Hempcrete and Hemp concrete

กรรมวิธีการผลิตเฮมม์คอนกรีตจากแกนเฮมม์ผสมเถ้าถ่านหิน

          เฮมพ์กรีต (Hempcrete) หรือ เฮมพ์-ไลม์ (Hemp-Lime) ซึ่งเป็นชื่อขานเรียกทางแถบทวีปยุโรป ถูกพัฒนาขึ้นก่อนปีคริสตศักราช 1990 ที่ประเทศฝรั่งเศส เฮมพ์กรีตเป็นวัสดุก่อสร้างชีวภาพที่ได้จากการผสมแกนเฮมพ์หรือเส้นใยเฮมพ์กับปูนไลม์และน้ำ แต่ถ้าผสมร่วมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และมวลรวมธรรมชาติจะมีชื่อเรียกเป็น เฮมพ์คอนกรีต (Hemp Concrete) สามารถอัดหรือหล่อขึ้นรูปโดยใช้แรงอัดหรือแรงดันในแบบหล่อ เมื่อปูนไลม์ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเซลลูโลสของแกนเฮมพ์จับตัวกันกลายเป็นวัสดุแข็ง เรียกว่า “bonded cellulose insulation”  มีความแข็งแรงมากเมื่อสัมผัสกับอากาศเป็นระยะเวลานาน ส่วนมากใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ประเภทวัสดุก่อผนัง วัสดุเทพื้น วัสดุโครงสร้าง หรือแม้แต่งานฉนวน ที่รับน้ำหนักบรรทุกไม่มาก เฮมพ์กรีต มีคุณสมบัติ น้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ มีคุณสมบัติเป็นฉนวน คลายความร้อนได้เร็ว ดูดซับกลิ่น ไม่ลามไฟ และสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ได้ดี 
        เฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน ทำจากแกนกัญชงหรือแกนเฮมพ์ที่ผ่านการย่อยแกนให้ละเอียดปนหยาบ ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแกนเฮมพ์ด้วยสารอลูมิเนียมซัลเฟต (Al2(SO4)3) ผสมร่วมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์, ปูนไลม์, เถ้าถ่านหินบางส่วน และน้ำ ขึ้นรูปโดยการอัดหรือหล่อก้อนตามขนาดที่ใช้งานทั่วไป

จุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)
          - เฮมพ์กรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน มีคุณสมบัติที่มี น้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ มีความเป็นฉนวน คลายความร้อนได้เร็ว ดูดซับเสียง ดูดซับกลิ่น ไม่ลามไฟ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ได้ดี เหมาะสำหรับเป็นวัสดุโครงสร้างประเภทไม่รับน้ำหนัก
          - เฮมพ์คอนกรีตบล๊อกจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน มีคุณสมบัติด้านกำลัง และความหนาแน่นปานกลางช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้างหลัก มีความเป็นฉนวนในตัว คลายความร้อนได้ดี เหมาะสำหรับเป็นวัสดุโครงสร้างประเภทรับน้ำหนัก
          - เฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน ที่หล่อและอัดขึ้นรูปเป็นบล๊อก สามารถก่อ-ฉาบ-ตกแต่งผิว โดยใช้ปูนก่อ-ปูนฉาบทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาดได้
          - เฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน มีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น และยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่

คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์
          - เฮมพ์กรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน มีคุณสมบัติทางวิศวกรรม เช่น ค่ากำลังอัดอยู่ระหว่าง 20 - 25 กก./ตร.ซม. ค่าความหนาแน่นอยู่ระหว่าง 400 - 800 กก./ลบ.ม. ค่านำความร้อนอยู่ระหว่าง 0.08 - 0.15 วัตต์/ม.°เคลวิน และค่าการทนไฟประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง
          - เฮมพ์คอนกรีตจากแกนเฮมพ์ที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพผสมเถ้าถ่านหิน มีค่ากำลังอัดประมาณ 170 กก./ตร.ซม. ค่าความหนาแน่นประมาณ 1,450 กก./ลบ.ม. ค่าการดูดซึมน้ำประมาณ 15 % และค่านำความร้อนอยู่ระหว่าง 0.22 - 0.28 วัตต์/ม.°เคลวิน ที่อายุ 28 วัน
          - เฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีต ที่ใช้แกนเฮมพ์ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยสารอลูมิเนียมซัลเฟต (Al2(SO4)3) ส่งผลให้ค่ากำลังมีค่ามากกว่าเฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีตที่ใช้แกนเฮมพ์ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพถึง 4 เท่า

การประยุกต์ใช้งาน
          เฮมพ์กรีตและเฮมพ์คอนกรีตจากแกนเฮมพ์ผสมเถ้าถ่านหิน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไปได้ เช่น งานก่อผนังกันความร้อน งานผนังดูดซับเสียง งานโครงสร้าง โครงสร้างเหล็กที่มีความสูงของชั้นไม่มาก งานก่อผนังประเภทที่ไม่รับน้ำหนักบรรทุกและประเภทที่รับน้ำหนักบรรทุก เป็นต้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมหรือในเชิงพาณิชย์ได้

กลุ่มลูกค้า / ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
          กลุ่มลูกค้าที่ใช้วัสดุก่อสร้างทั่วไป / วิศวกร สถาปนิก นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้ที่สนใจวัสดุก่อสร้างธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย  
          กลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กถึงขนาดกลาง และกลุ่มบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง

สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา 
     อยู่ในขั้นตอนยื่นเรื่องขอจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

สถานะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
          เสร็จสิ้นกระบวนการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมพัฒนาในระดับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม




ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

ผศ.ดร.ธีรวัฒน์  สินศิริ  
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โทรศัพท์ 080-334-7718                    E-mail : sinsiri@g.sut.ac.th 

ดร.ศักดิ์สิทธิ์  พันทวี  
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
โทรศัพท์ 089-427-8867                   E-mail : saksit.pantawee@gmail.com

นายพุฒิพัทธ์  ราชคำ 
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โทรศัพท์ 092-686-9900                   E-mail : phutthiphat1982@hotmail.com

ผลงานที่จัดแสดง