“ประจำเดือน” แสนสนุกและตื่นเต้น

เรื่องโดย ปัญญาวุฒิ โทณานนท์


 

          เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมผู้หญิงถึงมีประจำเดือน? โดยตัวของผู้เขียนแล้วถือเป็นคำถามที่น่าสนใจที่สุดในสรีรวิทยาของมนุษย์ ประจำเดือนทำให้ผู้หญิงเสียเลือดปริมาณมากทุกเดือน อ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง หากมองในเชิงวิวัฒนาการ ประจำเดือนควรนับเป็นจุดอ่อนของสิ่งมีชีวิต และควรถูกคัดออกตามทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติ ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่าเรื่องจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ผู้หญิงยังคงมีประจำเดือนอยู่ทุกๆ เดือน น่าสนใจอย่างยิ่งที่มีเพียงมนุษย์ ลิงโลกเก่าบางกลุ่ม และค้างคาวเท่านั้นที่มีประจำเดือน นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มรวมถึงนักมานุษยวิทยาจึงพยายามเสนอทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฎการณ์นี้

          กลับไปที่เรื่องของประจำเดือน ประจำเดือนหรือเมนส์เป็นกระบวนการทางชีววิทยาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นทุกเดือนตามที่ชื่อบอก สิ่งแรกสุดที่เกิดขึ้นหลังจากการตกไข่ คือเอนโดมีเทรียมหรือเยื่อบุมดลูกชั้นในจะหนาขึ้นแปรผันตามปริมาณฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งทำหน้าที่เตรียมพร้อมมดลูกและร่างกายให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ เมื่อเอนโดมีเทรียมหนาขึ้นจะสร้างโครงสร้างเส้นเลือดที่ซับซ้อนอยู่ภายใน เมื่อเวลาผ่านไป หากไม่เกิดการการฝังตัวของเอมบริโอหรือตัวอ่อนที่เอนโดมีเทรียม ปริมาณฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะตกลง เอนโดมีเทรียมและโครงสร้างเส้นเลือดจะหลุดออกผ่านช่องคลอดและเลือดนี้เรียกว่า “ประจำเดือน” โดยทั่วไปประจำเดือนหนึ่งครั้งจะเสียของเหลวประมาณ 30 – 90 มิลลิลิตร ในสามถึงเจ็ดวัน

          ความเชื่อแรกเริ่มในศตวรรษที่ยี่สิบเกิดจากมุมมองต่อเพศสภาพที่แตกต่างจากในปัจจุบัน ในสมัยนั้น เราเชื่อว่าประจำเดือนเป็นการขับสารพิษออกมาทางช่องคลอด แต่การทดลองดังกล่าวไม่สามารถเชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากความลำเอียงของผู้ทำการทดลองและการออกแบบการทดลองที่ไม่ดี รวมถึงเราไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดถึงสารพิษในประจำเดือน ทฤษฎีต่อมาเสนอว่าประจำเดือนเป็นกระบวนการทำความสะอาดช่องคลอด แต่การทดลองหลังจากนั้นแสดงหลักฐานขัดแย้งว่าแท้จริงแล้วประจำเดือนได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากเลือดมีทั้งเหล็ก โปรตีน และน้ำตาล ซึ่งเป็นสภาวะเหมาะสมในการเติบโตของแบคทีเรีย จริงๆ แล้วด้วยสถิติทางการแพทย์ระบุว่าผู้หญิงจะมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตและควรจะถูกคัดออกตามทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติเช่นกัน

          คำตอบของคำถามนี้สามารถมองได้ด้วยมานุษยวิทยาเชิงวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีมดลูก และตัวอ่อนพัฒนาในร่างกายของแม่ เราสามารถมองเรื่องนี้ได้ด้วยทฤษฎีต่อจากนี้

          ทฤษฎีที่น่าสนใจในลำดับแรกเสนอโดยนักมานุษยวิทยาชื่อเบเวอร์ลี สตราสมัน (Beverly Strassmann) ใน ค.ศ. 1996 เสนอว่าประจำเดือนเกิดจากการดูดซับเอนโดมีเทรียมเข้าสู่ร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ เมื่อวิเคราะห์จากทรัพยากรที่ใช้ระหว่างการมีประจำเดือน สตราสมันเสนอว่ามันจะคุ้มค่าเมื่อสัตว์สร้างและทำลายเอนโดมีเทรียมทุกเดือน มากกว่าที่เรารักษาเอนโดมีเทรียมให้พร้อมต่อการฝังตัวของเอมบริโอตลอดเวลา การรักษาเอนโดมีเทรียมไว้ต้องใช้ปริมาณฮอร์โมนและเลือดปริมาณมากที่ไหลเวียนอยู่ในอวัยวะที่ไม่ได้ใช้ ดังนั้นสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ จึงเลือดที่จะสร้างและทำลายเอนโดมีเทรียมทุกๆ เดือน ต่อมาสตราสมันเสนอว่า สัตว์เกือบทั้งมดสามารถดูดซึมเอนโดมีเทรียมกลับสู่ร่างกายหากจำเป็น ในกรณีของมนุษย์ เนื้อเยื่อของเอนโดมีเทรียมที่มากเกินกว่าร่างกายจะดูดซับไหวจะไหลออกมากลายเป็นประจำเดือน

          ทฤษฎีต่อมาของ คอลิน ฟินน์ (Colin Finn) ในค.ศ. 1998 มองเรื่องนี้ในมุมกลับ ฟินน์เสนอว่าการอธิบายสาเหตุของประจำเดือนจะต้องมองย้อนกลับไปที่สรีรวิทยาการสืบพันธุ์ของเพศหญิง เขาเสนอว่าพัฒนาการของเอมบริโอและเอนโดมีเทรียมไม่ได้พัฒนาเข้าหากันแต่พัฒนาแบบแข่งขันกัน เนื่องจากแม่และลูกไม่ได้มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกันทั้งหมด แต่ลูกได้ใช้รหัสพันธุกรรมครึ่งหนึ่งร่วมกันกับพ่อ ดังนั้นลูกจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีอัตราการรอดสูงสุด แม่จึงพัฒนาความสามารถในการทำลายเอมบริโอด้วยประจำเดือน

          ต้องใช้เวลามากกว่าสองทศวรรษจนกว่าเราจะสามารถหาหลักฐานยืนยันทฤษฎีของฟิน การวิจัยของ ดีมา เอเมรา (Deema Emera) ใน ค.ศ. 2012 พิสูจน์ว่าการควบคุมพฤติกรรมและการย่อยสลายของเอนโดมีเทรียมในสัตว์ที่มีประจำเดือนเป็นของแม่เท่านั้น กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า spontaneous decidualization การทดลองของเอเมรา แสดงว่ามีเพียงสัตว์ที่มีประจำเดือนเท่านั้นแสดงคุณสมบัติดังกล่าว เอมบริโอของสิ่งมีชีวิตบางกลุ่มสามารถพัฒนารกเพื่อทะลุผ่านเอนโดมีเทรียมและเจาะเข้าสู่ระบบเลือดของแม่โดยตรง โดยที่รกของเอมบริโอของสัตว์กลุ่มอื่นจะเจาะอยู่ที่เอนโดมีเทรียมเท่านั้น การพัฒนาแบบแข่งขันกันสามารถอธิบายได้ ความพยายามที่สัมฤทธิ์ผลของเอมบริโอทำให้เอมบริโอสามารถปล่อยฮอร์โมนของตัวเองเข้าสู่ระบบเลือดของแม่ เพิ่มความดันโลหิตและความเข้มข้นกลูโคลส เพิ่มอาหารเลี้ยงเอมบริโอให้มากที่สุด กระบวนการดังกล่าวทำให้แม่เกิดอันตรายหากเอมบริโอที่ฝังตัวที่เอนโดมีเทรียมไม่สมบูรณ์ หากเอมบริโอตายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบเลือดของแม่หรือเกิดการเสียเลือดมากจนตายใจที่สุด ดังนั้นประจำเดือนจึงเป็นกระบวนการเพื่อป้องกันเอมบริโอที่ตายไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแม่ โดยการเอาเนื้อเยื่อทั้งหมดออกไปโดยตรง

          ทฤษฎีต่อมาที่อธิบายกระบวนการ spontaneous decidualization อยู่บนพื้นฐานที่ว่าการปฏิสนธิของมนุษย์มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม เนื่องจากการปฏิสนธิของมนุษย์สามารถเกิดได้กับไข่ที่มีอายุตั้งแต่หนึ่งวันไปจนถึงเจ็ดวันตั้งแต่ช่วงไข่ตกไปจนถึงประจำเดือน หากสเปิร์มปฏิสนธิกับไข่ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรม งานวิจัยในปี ค.ศ. 2010 ของ กิส เทเคลนเบิร์ก (Gijs Teklenberg) ได้ทดลองและเสนอว่าการควบคุม spontaneous decidualization เกิดจากความผิดปกติในจีโนมและพัฒนาการของเอมบริโอ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุกับเอมบริโอในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้น spontaneous decidualization จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในทางวิวัฒนาการเพื่อป้องกันการลงทุนในทรัพยากรของแม่ไปต่อเอมบริโอที่ไม่สมบูรณ์ ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายความเป็นไปได้สูงของการแท้งตามธรรมชาติ, 15% วัดด้วยกระบวนการทางคลินิก และ 60% ตามกระบวนการทางพรีคลินิก

          เราจะเห็นได้ว่าในการอธิบายอะไรที่ดูจะไร้สาระอย่างประจำเดือนนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้ไร้สาระอย่างที่คิด แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ทำให้เรามีความเข้าใจในเพศมากขึ้น การเข้าใจสาเหตุของประจำเดือน เป็นตัวอย่างในการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการอธิบายพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น และสุดท้าย เราจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่มีประโยชน์ไปเสียทีเดียว ขนาดประจำเดือนยังมีประโยชน์เลย

          ประจำเดือนนั้นน่าสนใจจริง ๆ

About Author