โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

Introduction:

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดตาก ดำเนินโครงการเพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้และพื้นที่ต้นแบบการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการอนุญาตใช้ประโยชน์ จากการทำเหมืองแร่สังกะสี เนื้อที่ประมาณ ๒,๐๗๗ ไร่ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว นันทนาการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตราษฎร ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ อีกทั้งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับราษฎร ชุมชนในท้องถิ่นต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดการส่งเสริมด้านการฝึกอบรมปลูกจิตสำนึกของเยาวชนให้มีโอกาสได้เรียนรู้ถึงการรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

  1. ศูนย์อบรมสัมมนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  2. ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าและพืชท้องถิ่น
  3. ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
  4. พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่สังกะสีดอยผาแดง
  5. สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งนันทนาการ
  6. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในโครงการฯ ในด้านการยกระดับเศรษฐกิจชีวิภาพและด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ
เหมืองผาแดง ตั้งอยู่บนดอยพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัย ดำเนินกิจการเหมืองแร่แบบบ่อเปิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 – 2560 

จากการสำรวจพืชในบริเวณป่าในเขตเหมืองแร่ระหว่างปีพ.ศ. 2543 – 2548 พบพืชล้มลุกที่มีความสามารถทนต่อโลหะ สังกะสีและแคดเมียม และบางชนิดสามารถเจริญบนก้อนแร่สังกะสี และมีความสามารถสะสมสังกะสีและแคดเมียมได้สูง เช่น ต้นสังกะสี ต้นว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina) และต้นแห้วกระต่าย (Murdannia spectabilis) 

ต้นสังกะสี มีบันทึกว่าเป็นพืชดัชนี (Indicator plant) บ่งชี้การมีอยู่ของแร่สังกะสีบนดอยพระธาตุผาแดง มีสีแดงอมม่วงในฤดูร้อนและเปลี่ยนเป็นสีเขียวในฤดูฝน ซึ่งการเปลี่ยนเป็นสีแดงของต้นสังกะสีอาจสัมพันธ์กับปริมาณสังกะสี รวมถึงปริมาณแร่ธาตุและจุลินทรีย์ในดิน สภาพภูมิอากาศ แสงแดด และปริมาณน้ำที่พืชได้รับ ปัจจุบันต้นสังกะสีได้หายไปจากพื้นที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เก็บตัวอย่างต้นสังกะสีในพื้นที่ข้างเคียง นำมาผลิตขยายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเพาะขยายพันธุ์พืชหายาก รวมทั้ง นำตัวอย่างต้นสังกะสีที่ได้มาศึกษากลไกการเจริญบนก้อนแร่เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของพืชที่เป็นดัชนีบ่งชี้แหล่งแร่สังกะสีของประเทศไทย

 

 

การใช้ประโยชน์องค์ความรู้เห็ดป่าและราแมลง
เห็ดป่า เป็นแหล่งอาหารคุณค่าทางโภชนาการ มีประมาณโปรตีนและใยอาหารสูง ไขมันน้อยพบได้ในผืนป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และกรมป่าไม้ ได้ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดป่าให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ประชาชน ตลอดจนเด็กนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำเสือ และโรงเรียนบ้านพะเด๊ะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

 

เด็กนักเรียนได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสำรวจเห็ดในพื้นที่รอบโรงเรียน พบว่า มีทั้งเห็ดที่เป็นอาหาร เช่น เห็ดหูหนูดำ เห็ดลม เห็ดแครง และเห็ดที่มีคุณสมบัติเป็นยา เช่น เห็ดหิ้ง เห็ดหลินจือ เป็นต้น  ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศในป่า เห็ดที่เป็นประโยชน์และเห็ดที่เป็นโทษ เด็กนักเรียนได้ถ่ายทอดจินตนาการและความคิดออกมาในรูปแบบศิลปะการปั้นโมเดลเห็ดเสมือนจริง และวาดรูปเห็ดที่สำรวจพบบนกระเป๋าผ้า นอกจากได้กิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ยังสามารถนำไปประกอบอาชีพเป็นของฝากจากชุมชนได้ด้วย 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้จัดเก็บฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ด ราไซลาเรีย และราแมลง จำนวน 198 ชนิด บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมจัดทำข้อมูลป้ายสื่อความหมายเพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้ จากการจัดจำแนกชนิดพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ได้แก่ Purpureomyces maesotensis จำนวน 1 ชนิด และเห็ดดันหมี จำนวน 2 ชนิด คือ Daldinia flavogranulata Daldinia phadaengensi เพื้อใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ต่อไป

 

การวิจัยด้านสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก
องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 11.7 ล้านไร่ คลอบคลุม 6 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี นับได้ว่าเป็นผืนป่าแห่งชีวิตที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและยังเชื่อมติดกับป่าผืนใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ จึงเป็นแหล่งอาศัย แหล่งหาอาหาร แหล่งขยายพันธุ์และแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์สูง มีพันธุ์พืชมากกว่า 3,500 ชนิด และสัตว์ป่ามากกว่า 878

 

 

สัตว์ป่าที่เป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าตะวันตก
เสือโคร่ง (Indochinese Tiger) นับว่าเป็นดัชนีชี้วัด (indicator species) การอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (IUCN red list: Endangered species) ในป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของสัตว์กีบ เช่น กระทิง วัวแดง กวาง หมูป่า เก้ง ฯลฯ และสัตว์กีบเหล่านี้ก็เป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่งนั่นเอง มีการประเมินว่าการที่เสือโคร่งเพิ่มขึ้นหนึ่งตัว อนุมานได้ว่ามีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก 500 ตัว 

 

 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่าในปี 2564 มีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติของประเทศไทยประมาณ 180-200 ตัว แต่มีเพียงสองกลุ่มป่าเท่านั้นที่มีประชากรเสือโคร่งเหลือเพียงพอที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก มีประมาณ 150 ตัว และผืนป่าดงพญาเย็น มีประมาณ 30 ตัว นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งประชากรเสือโคร่งที่สำคัญในการช่วยแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่หรือมีประชากรน้อย

 

นกยูง (Green Peafowl) เป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์เหมือนกับเสือโคร่ง จากการศึกษาของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่า กลุ่มประชากรหลักของนกยูงที่เหลืออยู่ทั้งหมด 6 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกลุ่มประชากร 4 แห่ง ที่พบอยู่ในประเทศไทยในภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตามแนวชายแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยกลุ่มประชากรหลักทางภาคตะวันตกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบจำนวนประชากรนกยูงล่าสุดในปี 2560 ประมาณ 373-512 ตัว หากมีการรักษาระดับการป้องกันพื้นที่และการลาดตระเวนป้องกันการล่าอย่างสม่ำเสมอ คาดการณ์ว่าประชากรนกยูงอาจเพิ่มขึ้นถึง 896-2,081 ตัว ในปี 2634

 

 

นอกจากนี้จากการศึกษาของห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ ยังชี้ให้เห็นว่าผืนป่าตะวันตกเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และหายากระดับโลกอีกหลายชนิด เช่น หมาไน เสือลายเมฆ และเสือไฟ เป็นต้น

ผืนป่าตะวันตกมีความสำคัญต่อการฟื้นคืนจำนวนประชากรสัตว์ป่าสำคัญหลายชนิดและเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญระดับโลกในการอนุรักษ์สัตว์ป่า

 

ด้านเศรษฐหมุนเวียนและพลังงาน
การศึกษารูปแบบการผลิตและใช้พลังงานที่ยั่งยืน 
สวทช. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนในบริเวณพื้นที่โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก โดยติดตั้งระบบให้แสงสว่างด้วยโซล่าร์เซลล์บริเวณพระธาตุผาแดง  พร้อมทั้ง อบรมสร้างความรู้ด้านพลังงานให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และประชาชนโดยรอบ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความตระหนักด้านการใช้พลังงานทดแทน การสาธิตใช้ระบบโซล่าร์เซลล์นี้ทำให้โครงการฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการเดินสายไฟฟ้าไปยังบริเวณพระธาตุผาแดง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กำหนดแผนงาน 5 ปี (2566-2570) ศึกษารูปแบบการผลิตและใช้พลังงานที่ยั่งยืน โดยอาศัยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 แผนงาน ได้แก่ 

  1. แผนงานพัฒนาแผนที่พลังงาน (Energy Map) ครอบคลุมทั้งด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศักยภาพการผลิต/ใช้พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานสู่สวนพฤกษศาสตร์ที่ไม่นำเข้าพลังงาน (Net zero energy botanic gardens) 
  2. แผนงานเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาประชาชนในพื้นที่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน ครอบคลุมทั้งกลุ่มเยาวชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่
  3. แผนงานมวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกับการศึกษาศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ โดยอาศัยการติดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาร่วมกับการติดตั้งสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน

 

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นิทรรศการอื่นๆ :