นักวิจัยนาโนเทคคว้า 9 รางวัล ในวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565

นักวิจัยจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นักวิจัยจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ครั้งที่ 23 ในแนวคิด “นวัตกรรมวิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 292 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมีผลงานของนาโนเทคที่ได้รับรางวัล ได้แก่

ผลงานประดิษฐ์คิดค้น 2 รางวัล

ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ จากผลงานเรื่อง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสจากออร์แกนิคซิงค์ไออน

ดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว ทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ จากผลงานเรื่อง ท่อดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน-ซิลิกาสำหรับระบบพลังงานแสงอาทิตย์เข้มข้น

ผลงานวิจัยระดับดี 2 รางวัล

ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช รางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 จากผลงานเรื่อง สารเรืองแสงอินทรีย์ในช่วงใกล้อินฟาเรดที่ตอบสนองต่อค่าพีเอชสำหรับการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าด้วยการกระตุ้นแสง และ ประจำปี 2565 จากผลงานเรื่อง อนุภาคนาโนพอลิเมอร์ห่อหุ้มสารประกอบเอซา-บอดิปี้สำหรับใช้เป็นระบบนำส่งสำหรับการรักษามะเร็งแบบใช้แสงกระตุ้น

ผลงานวิทยานิพนธ์ 5 รางวัล

ดร.ธีระ บุตรบุรี ทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย รางวัลประกาศเกียรติคุณจาก การออกแบบสถาปัตยกรรมนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเปลี่ยนรูปพลังงานแสงอาทิตย์

ดร.รวีวรรณ ถิรมนัส ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช รางวัลประกาศเกียรติคุณจาก แคปซูลนาโนเพื่อการนำส่งสารเข้าสู่เซลล์การควบคุมการปลดปล่อยและการตรวจวัดในเซลล์

ดร.ดวงพร เครสปี้ ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช รางวัลประกาศเกียรติคุณจาก ลิกนินวัสดุชีวภาพสำหรับระบบนำส่งที่ตอบสนองต่อเอนไซม์และสารตั้งต้นคาร์บอน

ดร.ศิรภัสสร เกียรติพึ่งพร ทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จากงานวิจัย การศึกษาผลของสนามแม่เหล็กที่มีต่อปฏิกิริยาการเติมก๊าซไฮโดรเจนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา เหล็กและทองแดงบนตัวรองรับซิลิกาแมโซพอร์ชนิด MCM-41

ดร.กนกวรรณ ศันสนะพงษ์ปรีชา ทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น จากงานวิจัย การประดิษฐ์อนุภาค อสมมาตรนาโนยานูซและอนุภาคแซทเทิลไลต์ เพื่อนำส่งสารชีวโมเลกุล และรักษาโรคมะเร็ง

วันนักประดิษฐ์ จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” จึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”