Headlines

ม.มหิดลพบเด็ก กทม. ครองแชมป์ไม่กินผัก สุขภาพเสี่ยงเพราะอาหารไขมันสูง บุหรี่ไฟฟ้า และปัญหาสุขภาพจิต

นับเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ด้วยข้อมูลจากการสำรวจและบทวิเคราะห์เพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและผลักดันนโยบายสุขภาพของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากข้อมูล 7 ตัวชี้วัดทางสุขภาพที่สำคัญจำแนกตามเขตภูมิภาคเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พบเด็กกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ครองแชมป์ไม่กินผัก สุขภาพเสี่ยงเพราะอาหารไขมันสูง และตั้งแต่วัย 15 ปีติดบุหรี่ไฟฟ้า และสุขภาพจิตมีปัญหา

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในเบื้องหลังสำคัญของการรายงานข้อมูลสถานการณ์ทางสุขภาพของคนไทยฉบับนี้ เปิดเผยว่า ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ไปจนถึงชุมชน คือ หน่วยทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่สามารถมีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของคนไทยแต่ละช่วงวัยได้

การขับเคลื่อนรณรงค์ทำให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่ที่ดำเนินการโดยชุมชน สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ในบ้านของครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนได้ถึงร้อยละ 75 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนฉลาดเล่น มีสัดส่วนนักเรียน ป.4 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 37.9 สูงกว่าโรงเรียนทั่วไปซึ่งมีสัดส่วนนี้ที่เพียงร้อยละ 6.9

ด้วยการชี้วัดด้วยตัวเลขทางสุขภาพ แม้ไม่ได้เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็ส่งผลถึงกันได้ โดยการได้ “ยกระดับคุณภาพชีวิต” จะหมายถึงการได้ “ยกระดับทางเศรษฐกิจ” ด้วยเช่นกัน

จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชาติ ด้วยพลังจากงานวิจัยเพื่อทุกคนในสังคมไทยจะได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ดี นอกจาก 7 ตัวชี้วัดพฤติกรรมสุขภาพ การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดกิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุทางถนน ปัญหาสุขภาพจิต และมลพิษทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ในปัจจุบันก็นับเป็นเรื่องที่ทุกคนบนโลกควรใส่ใจเช่นกัน

ในปี 2567 หนังสือรายงานสุขภาพคนไทยจะได้มีการติดตามสรุปผลพวงจากการเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำไปปรับทิศทางนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยและสุขภาพของคนไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงต่อไป ติดตามได้ทาง thaihealthreport.com

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิตินวตาร ดิถีการุณ
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author