เอ็มเทค รับรางวัลดีเด่น อาคารควบคุม ด้านอนุรักษ์พลังงาน ในงาน Thailand Energy Awards 2021

20 ธันวาคม 2564 ณ ห้องภิรัชฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นางสาวศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อํานวยการด้านบริหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลดีเด่น อาคารควบคุมด้านอนุรักษ์พลังงาน ในงาน Thailand Energy Award 2021 โดยมีนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้มอบรางวัล โดยในโครงการประกวด Thailand Energy Awards ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวด 4,067 โครงการ และมีผู้ได้รับรางวัล 1,099 ผลงาน ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้สูงถึง 2.02 ล้านตัน

นางสาวศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อํานวยการเอ็มเทค กล่าวว่า “ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) มีแนวนโยบายในการบริหารจัดการเรื่องการใช้พลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม กล่าวคือ เรามีนโยบายเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและการทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (อาคารเขียว) ควบคู่กัน มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้ถือว่าการใช้พลังงานอย่างประหยัดเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนทุกระดับชั้น รวมถึงการกำหนดเลือกใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยี และวิธีการที่เหมาะสมที่จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลประหยัดอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของการดูแลสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคาร ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กรที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างเรา ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญและลงรายละเอียดกับทุกๆกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งที่จะเกิดภายในพื้นที่ของเราเอง รวมถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมโดยรอบ คือเราจะไม่ปลดปล่อยของเสีย ทั้งในรูปของกลิ่น ก๊าซ หรือน้ำเสียออกสู่ภายนอก ก่อนที่จะมีการบำบัดให้ปลอดภัยอย่างเด็ดขาด”

นางสาวศิริวรรณ กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้เอ็มเทคยังมีแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน คือ เริ่มจากสำรวจและจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานที่เครื่องจักรขนาดใหญ่ ทั้งหมดที่มี พร้อมกับการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการทำแผนการอนุรักษ์พลังงาน จากนั้นเราเริ่มจากการทำมาตรการที่ลงทุนน้อย และสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือทรัพยากรที่เรามีก่อน เช่น การรณรงค์การลดละเลิกการใช้ไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น การเปลี่ยนหลอดไฟ การควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ตามความจำเป็น เพื่อให้การใช้พลังงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด แล้วจึงเริ่มทำมาตรการที่ต้องลงทุนสูง โดยก่อนการลงทุนเราจะมีการศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในด้านความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เงินลงทุน ผลตอบแทน ระยะเวลาคืนทุน ความสามารถในการ Operate และบำรุงรักษา โดยหน่วยงานเอง ค่าใช้จ่ายในการซ่อมและบำรุงรักษา ตลอดระยะเวลาของอายุการใช้งาน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต เป็นต้น”