ม.มหิดล – สะหวันนะเขต ร่วมสำรวจ วิจัย และพัฒนา “เมืองสมุนไพร”

          จากแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ประกาศให้ “จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นหนึ่งใน “เมืองสมุนไพร” (Herbal City) จึงนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมสำรวจ วิจัย และพัฒนาพืชที่มีสรรพคุณทางยา โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพ


นายแพทย์สุรพร ลอยหา
รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล

          นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันอุดมศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ซึ่งมีมานานพอสมควร จากการสำรวจพืชที่มีสรรพคุณทางยาในพื้นที่ถึงปัจจุบัน ทำให้ได้พืชสมุนไพรแล้วทั้งสิ้นเกือบ 300 ชนิดในฐานข้อมูล

          เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของทั้ง 2 สถาบันพบว่า ในส่วนของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมทั้งทางด้านองค์ความรู้ และเครื่องมือ จากที่ได้มีการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกไปเมื่อปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา

          และด้วยความโดดเด่นจากผลงานวิจัยพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพที่ผ่านมาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และมีการอ้างอิง (citation) อย่างกว้างขวาง โดยมีความคล้ายคลึงกับสถาบันคู่ความร่วมมือที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

          จุดสนใจร่วมอยู่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของทั้ง 2 พื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรนานาชนิดที่รอคอยการค้นพบเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางยา

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี หัวหน้าสำนักงานวิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการต่อยอดโครงการฯ นับจากที่ได้มีการสำรวจพืชสมุนไพรร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพนั้น ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับทางเศรษฐกิจของชุมชนให้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

          นอกจากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพแล้ว ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญยังพบพืชสมุนไพรท้องถิ่นในกลุ่มอื่นซึ่งอาจนำไปต่อยอดพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ได้แก่

          “โลดทะนงแดง” (Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib) ซึ่งเป็นไม้พุ่มกึ่งล้มลุกมักพบตามชายป่า สามารถใช้ถอนพิษแมลงกัดต่อย โดยนำรากไปบดและใช้ทารักษาแผลได้ทันที

          “ว่านสาวหลง” (Wurfbainia schmidtii (K.Schum.) Škorničk. & A.D.Poulsen) เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เหง้าและราก มีกลิ่นหอมใช้ต้มอาบบำรุงผิว

          และ “ส่องฟ้า” (Clausena wallichii Oliv. var. guillauminii (Tanaka) J.P.Molino) เป็นไม้พุ่ม รากใช้ฝนทาแก้ฝี

          ทิศทางของการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกในปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันนั้น จะเป็นองคาพยพสำคัญสู่การสร้างความแข็งแกร่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author