“ความภาคภูมิใจในตัวเอง” เป็นหนึ่งแรงพลังที่ทำให้คนเราตระหนักรู้ถึงความสุขในสิ่งที่ทำ ปลุกความหวัง สร้างความสดชื่นให้จิตใจโดยเฉพาะในวันที่เดินเข้าสู่ช่วง “ชีวิตสูงวัย”

 

“คุณสวัสดิ์ การะหงษ์” วัย 65 ปี เจ้าของ “ลุงสวัสดิ์ฟาร์มไส้เดือนดินริมปิง” และอดีตผู้บริหารหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ก็เช่นกัน แม้พื้นฐานชีวิตจะเป็นเกษตรกร แต่ลุงสวัสดิ์คลุกคลีกับงานบริหารท้องถิ่นมากว่า 30 ปี เส้นทางการเติบโตที่มั่งคงในงานบริหารท้องถิ่นจากผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จนถึงรองนายกเทศมนตรีตำบล แต่ในใจกลับมีความรู้สึกบางอย่างที่คลอนแคลน

“อยู่ในสังคมที่กว้างมาก แต่ความรู้เราแค่ป.4 ไปไหนก็ไม่มั่นใจที่พูดคุย และเดี๋ยวนี้เด็กจบใหม่มีความรู้ รู้จักใช้เทคโนโลยี แต่เราไม่มี อายเด็กรุ่นใหม่ มีวันนึง เจ้าหน้าที่ให้ช่วยปิดคอมพิวเตอร์ ลุงก็ดึงปลั๊กออกเลย” ความรู้สึกที่คลอนแคลนสะสมมาเนิ่นนานย้อนให้ลุงสวัสดิ์ได้ทบทวนและวางเส้นทางในช่วงชีวิตบั้นปลาย

เมื่อไส้เดือนดินย่อยขยะในใจ

การได้พบปะผู้คนหลากหลายวงการถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งในช่วงที่ลุงสวัสดิ์ทำงานบริหารท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ลุงได้พบเส้นทางในชีวิตหลังเกษียณ

“ลุงไปอบรมเรื่องการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนจากอาจารย์อานัฐ ตันโช ม.แม่โจ้ พื้นฐานลุงก็ทำเกษตรอยู่แล้ว ฟังแล้วก็สนใจ ดูแลง่าย ใช้แรงไม่มาก น่าจะทำได้” หลังการอบรมในปี 2556 ลุงสวัสดิ์กลับมาทดลองเลี้ยง  เรียนรู้และปรับประยุกต์วิธีเลี้ยงจนสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดินจำหน่ายได้ถึงเดือนละ 1 ตัน มีรายได้กว่า 20,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้จากการทำงานปกครองท้องถิ่น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น ไส้เดือนดินได้ย่อยสลายความไม่มั่นใจในตัวลุงกลายเป็นปุ๋ยความภาคภูมิใจในตัวเอง

“อยู่ตรงนี้ลุงสามารถพูดคุยได้ ให้ความรู้เขาได้ เปลี่ยนความรู้สึกเลยนะ จบป.4 มีคนเชื่อถือ อย่างน้อยครูบาอาจารย์ยกย่องให้เป็นวิทยากร”

จากไส้เดือนดินสู่ “หนอนแม่โจ้” โปรตีนสูง

แม้ “ลุงสวัสดิ์ฟาร์มไส้เดือนดินริมปิง” จะสร้างความมั่นคงทั้งรายได้และจิตใจให้ชีวิตหลังเกษียณ แต่โอกาสของชีวิตเปิดให้ลุงสวัสดิ์ได้เข้าไปรู้จักงานวิจัย “หนอนแม่โจ้” ของดร.อานัฐ ตันโช ทำให้ลุงสวัสดิ์เห็นช่องทางที่จะขยายธุรกิจของตนเอง

“ตอนที่ไปอบรมเรื่องหนอนแม่โจ้ อาจารย์วิจัยแล้วว่ามีโปรตีน 42% เยอะกว่าหนอนไม้ไผ่ หนอนไม้ไผ่กิโลกรัมละ 300-400 บาท ลุงก็มองว่าน่าจะลองเลี้ยงหนอนแม่โจ้ขาย และพอเห็นรูปในสไลด์ของอาจารย์ ก็คุ้นว่าบ่อไส้เดือนดินของลุงก็มีนี่ กลับมาดูในบ่อที่ฟาร์ม เจอเยอะมาก ถ่ายวิดีโอส่งให้อาจารย์ดูเลย”

จากวันนั้นลุงสวัสดิ์ทดลองเลี้ยงหนอนแม่โจ้ อาศัยการสังเกต เรียนรู้ และลองผิดลองถูก จนปรับเป็นวิธีเลี้ยงของตนเอง และได้ผลผลิตถึง 30 กิโลกรัมต่อวัน

“ลุงเลี้ยงหนอนแม่โจ้เพื่อขาย เพราะฉะนั้นก็ต้องหาวิธีที่ทำให้ได้หนอนจำนวนมาก อาจารย์มีทฤษฎี แต่ลุงปฏิบัติ ลุงรับความรู้มา อะไรดีเก็บไว้ อันไหนเห็นว่ายังไม่ดีก็วางไว้”

วิชาการ-วิชาตน

ความรู้จากห้องอบรมสู่ห้องเรียนกว้างหลังบ้าน พื้นที่ปลูกองุ่นถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงเลี้ยงหนอนแม่โจ้ มีโรงเลี้ยงไส้เดือนอยู่ด้านหลัง ภายในโรงเลี้ยงมีกระบะพลาสติกสีฟ้าวางเรียงบนชั้นเหล็ก แต่ละกระบะมีหนอนแม่โจ้ตัวเล็กตัวน้อยคืบคลานกินอาหารสูตรใหม่ที่ลุงสวัสดิ์ประยุกต์ใหม่

“ลุงอยู่บ้านนอก ขยะอินทรีย์ไม่ค่อยมี ลุงสังเกตว่าหนอนนี้เคยเจอในบ่อไส้เดือน ก็น่าจะอยู่ในน้ำหมักได้ ลุงก็ใช้น้ำหมักจากฟาร์มไส้เดือนมาผสมกับอาหารไก่และรำ ระยะเวลาเติบโตของหนอนวัยนี้ประมาณ 30-35 วัน พบว่าตัวหนอนมีขนาดใหญ่กว่าจากที่เลี้ยงด้วยขยะอินทรีย์ และไม่มีกลิ่นเหม็น ลูกค้าที่ต้องการหนอนตัวใหญ่ก็จะชอบ เขาเอาไปเป็นอาหารให้ไก่ชน ปลามังกร ตุ๊กแก ส่วนคนที่ต้องการหนอนตัวเล็กเพื่อเอาไปเลี้ยงนก ลุงก็เก็บที่ 20 วัน”

นอกจากอาหารหลักเลี้ยงหนอนแม่โจ้แล้ว ลุงสวัสดิ์ยังได้ประยุกต์วิธีการเลี้ยง การให้อาหารของพ่อแม่พันธุ์ และอุปกรณ์วางไข่ของแม่พันธุ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและให้จำนวนไข่เพิ่มมากขึ้น

“เดี๋ยวนี้ลุงไม่ได้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในโรงเลี้ยงแล้ว แต่ปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ ลุงก็แค่เอาน้ำหวานไปพ่นตามต้นไม้ใกล้โรงเลี้ยงไส้เดือน ลุงใช้น้ำหวานเฮลซ์บลูบอยผสมน้ำ ไม่ต้องเสียเวลามาเคี่ยวน้ำตาล ขวดหนึ่งใช้ได้นานและยังมีกลิ่นหอมดึงดูดแมลงได้ดี แล้วลุงตัดฟิวเจอร์บอร์ดเป็นแผ่นเล็กๆ มัดรวมเป็นชั้น เอาไปแขวนไว้ในถังอาหารหมักเป็นที่วางไข่ของแม่พันธุ์ ถังละ 3-5 จุด แทนที่จะวาง 1 จุดต่อถัง ฟิวเจอร์บอร์ดลงทุนครั้งเดียว แต่ใช้ได้หลายครั้ง หลังจากย้ายไข่แล้ว ก็เอามาล้างน้ำ ใช้ซ้ำได้ แต่ถ้ากระดาษลูกฟูก เปียกน้ำแล้วก็ต้องทิ้ง”

การตลาดของคนสูงวัย

แม้ลุงสวัสดิ์จะผลิตหนอนแม่โจ้ได้ถึงวันละ 30 กิโลกรัม มีทั้งลูกค้าที่มาซื้อไปเป็นอาหารของสัตว์ และลูกค้าที่ซื้อเพื่อไปจำหน่ายต่อ แต่ปริมาณที่ผลิตได้ก็ยังมากกว่าปริมาณการซื้อ ซึ่งลุงสวัสดิ์ยอมรับว่านั่นคือจุดอ่อนของตนเองในเรื่องการตลาด

“คนที่จะเลี้ยงหนอนแม่โจ้เป็นธุรกิจ ต้องวางแผนและหาตลาด คนรุ่นใหม่รู้จักการใช้เทคโนโลยี ใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางขาย ลุงก็อยากทำขายเอง แต่ลุงไม่ถนัด และเรื่องขนส่งก็ลำบาก เพราะลุงอยู่ไกล”  

ปัจจุบันลุงสวัสดิ์ขายหนอนแม่โจ้กิโลกรัมละ 300 บาทให้กับลูกค้า แม้จะรู้ว่าหลายคนบวกราคาเพิ่มเมื่อไปขายบนสื่อโซเชียล แต่ลุงสวัสดิ์มองว่า “อาศัยกันและกัน” ในเมื่อลุงเป็นผู้ผลิต ก็ต้องอาศัยคนที่จะเอาไปขาย ซึ่งเขาก็ต้องมีกำไร นอกจากนี้หนอนแม่โจ้ที่ผลิตได้ ลุงสวัสดิ์นำไปฝากแช่เย็นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางการจำหน่าย 

“ลุงไม่ถนัดเรื่องตลาด แต่ถ้าเรื่องลงมือปฏิบัติ ลุงมั่นใจ อย่างฟาร์มหมูที่อุดรธานี ต้องการเลี้ยงหนอนแม่โจ้เอาไปเป็นอาหารให้หมู ลุงก็ไปช่วยสอน ตอนนี้เขาผลิตเองได้แล้ว แต่ยังไม่พอ ลุงก็ให้คำแนะนำเพิ่ม”

สุขที่ได้ทำ

ในวัย 65 ปี ลุงสวัสดิ์ทำฟาร์มไส้เดือนดินและหนอนแม่โจ้เป็นงานหลัก ทำเองทุกขั้นตอน มีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน เปิดฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้คนที่สนใจ เป็นวิทยากรให้ความรู้ในหลายหน่วยงาน ใครใคร่เรียนรู้ ลุงยินดีถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ให้หมด

“คนที่ฟังลุง ไม่ต้องเชื่อลุง ไปลองทำก่อนแล้วค่อยเชื่อ การเลี้ยงไส้เดือนดินและหนอนแม่โจ้ ใช้งบไม่เยอะ ดูแลง่าย จะไปไหนก็ไม่ต้องกังวล ให้อาหารทิ้งไว้ พอครบเวลาที่จะเก็บ ก็เก็บง่าย ไม่ต้องใช้แรงเยอะ ลุงว่าอยู่ที่ใจ ลุงทำเพราะใจรัก อย่างหนอนแม่โจ้ลุงเริ่มต้นจากกระบะน้อยๆ จนเป็นร้อยกระบะ ยิ่งคนสูงอายุอย่างลุงด้วย วัยนี้ไม่มีคนจ้างแล้ว แต่เราสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวได้ ดีใจแล้ว”

# # #

สวทช. สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาให้ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช และทีมวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

“ไส้เดือนดิน-หนอนแม่โจ้” สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้สูงวัย