เรียนวิทย์ไปทำอะไรดี : ส่งไอเดียสุดปิ๊งไปทดลองจริงในอวกาศ

โดย อินทิราภรณ์ เชาว์ดี


          สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ประสบการณ์อันน่าประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตของฉัน นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี ที่ได้มาเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA

          เหตุผลที่ตัดสินใจสมัครโครงการนี้ เนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านและดูภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์อยู่แล้ว บวกกับความสนใจขณะศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีก็ไปในแนวทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นคิดว่าคงจะดีมากถ้าการทดลองของเราได้ไปทำจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติโดยนักบินอวกาศ เหมือนเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก จึงเริ่มคิดหาการทดลองที่ไม่เคยมีผู้ทดสอบ หรือมีวิธีการทดลองที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยได้แนวคิดมาจากการทดลองที่เคยทำในระดับชั้นปริญญาตรี นั่นคือ การใช้หลอดแก้วแคพิลลารีในการทดลองโครมาโทกราฟีซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการตรวจสอบคุณภาพสาร เลยตั้งสมมติฐานความแตกต่างระหว่างผลการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติกับบนพื้นโลก เผื่อในอนาคตการทดลองนี้อาจจำเป็นต้องใช้ตรวจสอบคุณภาพสารในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ

          เมื่อวันประกาศผลมาถึง ได้รับแจ้งข่าวดีจาก สวทช. ว่าการทดลอง “การศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ” ของฉันเป็นหนึ่งในสองการทดลองของเด็กไทยที่ได้รับการคัดเลือก วันนั้นเป็นวันที่ดีใจมาก อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการปรับปรุงแผนการทดลองเพื่อให้เหมาะสมกับความปลอดภัยและเวลาร่วมกับทั้ง สวทช.และแจ็กซา (JAXA) ทำให้ได้รับประสบการณ์อีกประการ คือ การติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งต้องขอบคุณทั้งคุณปริทัศน์ เทียนทอง หรือคุณเบ้ง (นักวิชาการอาวุโส สวทช.) และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ (ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.) ที่ให้คำปรึกษามาโดยตลอด


เดินทางถึงสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

          การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2566 ฉัน น้องพรีม (นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ) เจ้าของการทดลองเรื่องการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ด้วย และคุณเบ้ง จาก สวทช. ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 23.55 น. และเดินทางไปถึงสนามบินนาริตะในช่วงสายของวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 ได้เจอกับอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 6 องศาเซลเซียส เดินออกไปภายนอกอาคารผู้โดยสารครั้งแรกคุยกับน้องพรีมว่าทั้งหนาวทั้งชื้น แต่สำหรับเด็กที่มาจากเมืองร้อนแบบเราทั้งคู่นั้นก็ชอบมากค่ะ


อาหารมื้อแรกในญี่ปุ่นกับเมนูแนะนำ “จัมปง”

          เราเดินทางโดยรถบัสโดยสารจากสนามบินไปยังเมืองสึคุบะ (Tsukuba) จังหวัดอิบารากิ (Ibaraki) เป็นที่น่าประทับใจมากที่แม้กระทั่งรถบัสยังมาเทียบสถานีจอดได้ตรงเวลาเป๊ะไม่ขาดไม่เกินไปแม้แต่นาทีเดียว เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึงที่หมาย หลังจากเก็บสัมภาระที่โรงแรม Daiwa Roynet Hotel Tsukuba เราก็เริ่มเดินทางทัศนศึกษาเมืองสึคุบะ น่าเสียดายที่ Tsukuba Expo Center ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเมืองสึคุบะปิดทำการวันจันทร์ที่เราไปพอดี ทำให้ได้แค่เก็บภาพจรวดที่ตั้งเด่นเป็นสง่าด้านหน้า จากนั้นเราเดินทางไปรับประทานอาหารมื้อแรกในญี่ปุ่นกับเมนูแนะนำ คือ จัมปง ซึ่งเราเคยแอบถามเจ้าหน้าที่ของแจ็กซาไว้ก่อนหน้านี้


ภาพถ่ายด้านหน้า Tsukuba Expo Center

          บรรยากาศของเมืองสึคุบะจะค่อนข้างเงียบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน แต่ก็ยังมีห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเต็มเมืองไปหมด ทางข้ามม้าลายมีสัญญาณไฟพร้อมเสียงเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่คนในเมือง แม้ว่าเมืองจะค่อนข้างสงบ ไม่มีรถ แต่ผู้คนจะรอข้ามเมื่อสัญญาณไฟเปิดให้คนเดินข้ามเท่านั้น รู้สึกถึงความปลอดภัยในการข้ามถนนมาก ๆ เลยค่ะ ตามพื้นจะสังเกตเห็นฝาปิดท่อน้ำที่แสดงจุดเด่นของเมือง นั่นก็คือ จรวดและอวกาศ คงจะเป็นสิ่งที่คนพื้นที่ภูมิใจพอสมควร


รับประทานอาหารที่โรงแรม Daiwa Roynet Hotel Tsukuba มื้อแรก 

          วันอังคารที่ 17 มกราคม เช้าวันแรกในเมืองสึคุบะ พวกเราได้มารับประทานอาหารที่โรงแรมมื้อแรก มีให้เลือกทั้งอาหารเช้าแบบอเมริกันและอาหารญี่ปุ่น เมื่อทานอาหารจนอิ่มก็เตรียมเดินทางไปร่วมกิจกรรมการทดลองจริงต่อไป ณ ศูนย์อวกาศสึคุบะ (JAXA’s Tsukuba Space Center: TKSC)


(ภาพจาก JAXA)

          เมื่อเดินทางมาถึงด้านหน้าศูนย์อวกาศสึคุบะ เราได้ถ่ายรูปทีมไทยร่วมกันเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำก่อนจะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของศูนย์อวกาศสึคุบะ ซึ่งมีจรวดจำลองรุ่นต่าง ๆ ที่เคยมีการใช้งาน รวมไปถึงส่วนจัดแสดงภายในโมดูลคิโบะ (Kibo module) โมดูลสถานีอวกาศของญี่ปุ่นที่มีขนาดเท่ากับของจริง

         จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย ได้นำเสนอเกี่ยวกับการทดลองของตนเอง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้ฟังแนวความคิดของเพื่อน ๆ ที่มาจากประเทศอื่น ทำให้เห็นถึงพื้นฐานความสนใจในด้านการทดลองและด้านอวกาศของแต่ละคน และเพื่อน ๆ ก็มีหลักการคิดวิเคราะห์สมมติฐานของตัวเองได้ดีมากค่ะ


(ภาพจาก JAXA)

          เมื่อนำเสนอแนวคิดการทดลองเสร็จ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ย้ายมาในห้องรับรองที่ใช้ในการติดตามการทดลองแบบถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนของการทดลองกับนักบินอวกาศญี่ปุ่น คุณทาคุยะ โอนิชิ (Takuya Onishi)


(ภาพจาก JAXA)

          ในส่วนของการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ทดลองโดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น ดร.โคอิจิ วากาตะ (Dr. Koichi Wakata) ซึ่งผลการทดลองที่ได้แม้ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ ของเหลวไม่ถูกดึงโดยแรงดึงจากภาชนะที่เป็นท่อในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ แต่ก็ยังเป็นผลการทดลองที่หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายเพิ่มเติมได้ เช่น ผลของแรงระหว่างโมเลกุลของน้ำที่อยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ และชนิดของวัสดุที่นำมาใช้เป็นพื้นผิวของภาชนะที่ส่งผลต่อแรงดึงของภาชะ ซึ่งคาดว่าหากมีการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำที่ต้องใช้หลักการนี้อาจต้องคำนึงถึงชนิดวัสดุที่จะนำมาใช้ด้วย


ดร.วากาตะและผลการทดลองที่ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ฉันตั้งไว้ (ภาพจาก JAXA/NASA)

          เมื่อสิ้นสุดการทดลองของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ทุกคนได้แยกย้ายกันเข้าที่พัก แต่มิตรภาพระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่สิ้นสุด ฉัน น้องพรีม โฮเซเพื่อนชาวญี่ปุ่น และโรเจอร์เพื่อนชาวไต้หวัน ได้ไปทัศนศึกษากรุงโตเกียวร่วมกันในวันถัดมา คือ วันพุธที่ 18 มกราคม พวกเราแวะไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวังอิมพีเรียล วัดเซนโซจิ โตเกียวสกายทรี ย่านชิบูยะ ระหว่างทางได้ลิ้มลองอาหารและสัมผัสวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นอย่างเพลิดเพลิน ขอบคุณน้องพรีม โฮเซ และโรเจอร์ สำหรับทริปพิเศษนี้ ส่วนเพื่อน ๆ คนอื่นแม้จะไม่ได้สะดวกมาร่วมทริปด้วยกัน แต่ก็ยังได้ติดต่อกันบ้างหลังจากสิ้นสุดกิจกรรม เป็นความประทับใจที่จะไม่มีวันลืมเลยค่ะ

          วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม เราได้เดินทางไปขอบคุณผู้สนับสนุนใจดีที่สนับสนุนงบประมาณการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมของเด็กไทยในครั้งนี้ คือ บริษัท DigitalBlast ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์การทดลองและส่งไปใช้จริงในอวกาศ มีอุปกรณ์หลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์เลี้ยงเซลล์ที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่เล็ก ๆ และสามารถติดตามค่าสำคัญต่าง ๆ เช่น ปริมาณแก๊ส หรือสารในอาหารเลี้ยงเซลล์ พวกเรายังมีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมชิมอาหารอวกาศและได้เข้าเยี่ยมชมภายในบริษัท ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษสุด ๆ

          วันศุกร์ที่ 20 มกราคม ช่วงเช้า ก็ถึงเวลาที่จะต้องบอกลาประเทศญี่ปุ่น พวกเราเดินทางออกจากโรงแรมเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน ณ สนามบินฮาเนดะ และกลับสู่ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ สวทช., JAXA และบริษัท DigitalBlast ที่จัดกิจกรรมดี ๆ และทำให้ฉันได้มีประสบการณ์อันยากจะลืมได้ลงอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสทำตามความฝัน อยู่ล้อมรอบเพื่อนที่เก่งและมีแพสชันในสิ่งที่ตัวเองชอบ หวังว่าประสบการณ์ที่น่าประทับใจนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกคนที่ได้อ่านเช่นกันนะคะ

About Author