หลักสูตร 420 ชม. กู้วิกฤติสูงวัยถูกทำร้ายจากปัญหาสุขภาพจิตผู้ดูแล

          นับจากนี้ไป ด้วยหลักสูตรคุณภาพ 420 ชั่วโมงดูแลผู้สูงวัย ที่สร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรกระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เชื่อมั่นว่าจะ “กู้วิกฤติศรัทธา” ที่มีต่อวิชาชีพ “ผู้ดูแลผู้สูงวัย” ให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง

          ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงปัจจัยสำคัญของวิชาชีพ “ผู้ดูแลผู้สูงวัย” นอกจาก “พลังกาย” ที่แข็งแรง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว จะต้องมี “พลังใจ” ที่เข้มแข็ง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้สูงวัย “ด้วยหัวใจ”

          จึงได้ออกแบบหลักสูตร 420 ชั่วโมงดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่คัดกรองผู้สมัครรุ่นแรก โดยให้ความสำคัญกับ “การทดสอบทัศนคติและสุขภาพจิต”

          ด่านสำคัญอยู่ที่การทำแบบประเมินและการสอบสัมภาษณ์ ที่จะช่วยให้สามารถประเมินสุขภาพจิตและทัศนคติของผู้สมัครได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากงานดูแลผู้สูงวัยเป็นงานที่ “ท้าทายจิตสำนึก” ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลผู้สูงวัยที่มีความเปราะบาง เพื่อแบ่งเบาภาระพยาบาลวิชาชีพ “ด่านหน้า” ที่ยังคงประสบวิกฤติขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง

          จนได้ผู้เข้าอบรมซึ่งผ่านกระบวนการคัดสรรคุณภาพแล้วจำนวน 40 ราย จากผู้สมัคร 351 ราย พร้อมเดินหน้าอบรมภาคทฤษฎี 210 ชั่วโมง และฝึกปฏิบัติอีก 210 ชั่วโมง ด้วยวิชาการคุณภาพจากคณาจารย์แพทย์และพยาบาลผู้ทรงคุณวุฒิจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และครบพร้อมด้วยนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน จาก “หุ่นฝึกปฏิบัติ” ที่เกิดจากความร่วมมือกับ “การยางแห่งประเทศไทย” เพื่อใช้ในการฝึกดูแลผู้สูงวัย อาทิ การทำแผลกดทับ และการใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น

          คาดว่าเมื่อผ่านการทดสอบก่อนจบหลักสูตรและได้รับประกาศนียบัตรจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในอีกเพียง 3 เดือนเศษข้างหน้าจะสามารถสร้างอาชีพให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และทักษะ ที่ได้รับการฝึกจนชำนาญมาแล้วจากหลักสูตรฯ

          ในการจัดการอบรมครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนในการศึกษาวิจัยและติดตามผลของการอบรมจากวช.จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้สมัคร เพื่อการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาการจัดฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงวัยให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

          และต่อยอดขยายผลสู่วงกว้าง พร้อมมอบบริการที่ดีให้กับผู้สูงวัยที่นับวันจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนไม่น้อยที่จะต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นเหตุให้ต้องกลายเป็น “ผู้ป่วยติดเตียง” ที่ต้องการผู้ดูแลที่มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดี

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author