ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)
โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
จุดเด่นของงานวิจัย/เทคโนโลยี
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC เป็นโครงการนำร่องของเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เมืองนวัตกรรมของ EECi ศูนย์นวัตกรรม SMC จะช่วยแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่ขาดแคลนแรงงานทักษะที่จำเป็น เครื่องจักรที่ใช้งานอยู่ไม่ทันสมัย ทำให้ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตลดลง ตลอดจนลดการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยแพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform) หรือ แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม
Smart Factory
แพลตฟอร์ม IDA เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ที่จะช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่างๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น เช่น ลดการสูญเสียจากการหยุดเครื่องจักร ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ลดระดับสินค้าคงคลัง ช่วยให้การทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังผลักดันให้ภาคการผลิตสามารถแข่งขันทั้งด้านราคาและเทคโนโลยีกับต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน มีโรงงานเข้าร่วมโครงการในปี 2563 จำนวน 15 โรงงาน และจะขยายไปอีก 500 โรงงาน ภายในเวลา 3 ปี
IDA Platform
และการที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวสู่ Industry 4.0 ได้นั้น ผู้ประกอบการสามารถประเมินความพร้อมด้านอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการใช้ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ Smart Industry Readiness Index: SIRI จะช่วยประเมินความพร้อมของโรงงานใน 3 ด้านหลัก คือ Process, Technology, และ Organization ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการประเมินจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยสถานประกอบการ โรงงาน บริษัท ให้สามารถกำหนดแนวทางและปรับตัวสู่ทิศทางอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นเทคโนโลยีฐานที่สำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง
มาร่วมเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยกันกับ EECi
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผล (Translational Research Hub) และเป็นแหล่งปรับเเปลงเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีของไทย ที่ด้านหนึ่งมีขีดความสามารถสร้างผลงานเเล้วในระดับห้องปฏิบัติการ เเต่ผลงานที่ได้ส่วนใหญ่ยังส่งไม่ถึงผู้ใช้ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขยายผลงานวิจัยเท่าไรนัก และอีกด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศได้มากนัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับการปรับแปลงเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย