นักวิจัย สวทช. ยกทัพรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Investor’s Day 2023) และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 จำนวน 165 คน

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมแสดงความยินดีกับนักวิจัย สวทช. ที่ได้รับรางวัลในสาขาต่าง ๆ รวม 16 รางวัล ดังนี้

สำนักงานกลาง สวทช.

  1. ดร.จันทร์เพ็ญ ครุวรรณ์ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากผลงานวิจัย “นวัตกรรมอุปกรณ์วิเคราะห์ไมโครพลาสติกแบบพกพาโดยใช้สีย้อมฟลูออเรสเซนต์ไนล์เรด-กราฟีนร่วมกับเทคนิคปัญญาประดิษฐ์”
  2. ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากผลงานวิจัย “MagikTuch – ระบบลิฟต์แบบไร้สัมผัส”

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

  1. ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จากผลงานวิจัย “ระบบวิธีการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์โดยปัญญาประดิษฐ์
  2. ดร.ปัถย์ ศักดิ์ธนากูล ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จากผลงานวิจัย “การเพิ่มความสามารถในการเขียนโปรแกรมสำหรับหน่วยเร่งการประมวลผลผ่านรูปแบบการเขียนโปรแกรมและการเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมด้วยคอมไพเลอร์”

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

  1. ดร.ฌัลลิกา แก้วบริสุทธิ์ และดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก จากผลงานวิจัย “บทบาทของโปรตีน ORF3 ในการควบคุมการเพิ่มจำนวนและความรุนแรงของเชื้อไวรัสพีอีดี สำหรับการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนแรงเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคท้องเสียในสุกร”
  2. ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จากผลงานวิจัย “การถอดรหัสจีโนมของกุ้งกุลาดำเพื่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”
  3. ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จากผลงานวิจัย “การพัฒนากระบวนการแยกลิกนินและผลิตภัณฑ์ร่วมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยวิธีออร์กาโนโซล์ฟระดับโรงงานกึ่งนำร่องสำหรับการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม BCG”
  4. ดร.พนิตา ชุติมานุกูล ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก จากผลงานวิจัย “การระบุยีนทนเค็มในข้าวโดยใช้สายพันธุ์ที่มีการแทนที่ชิ้นส่วนของโครโมโซมที่มีพื้นฐานพันธุกรรมของข้าวขาวดอกมะลิ 105”
  5. ดร.ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จากผลงานวิจัย “บทบาทของไลโซโซมชนิดพิเศษประเภทมีช่องไอออนมิวโคลิปิน”
  6. คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากผลงานวิจัย “PigXY-AMP” ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ไวและรวดเร็วด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว”

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

  1. ดร.วนิดา พงศ์ศักดิ์สวัสดิ์ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากผลงานวิจัย “ระบบเว็บสารสนเทศภูมิศาสตร์แสดงอัตราการกัดกร่อนของเหล็กกล้าโครงสร้างในประเทศไทย”

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

  1. ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จากผลงานวิจัย “บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิเคราะห์สำหรับพัฒนาและออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะฟอสไฟด์ที่จำเพาะต่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเหลวแห่งอนาคต”
  2. ดร.ธีระ บุตรบุรี และดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จากผลงานวิจัย “การปลูกโครงสร้างนาโนของไททาเนียมไดออกไซด์แบบผลึกเดี่ยวที่มีรูพรุนสูงลงบนซับสเตรทตัวนำโดยตรง เพื่อประยุกต์ใช้ในงานเกี่ยวกับการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง”
  3. ดร.สุรัฐ ธีรพิทยานนท์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จากผลงานวิจัย “เครือข่ายปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ”
  4. ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก จากผลงานวิจัย “กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้าแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์”
  5. ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากผลงานวิจัย “ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตผลิตจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง”

“วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และยังเป็นเวทีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพออกสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลก