โพรงเก่าเกลาใหม่ : ซ่อมโพรงพัง สร้างรังรักษ์นกเงือก

เรื่องโดย วัชราภรณ์ สนทนา


          ป่าฮาลา–บาลาขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนของ ‘นกเงือก’ อัญมณีแห่งแดนใต้ที่นักดูนกหลายคนเฝ้าใฝ่หา เพราะผืนป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่ของนกเงือกมากถึง 10 ชนิด จาก 13 ชนิด ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งยังพบนกเงือกหายาก เช่น นกชนหิน นกเงือกปากย่น และนกเงือกหัวหงอก แม้ว่าปัจจุบันป่าฮาลา–บาลาจะเป็นถิ่นอาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่นกเงือกยังอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะไม่เพียงถูกล่าเพื่อนำลูกไปขาย หากยังต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการทำรัง โดยเฉพาะ ‘การขาดแคลนโพรงรัง’ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรนกเงือกลดลง


ป่าฮาลา–บาลา
ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และ ป่าบาลา ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส 

 

วิกฤตนกเงือกไร้โพรงรัง

          นกเงือกเป็นนกโบราณขนาดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 45 ล้านปี ความโดดเด่นของพวกมันไม่เพียงมีจะงอยปากหนาใหญ่ มีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง และส่งเสียงร้องได้ดังกังวาน แต่การทำโพรงรังยังเป็นอุปนิสัยที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน นกเงือกเริ่มจับคู่และเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสมในการให้ตัวเมียออกไข่-ฟักไข่ เมื่อได้โพรงรังแล้วนกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง โดยใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน ค่อยๆ ปิดจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพื่อให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น

          ตลอดช่วงระยะเวลาที่นกเงือกตัวเมียทำรัง นกเงือกตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ตัวเมีย เมื่อลูกนกออกจากไข่ นกเงือกตัวผู้ยังคอยหาอาหารมาให้ทั้งตัวเมียและลูกนก โดยช่วงเวลาในการอยู่ในโพรงของแม่นกและลูกนกของนกเงือกแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วประมาณ 4–6 เดือน ซึ่งเมื่อลูกนกออกจากรัง พ่อและแม่นกจะคอยเลี้ยงลูกนกต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

          สุเนตร การพันธ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ–ป่าฮาลาบาลา เล่าว่า โพรงรังที่มีสภาพเหมาะสมคือปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันโพรงรังของนกเงือกเริ่มขาดแคลน ปัญหาคือนกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงสร้างรังเองได้เช่นเดียวกับนกทั่วไป ต้องหาโพรงรังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละโพรงกว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลานาน

          “โพรงของต้นไม้ทุกต้นไม่ใช่ว่านกเงือกจะใช้ทำรังได้ โพรงรังที่ใช้ได้จะต้องมีขนาดที่พอดี คือไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ถ้ามีขนาดใหญ่จนเกินไป เวลาปิดปากโพรงจะปิดได้ยากหรือปิดไม่ได้ แต่ถ้าแคบเกินไปนกเงือกก็อยู่อาศัยไม่ได้ ที่สำคัญคือระดับพื้นในโพรงยังต้องมีความสูงพอดีที่นกเงือกนั่งแล้วสามารถยื่นปากออกมารับลูกไม้จากตัวผู้ได้ สำหรับสาเหตุการขาดแคลนโพรงรังขณะนี้เกิดจากโพรงใหม่ที่มีสภาพเหมาะสมเริ่มหาได้ยาก ส่วนโพรงนกเงือกที่มีอยู่เดิมก็เริ่มใช้งานไม่ได้

          “ป่าฮาลา-บาลาเป็นป่าดิบชื้น ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้โตเร็วและโทรมง่าย ต้นไม้บางต้นเมื่อไม้ขยายตัวก็ทำให้ปากโพรงแคบลง บางโพรงพื้นในโพรงเริ่มทรุด เมื่อโพรงรังเดิมใช้งานไม่ได้ นกเงือกต้องออกหาโพรงรังใหม่ นกเงือกที่เกิดใหม่ก็ต้องพยายามหาโพรงรังเช่นเดียวกัน กว่าจะได้โพรงรังมาอาจต้องต่อสู้กับนกเงือกคู่อื่น และเมื่อไม่มีโพรงรังก็จะส่งผลต่อการขยายพันธุ์นกเงือกตามธรรมชาติ”

ซ่อมโพรงรังขยายพันธุ์นกเงือก

          ป่าบาลาในแต่ละปีมีนกเงือกเพิ่มจำนวนขึ้น แต่จำนวนโพรงที่เหมาะสมนั้นมีไม่เพียงพอต่อประชากรนกเงือกในพื้นที่ ปัญหานี้ส่งผลต่อประชากรนกเงือกหลายชนิด ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกหลายวิธี และพบว่าวิธีที่ได้รับผลสำเร็จมากที่สุดคือ ‘การซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังของนกเงือกในธรรมชาติ’

          ดังนั้นเพื่อปรับปรุงซ่อมรังเดิมให้กลับมาเป็นที่อยู่ของนกเงือกอีกครั้ง สุเนตร การพันธ์ และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา, โครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับป่า ภาคใต้ และชาวบ้านหมู่บ้านบาลา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส จึงได้ร่วมมือกันทำ ‘โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังเพื่อการสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนของนกเงือกในพื้นที่ป่าบาลา’ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

          จากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในการหาโพรงรังธรรมชาติที่เหมาะสมกับนกเงือก พบโพรงรังมากถึง 36 โพรง จากเดิมที่สำรวจพบเพียง 9 โพรง โดยในจำนวนนี้มีโพรงที่นกเงือกทำรังจำนวน 14 โพรง แบ่งเป็นนกเงือกหัวแรด 8 โพรง นกเงือกกรามช้าง 4 โพรง นกเงือกปากดำ 1 โพรง และนกกก 1 โพรง

          ชนันรัตน์ นวลแก้ว นักวิชาการป่าไม้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการฯ เล่าว่า โครงการฯ ได้จัดฝึกอบรมชาวบ้านเกี่ยวกับนกเงือก วิธีการดูโพรงนกเงือก รวมถึงวิธีการซ่อมแซมโพรงรัง โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก หลังจากอบรมชาวบ้านจะสลับมาอยู่ประจำกับเจ้าหน้าที่ 5-6 คน เพื่อช่วยสำรวจและซ่อมแซมโพรงรัง ในการสำรวจเมื่อเจอโพรงจะเฝ้าสังเกตเพื่อเก็บข้อมูลว่าเป็นโพรงที่มีนกเงือกหรือไม่ หากมีจะดูว่าเป็นนกเงือกชนิดใด และนกเงือกป้อนอาหารชนิดใดให้แก่ลูก แต่สำหรับโพรงร้างจะปีนขึ้นไปสำรวจว่าโพรงมีปัญหาอะไร เช่น โพรงกว้างไป แคบไป หรือพื้นโพรงทรุด เพื่อเตรียมแผนในการซ่อมปรับปรุง

          การซ่อมแซมโพรงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะต้องช่วยกันขนอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม ย่ำเท้าบุกพงไพรเป็นระยะทางไกลแล้ว พวกเขายังต้องเสี่ยงชีวิตปีนต้นไม้สูงหลายสิบเมตร และยังไม่รวมอุปสรรคสำคัญนั่นคือฝน

          สุเนตรเล่าเสริมว่า การซ่อมโพรงรังแต่ละครั้งต้องใช้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านเกือบ 20 คน ช่วยกันขนอุปกรณ์ในการปีนชักรอกเข้าไป เนื่องจากโพรงรังนกเงือกส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้สูง บางโพรงอยู่สูงถึง 40 เมตร ต้องชักรอกตัวเองเพื่อไต่ขึ้นไป บางโพรงต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันกว่าจะไปถึง เพราะทางเดินในป่าฮาลา-บาลาส่วนใหญ่เป็นทางชัน และภาคใต้ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าฝนแปดแดดสี่ ถ้าวันใดเข้าไปแล้วเจอฝนก็ต้องขนของกลับทันที เพราะว่าตัวเบรกในการชักรอกจะทำงานไม่ได้ เกิดอันตรายได้

“การซ่อมโพรงรังจะยึดข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกเป็นหลัก ว่ามาตรฐานโพรงรังของนกเงือกแต่ละชนิดต้องมีความกว้าง ความยาว ความหนาของโพรงเท่าไหร่ สมมติว่าเป็นนกเงือกตัวใหญ่ ปากโพรงอาจจะกว้าง 13 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ถ้าโพรงไหนที่ความกว้างน้อย เราก็พยายามเจาะปากโพรงให้กว้างขึ้น แต่ถ้าโพรงกว้างเกินไปก็พยายามเอาไม้กระดานมาปิดให้เหลือ 10-13 เซนติเมตร หรือถ้าโพรงทรุดก็เทดินเสริม อันนี้คือตัวอย่าง สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าโพรงรังนี้ เจ้าของเดิมเป็นนกเงือกชนิดไหน เพื่อซ่อมแซมรังให้ได้ตามมาตรฐานของนกเงือกชนิดนั้น”

อนุรักษ์นกเงือกเชื่อมสำนึกชุมชน

          ปัจจุบันโครงการฯ ซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือกไปทั้งหมด 13 โพรง ที่น่ายินดีคือมีนกเงือกเข้าใช้ประโยชน์จากโพรงที่ซ่อมแล้ว 4 โพรง คือ โพรงนกเงือกหัวแรด 2 โพรง โพรงนกเงือกปากดำ 1 โพรง และนกกก 1 โพรง ซึ่งชาวบ้านต่างก็ดีใจว่านกเงือกได้ใช้ประโยชน์จากโพรงที่ทุกคนทยอยซ่อมอยู่ แล้วเมื่อนกเงือกได้เข้าไปใช้ทำรัง ก็หวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรนกเงือกในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลาให้เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ดี จำนวนโพรงรังที่เพิ่มมากขึ้นไม่เพียงเป็นหนทางอนุรักษ์ประชากรนกเงือก แต่ยังเท่ากับช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในผืนป่าให้คงอยู่ด้วย เพราะนกเงือกคือ ‘นักปลูกป่า’ ที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายพันธุ์ไม้จากการกินและนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดคงไม่เท่ากับ ‘การปลูกจิตสำนึกรักษ์’ ให้แก่คนในพื้นที่ เพราะจะนำมาซึ่งการดูแลหวงแหนทรัพยากรเหล่านี้ไว้ได้อย่างยั่งยืน

          “สัมผัสได้เลยว่าชาวบ้านรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะนกเงือก จากเดิมที่อาจสงสัยว่าทำไมต้องหาโพรงรังให้นกเงือกอยู่ แต่เมื่อเขาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรที่แม้จะไม่ใช่นกเงือก เขาก็จะนึกถึงและคอยมาแจ้งเจ้าหน้าที่ในโครงการฯ เสมอ” ชนันรัตน์กล่าว

          เช่นเดียวกับสุเนตรที่บอกว่า “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือการมีเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ เกิดความรัก ความหวงแหน และอยากให้นกเงือกยังคงอยู่ในพื้นที่ป่าบาลาเพื่อเป็นทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานในพื้นที่และผู้คนอื่นๆ ได้ดูต่อไป”

          นกเงือกมีความผูกพันกับป่าที่สมบูรณ์ และป่าจะสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยนกเงือกเช่นกัน ความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะทำให้ป่าฮาลา-บาลาแห่งนี้ยังคงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแหล่งชมนกเงือกที่ดีสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย


  • วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น “วันรักนกเงือก”
  • นกเงือกในประเทศไทยมี 13 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด
  • นกเงือกเป็นที่รู้จักว่ามี “รักแท้”ครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต (monogamy)

About Author