเข้) และกลุ่มดาวหมีเล็ก โดย Jerry Lodriguss
ที่มาภาพ NASA

          คนแต่ละชาติอาจมองเห็นดาวต่างกัน เช่น คนอเมริกันเห็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นดาวกระบวยตักน้ำใหญ่ (Big Dipper) คนไทยเห็นเป็นดาวจระเข้

          นิทานไทยเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่งแอบเอาทรัพย์สมบัติไปซ่อนไว้ตรงท่าน้ำหน้าบ้านโดยไม่ได้บอกให้ใครรู้ เมื่อเศรษฐีตายไปยังเป็นห่วงทรัพย์สมบัติจึงมาเข้าฝันภรรยา ให้ไปขุดแล้วแบ่งไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตน แต่ภรรยาเมื่อตื่นขึ้นมาก็นึกว่าเป็นเพียงความฝันจึงไม่ได้สนใจ

          ต่อมาเศรษฐีได้ไปเกิดเป็นจระเข้ตัวใหญ่มาว่ายน้ำวนอยู่ใกล้ท่าน้ำหน้าบ้าน ภรรยาเศรษฐีนึกได้ถึงเรื่องที่เศรษฐีมาเข้าฝัน จึงใช้ให้คนไปขุดดูเจอทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก จึงแบ่งส่วนหนึ่งไปทำบุญทอดกฐินที่วัด

          ขณะที่ขบวนเรือทอดกฐินออกจากท่า มีจระเข้ตัวใหญ่ว่ายนำหน้าจนถึงวัด จระเข้ก็จมหายไป และไม่มีใครเห็นจระเข้ตัวใหญ่ตัวนั้นอีกเลย

          จึงถือเป็นประเพณีจนถึงทุกวันนี้ว่า เวลาทอดกฐินจะปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัด

          เทวดาได้เสกให้มีดาวจระเข้บนท้องฟ้า เพื่อเตือนใจให้คนทำความดี

          มีบทสักวาที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับดาวจระเข้คือ

“สักวาดาวจระเข้ก็เหหก

ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว

เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว

น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง

 

ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ

ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง

สกุณาดุเหว่าก็เร่าร้อง

พอแสงทองส่องฟ้าขอลาเอย”

 

          สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU) ได้จัดให้มีการโหวตตั้งชื่อสามัญให้แก่ดาว 47 Ursae Majoris ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ เพื่อให้เรียกง่ายแทนชื่อดาราศาสตร์ที่อาจเรียกยากและจำยากกว่า ผลโหวตปรากฏการณ์ชื่อดาว “ชาละวัน (Chalawan)” ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยชนะจากการประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 พร้อมกับชื่อดาวเคราะห์บริวารของดาวชาละวันคือ ดาวตะเภาแก้ว (Taphao Kaew) และดาวตะเภาทอง (Taphao Thong) นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อดาวสากลเป็นชื่อไทย ชื่อชาละวันเป็นชื่อจระเข้ในนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องไกรทอง ชื่อตะเภาแก้วและตะเภาทองเป็นชื่อลูกสาวเศรษฐีในเรื่อง

          เรื่องย่อมีอยู่ว่า ที่เมืองพิจิตรมี 2 สาวพี่น้องลูกสาวเศรษฐีชื่อ ตะเภาแก้วและตะเภาทองลงเล่นน้ำในคลอง จระเข้ชาละวันเห็นเข้าก็ชอบจึงคาบเอานางตะเภาทองไปไว้ที่ถ้ำทองของตน แล้วแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปงามใช้เวทมนตร์สะกดให้ตะเภาทองหลงรักและยอมเป็นภรรยา

          ฝ่ายเศรษฐีเสียใจมาก ออกประกาศว่าหากใครปราบจระเข้ชาละวันตัวนี้ได้ จะมอบสมบัติของตนให้ครึ่งหนึ่ง พร้อมกับให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้ว

          มีคนอาสามาหลายคนแต่ถูกชาละวันฆ่าตายหมด จนในที่สุดมีหนุ่มหล่อจากนนทบุรีชื่อ “ไกรทอง” มาปราบชาละวันสำเร็จ ได้ทั้งสมบัติ นางตะเภาแก้ว นางตะเภาทอง และนางวิมาลา (จระเข้ภรรยาเก่าของชาละวัน) เป็นภรรยาด้วย


ภาพแสดงการหาตำแหน่งดาวเหนือโดยใช้ดาวที่เป็น 2 ขาหน้าของดาวจระเข้หรือดาวกระบวยใหญ่
ที่มาภาพ NASA

          ดาวจระเข้นั้นช่วยสามารถใช้หาดาวเหนือ (Polaris) โดย 2 ขาคู่หน้าของจระเข้ (ดาว Merak และ Dubhe) ลากเป็นเส้นตรงไปประมาณ 5 เท่า จะเจอดาวเหนือตรงปลายหางของหมีเล็ก

          ดาวเหนือเป็นดาวที่เหมือนปักหมุดอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศเหนือ ไม่ขึ้นและตกเช่นดาวดวงอื่น มีประโยชน์สำหรับหาทิศเหนือ และช่วยการเดินทางในเวลากลางคืน

          บางคนอาจเข้าใจผิดว่าดาวเหนือเป็นดาวที่สว่างมากที่สุดบนท้องฟ้า ความจริงแล้วดาวเหนือเป็นดาวที่สว่างไม่มาก อันดับความสว่างปรากฏการณ์ 2.0 พอเห็นได้ในเมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพฯ ในคืนที่ท้องฟ้าแจ่มใส


ภาพจำลองดาวจระเข้หรือกระบวยใหญ่ (เส้นสีส้ม) ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 20:00 น. กรุงเทพฯ โดยแอป Celestron SkyPortal ดาวน์โหลดฟรี

          ดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าเท่ากับละติจูดที่เราดูอยู่ ตัวเช่น ที่กรุงเทพฯ ละติจูด 14 องศา ดาวเหนือก็สูง 14 องศา, เชียงใหม่ละติจูด 19 องศา ดาวเหนือก็สูง 19 องศา, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ละติจูด 36 องศา ดาวเหนือก็สูง 36 องศา, ที่ขั้วโลกเหนือ ละติจูด 90 องศา ดาวเหนือก็อยู่สูง 90 องศา หรือกลางศีรษะ, ถ้าเป็นประเทศที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรจะมองไม่เห็นดาวเหนือ ตัวอย่างเช่น ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จะไม่สามารถเห็นดาวเหนือได้เลย จึงใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ (Crux) หาทิศใต้แทน

          ในเดือนมิถุนายนตอนหัวค่ำดาวจระเข้จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลองออกไปดูกันนะครับ

About Author