Line Track Skip to content

เซิร์น สถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง ภารกิจเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานและความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ

เซิร์น สถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง ภารกิจเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานและความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1939 จนสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากของยุโรปได้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยวิสัยทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของยุโรปและสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการมีสถาบันวิจัยทางฟิสิกส์ระดับแนวหน้าในยุโรป การเกิดขึ้นของสถาบันวิจัยนี้เพื่อหยุดยั้งการสมองไหลของนักวิทยาศาสตร์ และเป็นส่วนช่วยให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นของยุโรปอีกครั้งภายหลังสงคราม เซิร์นจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา

สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือเซิร์น (ตามชื่อย่อในภาษาฝรั่งเศสของ Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire, CERN) เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก 12 ประเทศ ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งเพื่อเป็นองค์กรชั่วคราวในปี ค.ศ. 1952 มีหน้าที่เพื่อวางรากฐานการก่อตั้งสถาบันวิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์ขึ้น และการก่อตั้งได้สำเร็จลุล่วงลงในวัน 29 กันยายน ค.ศ. 1954 สถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research หรือ Organisation Européenne pour la Recherche Nucléaire ในภาษาฝรั่งเศส) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา หากแต่ยังคงใช้ชื่อย่อขององค์กร CERN ตามเดิม สถานที่ก่อตั้งองค์กรได้เลือกพื้นที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเจนีวา โดยมีพื้นที่ครอบคลุมพรมแดนระหว่างสมาพันธรัฐสวิส และประเทศฝรั่งเศส

ภาพถ่ายพาโนรามาที่คาดว่าเป็นภาพถ่ายภาพแรกของที่ตั้งของเซิร์นบ้านเล็กๆ
ที่ด้านขวาของภาพ คือ ชายแดนระหว่างสมาพันธรัฐสวิส และประเทศฝรั่งเศส

วัตถุประสงค์ของการเซิร์นนั้นได้เขียนเอาไว้ในอนุสัญญาการก่อตั้งเซิร์น (CERN’s convention) ว่าองค์กรจะต้องจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐในยุโรปในการวิจัยนิวเคลียร์ในรูปลักษณะของการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน และในการวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก องค์กรจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานตามความต้องการทางทหาร และจะต้องเผยแพร่ผลการศึกษาทั้งด้านทดลองและทฤษฎีโดยการตีพิมพ์ หรือเผยแพร่โดยสาธารณะ 

วัตถุประสงค์ของการเซิร์นยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน หากแต่ขอบเขตของงานวิจัยได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องการศึกษาฟิสิกส์อะตอม และฟิสิกส์นิวเคลียร์ เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นไปยังฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น ในปัจจุบันเราจึงได้รู้จักเซิร์นในฐานะสถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคแห่งยุโรป (European laboratory for particle physics หรือ Laboratoire européen pour la physique des particules ในภาษาฝรั่งเศส)

ในปัจจุบันเซิร์นมีจำนวนสมาชิก (Member states) รวม 23 ประเทศ และประเทศที่เป็นสมาชิกสมทบ (Associate Members) และประเทศที่จะเข้าสู่การเป็นสมาชิก รวม 9 ประเทศ สมาชิกของเซิร์นในปัจจุบันไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นประเทศในยุโรปเท่านั้น อิสราเอลเป็นประเทศแรกนอกยุโรปที่เข้าเป็นสมาชิก สำหรับประเทศจากทวีปเอเชียมีอินเดียและปากีสถานที่เป็นสมาชิกสมทบ นอกจากนี้ยังมีประเทศที่มีส่วนร่วมสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของเซิร์นและองค์กรที่ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับเซิร์นเป็นผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) สถาบันร่วมวิจัยนิวเคลียร์ (JINR) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

กลุ่มประเทศสมาชิกของเซิร์น (ณ วันที่ 5 ม.ค. 2021)
https://cds.cern.ch/record/2751160/files/map-etats-membres-2021_Map_EN.png

สำหรับประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับเซิร์น (International Cooperation Agreements, ICAs) เพื่อใช้เป็นกรอบความร่วมมือในการพัฒนาการวิจัยและความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ภาพแสดงระกับความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ของแต่ละประเทศกับเซิร์น
https://international-relations.web.cern.ch/stakeholder-relations/Participation-CERN

ในปัจจุบัน เซิร์นเป็นห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อนุภาคเชิงการทดลองของยุโรปที่เดินเครื่องเร่งอนุภาคที่ทรงพลังที่สุดของโลก ณ ปัจจุบัน (CERN Large Hadron Collider) มีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และพนักงานรวมกันกว่า 2,500 คน และมีนักวิจัยจากทั่วโลกลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งานมากกว่า 12,000 คน

จำนวนผู้ใช้ (User) ที่ลงทะเบียนกับเซิร์น ตามสัญชาติ (ณ วันที่ 27 ม.ค. 2020)
https://cds.cern.ch/record/2708658/files/World_users_by_Nat_2020-01.png

ภารกิจของเซิร์นนั้นรวมถึง:

  1. จัดหาเครื่องเร่งอนุภาค และการสนับสนุน เพื่อทำให้เกิดการวิจัยในระดับแนวหน้า เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของมนุษยชาติ
  2. เป็นศูนย์วิจัยที่เป็นเลิศในระดับนานาชาติของฟิสิกส์พื้นฐาน
  3. รวบรวมนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อผลักดันพรมแดนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

ทุกความคิดเห็นของคุณมีความหมาย

ขอความร่วมมือตอบแบบสอบถามเพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนาในปีต่อๆ ไป

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email

บริการของ สวทช.

สวทช. สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงของการลงทุนวิจัยพัฒนา และเข้าใจการทาธุรกิจเทคโนโลยีดียิ่งขึ้น

การถ่ายทอดเทคโนโลยี

การเงิน ภาษี และมาตรการส่งเสริม

กลไกส่งเสริมธุรกิจ SMEs / Start-up

การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โครงสร้างพื้นฐานสาคัญทางวิทยาศาสตร์ และนิคมวิจัยของประเทศ

สอบถามบริการ สวทช.

ติดต่อ ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์
E-mail: brc@nstda.or.th
Call center: 02 564 8000

นิทรรศการที่น่าสนใจ