ความยั่งยืนทางสุขภาวะด้วยเทคนิคการแพทย์ชุมชนเชิงรุก

          การดูแลสุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก่อนป่วยด้วยการตรวจประมินสุขภาพทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ ที่ช่วยให้สุขภาพเป็นเรื่องจับต้องได้และสร้างความตระหนักและใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.ลิขิต ปรียานนท์ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 66 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะฯ ได้เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ ด้านเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิคที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.ลิขิต ปรียานนท์
รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ปัจจุบัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนใน 2 สาขา แบ่งเป็น 5 ภาควิชา โดยมีภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนมาแล้วเกือบทศวรรษ เพื่อตอบโจทย์นโยบายสาธารณสุขของประเทศที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ

          ซึ่งขอบเขตของงานเทคนิคการแพทย์ชุมชน ไม่ได้จำกัดแต่เพียงในเขตพื้นที่ชนบท แต่ยังรวมถึงพื้นที่ในเมือง ด้วยการให้บริการในคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่นอกจากเป็นการช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการขยายโอกาสทางวิชาชีพของนักเทคนิคการแพทย์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนอีกด้วย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.ลิขิต ปรียานนท์ ได้มองถึงบทบาทของเทคนิคการแพทย์ชุมชนในปัจจุบันว่าควรจะเป็นไปในเชิงรุก โดยมุ่งดูแลประชาชนให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามโลก โดยได้แนะนำให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการเพื่อการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

          หนึ่งในโรค NCDs ที่ไม่แสดงอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่ผู้ป่วยมักเข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว ได้แก่ “โรคเบาหวาน” ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการเข้ารับการตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

          “การตรวจเลือดจากปลายนิ้ว” เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับบุคคลทั่วไป ค่าปกติอยู่ที่ไม่เกิน 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับการตรวจโดยไม่อดอาหาร หากมีค่าสูงเกินควรตรวจยืนยันด้วยการตรวจน้ำตาลจากหลอดเลือดดำ (Fasting Plasma Glucose) โดยค่าน้ำตาลที่เท่ากับ หรือเกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับการตรวจหลังงดอาหาร อาจหมายถึงกำลังมีภาวะเบาหวาน

          แม้การตรวจเลือดจากปลายนิ้วจะไม่ใช่วิธีที่แม่นยำที่สุด และไม่จำเป็นต้องตรวจทุกวันสำหรับบุคคลทั่วไป แต่เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับใช้ตรวจในระดับชุมชน เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นประจำปี ซึ่งหากพบความเสี่ยง ควรทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อไป

          อย่างไรก็ตาม การตรวจน้ำตาลจากหลอดเลือดดำเพื่อตรวจติดตามการรักษาสำหรับผู้ที่มีภาวะเบาหวานเพียงครั้งเดียวก่อนพบแพทย์ อาจไม่สะท้อนถึงการควบคุมอาหาร หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอการดำเนินโรค

          โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการควบคุมอาหารในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนตรวจเลือดอาจทำให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงอย่างที่ควร ซึ่งอาจนำไปสู่การแปลผลการติดตามการรักษาที่ผิดพลาดได้

          ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจที่เรียกว่า “การตรวจระดับน้ำตาลสะสม” (HbA1c – Hemoglobin A1c) ซึ่งจะเป็นการสะท้อนถึงระดับน้ำตาลในระยะ 2 – 3 เดือนย้อนหลัง เหมาะสมสำหรับการติดตามระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้มีภาวะเบาหวาน โดยค่าปกติควรน้อยกว่า 6.0 mg%

          ในปัจจุบันแม้ว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะอาศัยเครื่องตรวจอัตโนมัติเป็นหลัก แต่ว่าบางอย่างยังคงไม่สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้แต่ต้องอาศัยความชำนาญของนักเทคนิคการแพทย์ เช่น “การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ” ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการหาเส้นเลือดดำ เช่น อุปกรณ์ฉายลำแสงอินฟราเรด (infrared)

          แต่ที่สำคัญกว่า คือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของนักเทคนิคการแพทย์ที่จะทำให้การเจาะเลือดเป็นไปด้วยความแม่นยำ ซึ่งการเก็บตัวอย่างเลือดที่ปลอดภัยและเหมาะสม มีความมีความสำคัญอย่างมาก

          เนื่องจากจะช่วยให้ผลการตรวจมีความถูกต้อง ซึ่งทางคณะฯ เห็นความสำคัญของทักษะนี้จึงจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่าง ทั้งในโรงพยาบาล และในชุมชน เพื่อสร้างทักษะในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

          เคยมีคำกล่าววิชาชีพ “นักเทคนิคการแพทย์” ทำหน้าที่เป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” แต่ในปัจจุบันนักเทคนิคการแพทย์พร้อมทำหน้าที่ “ผู้ดูแล” ร่วมกับสหวิชาชีพในระบบสุขภาพปฐมภูมิที่คอยสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความรู้ สร้าง health literacy และคำปรึกษาประชาชนตั้งแต่ก่อนป่วย เพื่อมุ่งสู่ “ความยั่งยืนทางสุขภาวะ” แทนคำมั่นสัญญา 66 ปีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพโดย
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author