ห้องสมุดประชาชนกับการตอบสนองต่อ COVID-19

แนวทางการตอบสนองของห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกาต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการสำรวจของ โดย Public Library Association ภายใต้ American Library Association (ALA)

American Library Association โดย Public Library Association ทำการสำรวจแบบออนไลน์ เรื่อง การตอบสนองของห้องสมุดประชาชนต่อการแพร่ระบาด COVID-19 (แบบสำรวจ) ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. – 1 เม.ย. 2563 เพื่อสำรวจกิจกรรมและการตอบสนองต่อ COVID-19 ของห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนหรือผู้ได้รับมอบหมายในนามของห้องสมุด โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 2,545 ราย ซึ่งคิดเป็น 28% ของห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลจากการสำรวจเป็นการนำเสนอภาพรวมและภาพกว้างของกิจกรรมและการตอบสนองต่อ COVID-19 ของห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ผลการสำรวจหลัก พบว่า 98% ของผู้ตอบแบบสอบ ระบุว่าห้องสมุดปิดอาคารให้บริการเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ยังคงให้บริการชุมชนในรูปแบบอื่น เช่น

  1. ขยายนโยบายการต่ออายุออนไลน์ (76%)
  2. ขยายบริการออนไลน์ เช่น e-books และ streaming media (74%)
  3. เพิ่มโปรแกรมเสมือน (61%)
  4. ขยายบริการอ้างอิง/ความช่วยเหลือแบบออนไลน์ (41%) และทางโทรศัพท์ (38%)

เจ้าหน้าที่ห้องสมุดยังได้ดำเนินการตามขั้นตอนใหม่ๆ เพื่อปรับตัวและตอบสนองความต้องการของชุมชนในช่วงวิกฤต COVID-19 เช่น

  1. ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศออนไลน์ที่ไม่ใช่เรื่อง COVID-19 เช่น กิจกรรมที่สามารถทำได้ที่บ้าน และทรัพยากรสารสนเทศสำหรับผู้ว่างงาน (21%)
  2. ขยายการเข้าถึงบริการ เช่น e-cards การเว้นค่าปรับ การขยายเวลาการยืม-คืน การให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือออนไลน์ และการติดตั้งสายด่วน  (21%)
  3. ส่งหรือกระจายวัสดุห้องสมุด เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับกิจกรรม เช่น เกม และ STEM การส่งทรัพยากรสารสนเทศ และห้องสมุดเคลื่อนที่ (17%)
  4. ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง COVID-19  ทั้งในรูปแบบออนไลน์และฉบับพิมพ์ (17%)
  5. ให้บริการอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น การยืมแล็ปท็อป การขยาย wifi และการบริการพิมพ์ สแกน ถ่ายเอกสาร และแฟกซ์ (13%)
  6. ใช้อุปกรณ์ makerspace เพื่อสร้างเวชภัณฑ์หรือสิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการแพทย์ (12%)
  7. จัดนิทรรศการหรือโปรแกรมกิจกรรมแบบเสมือน (10%)
  8. จัดสรรพนักงานและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนชุมชน เช่น การจัดสรรพนักงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐอื่นในชุมชน และการอนุญาตหน่วยงานภาครัฐอื่นใช้พื้นที่ห้องสมุดเพื่อประชุม (10%)
  9. สนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์ เช่น สื่อ ทรัพยากร และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (7%)
  10. ร่วมแจกจ่ายอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น การมอบหน้ากากแก่โรงพยาบาล การมอบอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและแจกจ่ายอาหารแก่ชุมชน (7%)

มากกว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ประโยชน์จาก social media เพื่อสื่อสารผู้ใช้บริการ รวมถึง

  1. เพื่อแชร์การเปลี่ยนแปลงในบริการของห้องสมุด (95% )
  2. เพื่อโปรโมทบริการและทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด (89%)
  3. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสำรวจสำมะโนประชากร (62%)
  4. เพื่อแชร์ข้อมูล COVID-19 (74%)

อ้างอิงข้อมูล

Public Library Association. Public libraries respond to COVID-19: survey of response & activities. http://www.ala.org/pla/issues/covid-19/surveyoverview