นักวิจัย นาโนเทค สวทช. เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2564 จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

นักวิจัย นาโนเทค สวทช. เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2564 จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในรูปแบบออนไลน์

ดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประจำปี 2564 ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “แอปตาเซ็นเซอร์สำหรับวิเคราะห์อัลบูมินในปัสสาวะเพื่อประกอบการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง”จากการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์การแพทย์วิถีใหม่ เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย : New Normal Medical Sciences for Thai Health and Economics” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 29 แบบออนไลน์ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้าทางวิทยาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อที่จะได้พัฒนาและร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ผลงานวิจัย แอปตาเซ็นเซอร์สำหรับตรวจอัลบูมินในปัสสาวะในงานวิจัยนี้มีส่วนประกอบหลักเป็น สารละลายแอปตาเมอร์ที่ถูกติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์ และสารละลายกราฟีนออกไซด์ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้คุณสมบัติของ กราฟีนออกไซด์ที่มีความสามารถในการยับยั้งการส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์เมื่อบ่มรวมกับแอปตาเมอร์ที่ติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์สำหรับตรวจวิเคราะห์โปรตีนอัลบูมิน หลักการคือแอปตาเมอร์ที่ติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์เมื่อจับกับกราฟีนออกไซด์แล้ว จะยับยั้งการส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ โดยในสภาวะที่มีโปรตีนอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนเป้าหมายอยู่ แอปตาเมอร์จะหลุดจากกราฟีน ไปจับกับโปรตีนอัลบูมิน และส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ โดยระดับของสัญญาณฟลูออเรสเซนต์จะสูงขึ้นเมื่อความเข้มข้นของโปรตีนอัลบูมินสูงขึ้น โดยแอปตาเซ็นเซอร์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้มีค่า LOD และ LOQ ต่ำถึง 0.05 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และ 0.15 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งมีความไวในการตรวจวัดดีกว่าวิธีมาตรฐานตามโรงพยาบาลทั่วไป (LOD 20-200 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) ขึ้นกับบริษัทผลิตจึงสามารถ ใช้ติดตามความผิดปกติของไต หรือหน้าที่ของไตในระยะเริ่มต้นได้ เนื่องจากอัลบูมินรั่วในปัสสาวะเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ของความผิดปกติของไต อีกทั้งชุดตรวจอัลบูมินในปัสสาวะที่พัฒนาขึ้นนี้ยังสะดวกในการใช้งาน โดยระยะเวลาในการตรวจวัดคือ 10-30 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังได้ยื่นจดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้นแบบนี้ในวารสารนานาชาติแล้ว อีกทั้งยังได้รับอนุญาตจาก อย ให้เป็นสถานที่ผลิตชุดตรวจดังกล่าวได้อีกด้วย

โดยหลังจากผลงานแอปตาเซ็นเซอร์ตรวจอัลบูมินในปัสสาวะที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร และตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้ว ได้นำไปใช้ในการตรวจโปรตีนอัลบูมินรั่วในปัสสาวะของชาวบ้านในชุมชน ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ผ่านโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ทั้งนี้ผลการตรวจวัดถูกนำส่งให้ อสม เพื่อชี้แจงผลกับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคล เพื่อแนะนำให้ปรับพฤติกรรม รักษาสุขภาพมากขึ้น ตามแนวทาง และแผนการดำเนินงานของโครงการชะลอโรคไตเรื้อรัง หรือปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง นอกจากนี้ทางโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ได้ขยายพื้นที่การใช้ชุดตรวจไปยังอีก 7 รพสต ในอำเภอน้ำพอง อำเภอหนองเรือ และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2563 ถึง สิงหาคม 2564 อีกด้วย