ด้วยเทคโนโลยี “แอปประเมินสมรรถภาพ – ผู้ช่วยเรียนรู้การออกกำลังกายในผู้สูงวัย“ ผลงานนวัตกรรมโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมั่นได้ว่าการดูแลสุขภาวะผู้สูงวัยเพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวสามารถทำได้เพียงแค่ปลายนิ้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ ลิ้มรุ่งเรืองรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิชาการ และวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของการริเริ่ม และผลักดัน “แอปประเมินสมรรถภาพ – ผู้ช่วยเรียนรู้การออกกำลังกายในผู้สูงวัย“ ให้ผู้สูงวัยไทยใช้งานได้จริงในเร็วๆ นี้
จากการลงพื้นที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใน 4 จังหวัด แล้วพบว่าขาดแคลนเครื่องมือประเมินสมรรถภาพการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย จึงได้ตั้งเป็นโจทย์วิจัย และเก็บข้อมูลสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ได้โดยสะดวกด้วยตัวเองผ่านสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ด้วยท่าออกกำลังกายเพื่อประเมินสมรรถภาพพื้นฐาน ยืน-เดิน-ลุก-นั่ง สำหรับผู้สูงวัย ที่ผ่านการทดสอบในเบื้องต้นแล้วว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ในเฟสแรกได้ออกแบบท่าออกกำลังกายเพื่อประเมินสมรรถภาพพื้นฐานสำหรับผู้สูงวัย ทั้งหมด 5 ท่า ได้แก่ ลุก-นั่ง 5 ครั้ง (5-times Sit-to-Stand test) ลุกจากที่นั่งเดินไปข้างหน้า 3 เมตร แล้วกลับมานั่งที่เดิม (Time up-and-go test)
การประเมินความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนบนทำได้ด้วยการถือน้ำหนักและงอแขนขึ้นลง 30 วินาที (Arm curl test) หรือยกขาขึ้นลงอยู่กับที่ 2 นาที (2-min step in place test) และสุดท้ายคือการเดินนาน 6 นาที (6-min walk test) เพื่อดูระยะทางที่เดินได้ สำหรับประเมินสมรรถภาพความสามารถในการทำกิจกรรม
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ ลิ้มรุ่งเรืองรัตน์ นอกจากมีความโดดเด่นในฐานะนวัตกรซึ่งเป็นอาจารย์บุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยตัวเองแล้ว
ยังเป็นผู้ริเริ่มร่วมกับ ดร.กิตติชัย ธราวดีพิมุข ในการนำ MIT App Inventor มาใช้ในวิชาเทคโนโลยีทางการกีฬา สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ได้ฝึกเรียนรู้ทักษะสู่การเป็น ”นวัตกร“ ที่สามารถออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อประโยชน์ในการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพทางการกีฬาในขั้นพื้นฐานด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ในระดับปริญญาตรีครั้งแรก
และเพื่อเพิ่มความแหลมคมด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนา “แอปประเมินสมรรถภาพ – ผู้ช่วยเรียนรู้การออกกำลังกายในผู้สูงวัย“ ยังได้ยกระดับสู่การบูรณาการร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้มีผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาด้านการออกแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยดูแลการสร้างสรรค์ในเชิงเทคนิค
รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ได้เปิดเผยถึงเทคนิคที่ใช้ในการสร้างสรรค์และพัฒนา “แอปประเมินสมรรถภาพ – ผู้ช่วยเรียนรู้การออกกำลังกายในผู้สูงวัย“ ร่วมกับ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้เทคโนโลยี computer vision ซึ่งสามารถระบุและตรวจสอบตำแหน่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และข้อต่อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผ่านข้อมูลที่บันทึกเป็นภาพนิ่ง หรือวีดิทัศน์
ซึ่งเทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดูแลป้องกันการหกล้มในผู้สูงวัย ตลอดจนฝึกออกกำลังกายในแบบอื่นๆ อาทิ การฝึกโยคะ หรือแม้แต่ในด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั่วไป โดยสามารถตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยจากระยะไกลโดยไม่รู้ตัวได้ต่อไปอีกด้วย
และนับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีส่วนช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถต่อยอดสร้างสรรค์แอปพลิเคชันเพื่อการใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาวะผู้รับบริการได้เอง โดยมองว่าจะยิ่งทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และยั่งยืนได้ต่อไปอีก หากสามารถขยายผลสู่การการฝึกทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)
โดยหวังให้ “แอปประเมินสมรรถภาพ – ผู้ช่วยเรียนรู้การออกกำลังกายในผู้สูงวัย“ ที่สร้างสรรค์และพัฒนาร่วมกันระหว่าง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ดังกล่าว จะทำให้ผู้สูงวัยเปี่ยมพลัง พร้อมยืนหยัดเป็นแบบอย่างในการดูแลสุขภาวะที่ดีแก่ลูกหลานได้อย่างยาวนานสืบไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210