ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง จากสมรภูมินองเลือด สู่ตราสีเลือดแห่งความเท่าเทียม

          ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง (Jean Henry Dunant) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ อังรี ดูนังต์ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 ในครอบครัวชาวสวิสที่มีฐานะดีและเป็นสายบุญ ทุกคนในบ้านนิยมทำงานการกุศลกันอยู่เสมอ ตัวเขาเองจึงได้ซึมซับรับเอาจิตสาธารณะนี้ไว้เต็มๆ

          ชีวิตการงานของดูว์น็องเริ่มต้นที่การเป็นพนักงานธนาคารในเจนีวา ก่อนจะผันตัวไปเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพอตัว ครั้งหนึ่งเขาวางแผนทำธุรกิจในแอลจีเรีย แต่มีปัญหาติดขัดกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น จึงวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งประทับอยู่ที่สนามรบในเมือง Solferino ทางตอนเหนือของอิตาลี เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจนี้ (แอลจีเรียเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส)

          เมื่อดูว์น็องเดินทางไปถึง แทนที่จะได้ไปนำเสนอแผนธุรกิจตามที่วางไว้ เขากลับตัดสินใจเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยทีมแพทย์ดูแลทหารบาดเจ็บจากสงครามแทน เขาช่วยเหลือทุกอย่างที่จะทำได้ ไม่ว่าจะช่วยจัดหาน้ำ อาหาร เสื้อผ้า ช่วยทำแผล ทำความสะอาด ทำสารพัดงานที่พอจะช่วยได้

          หลังจากจบสงคราม Solferino ในปี พ.ศ. 2402 ดูว์น็องยังอินกับเรื่องราวที่เกิดขั้น เขากลับมาเขียนหนังสือเรื่อง Un souvenir de Solférino (A memory of Solferino) ที่ไม่เพียงบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอ แต่ยังนำเสนอไอเดียใหม่ๆ พร้อมแผนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทหารบาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามด้วยมนุษยธรรม ไม่แบ่งฝักฝ่าย ไอเดียนี้เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน และนำมาซึ่งการก่อตั้ง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross)” ขึ้นในปี พ.ศ. 2406 ซึ่งเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและทำหน้าที่เลขานุการ

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2407 อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ฉบับแรกได้ระบุสาระสำคัญที่ดูว์น็องเขียนเอาไว้ด้วยว่า ในยามสงครามทุกฝ่ายจะต้องให้ความช่วยเหลือทหารบาดเจ็บอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเขาแยกเรา รวมทั้งกำหนดให้หน่วยแพทย์และอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ของทุกประเทศที่ทำงานในพื้นที่ใช้สัญลักษณ์สากลคือ กาชาดสีแดงบนพื้นขาว (red cross) หรือเสี้ยววงเดือนแดง (red cresent) สำหรับประเทศมุสลิม (ปี พ.ศ. 2548 มีการเพิ่มสัญลักษณ์คริสตัลแดง (red crystal) เข้ามาสำหรับประเทศที่ไม่ต้องการใช้สัญลักษณ์ทั้งสองที่กล่าวมา)

          คณะกรรมกาชาดระหว่างประเทศดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเข้มแข็งทั้งในภาวะสงครามและยามสงบ ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นดี แต่ชีวิตของอ็องรี ดูว์น็อง กลับตาลปัตร จากชาติกำเนิดที่มั่งมี ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสวยหรู โครงการที่วาดฝันไว้ก็กำลังดำเนินไปด้วยดี ชีวิตที่เคยเจริญรุ่งเรืองขั้นสุด จู่ๆ กลับรุ่งริ่งดำดิ่งสุดๆ ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

          ธุรกิจเขาเริ่มมีปัญหาจนถึงขั้นล้มละลาย ต้องลาออกจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ แม้แต่เมมเบอร์ก็ไม่ได้เป็น เขากลายเป็นคนเร่ร่อน และหายหน้าหายตาไปจากสังคม

          ปี พ.ศ. 2438 มีนักข่าวไปเจอดูว์น็องที่สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไฮเด็น เมืองเล็กๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ และเขียนข่าวเกี่ยวกับเขา มีหลายคนส่งข้อความให้กำลังใจ ขอบคุณ และชื่นชมในสิ่งที่เขาเคยทำไว้ ดูว์น็องกลับมามีตัวตนอีกครั้ง และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ร่วมกับ Frédéric Passy (เฟรเดริก ปาสซี) นักสันตินิยมชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2444

          อ็องรี ดูว์น็อง ยังเป็นผู้ให้จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาไม่ได้ใช้เงินรางวัลที่ได้รับมาสักฟรังก์ แต่บริจาคให้สถานดูแลผู้ป่วยและทำการกุศลอื่นๆ จนหมด ดูว์น็องเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในวัย 82 ปี

          ในปี พ.ศ. 2491 the International Red Cross และ Red Crescent Movement ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของดูว์น็อง เป็นวันกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงโลก (World Red Cross and Red Crescent Day) เพื่อเป็นเกียรติและเพื่อระลึกถึง “อ็องรี ดูว์น็อง”


ที่มา

About Author