ความเป็นมา

         ตามที่ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ได้แก่

(1) เศรษฐกิจชีวภาพ  (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน

(2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

(3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน

(4) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง  

(5) เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน

(6) เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

          เพื่อร่วมเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 15 หรือ 15th NSTDA Annual Conference: NAC2019 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation) ภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการ การแสดงนิทรรศการ การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน

  • ส่วนงานสัมมนามุ่งเน้นนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจใหม่ทั้ง 6 ด้าน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างหัวข้อการสัมมนา ได้แก่ จีโนมิกส์ประเทศไทย: สถานภาพปัจจุบันและทิศทางอนาคต พลิกโฉมดิจิทัลทรานฟอร์เมชันด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 0 เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม และ Smart Farm: เกษตรไทย ยุค 4.0 เป็นต้น

  • การแสดงนิทรรศการประกอบด้วยการแสดงผลงานวิจัยของ สวทช. และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ในปีนี้มุ่งเน้นนำเสนอผลงาน 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายหลัก (Technology Development Group: TDG) ประกอบด้วย
    1) biochemical
    2) precision agriculture
    3) food & feed
    4) cosmeceutical
    5) precision medicine
    6) biopharmaceutical
    7) medicine devices & implants
    8) energy
    9) mobility & logistics
    10) dual-use defense

  • การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบ เป็นกิจกรรมเชื่อมโยงให้นักวิจัยและผู้เยี่ยมชมได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในอนาคต

  • กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการคิด พัฒนาทักษะแบบบูรณาการภายใต้แนวคิดวิทย์คู่ศิลป์