ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model : Bio – Circular – Green Economy)

Introduction:

อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยเกี่ยวเนื่องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 500,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมแปรรูป (มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบและแป้งดัดแปร) และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (สารให้ความหวาน แอลกอฮอล์ กรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กระดาษและสิ่งทอเป็นต้น) ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ร้อยละ 67 ของผลผลิตมันสำปะหลังถูกใช้ในการแปรรูปเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลกมากว่า 20 ปี มูลค่าการส่งออกประมาณ 93,000 ล้านบาทโดยมีมูลค่ารวมของที่ใช้ในประเทศและส่งออกทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 190,000 ล้านบาท และมูลค่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งแป้งและฟลาวมันสำปะหลังนอกจากไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ยังปราศจากสารก่อภูมิแพ้ คือ กลูเตน จึงมีศักยภาพในการใช้ทดแทนแป้งสาลีที่มีกลูเตน จากคุณสมบัติในการใช้งานของมันสำปะหลังที่หลากหลาย รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่มีฐานมาจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือ biobased industry ( Bio-economy) จึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าพลังงานชีวภาพ ไบโอพลาสติก ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยประสบปัญหาปริมาณหัวมันปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการและไม่มีเสถียรภาพ ต้องพึ่งการนำเข้าบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยรวมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยใช้วัตถุดิบที่มาจากผลผลิตในประเทศร้อยละ 82 นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านร้อยละ 18 ประกอบกับปัจจุบันการระบาดของไวรัสใบด่างมันสำปะหลังมีผลต่อผลผลิตมันสำปะหลังและการขาดแคลนต้นพันธุ์ที่ใช้ในการปลูก และการพี่งพาตลาดส่งออกเพียงตลาดใดตลาดหนึ่งส่งผลต่อความผันผวนของราคาและปริมาณของมันสำปะหลังในประเทศ ซึ่งตลาดส่งออกหลักของประเทศไทย คือ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับประเทศเวียดนามและกัมพูชา ทำให้ประเทศไทยต้องแข่งขันกับประเทศส่งออกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio-economy ทำให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลัง โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสารมูลค่าสูงที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นความท้าทายที่สำคัญ ไม่ว่าเรื่องของวัตถุดิบที่มีต้นทุนผลิตสูง การขาดแคลนแรงงานและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ และเรื่องของประสิทธิภาพการแปรรูปความกดดันทางการค้าอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน นำไปสู่มาตรการกดดันการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่น คาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ทรัพยากรน้ำ พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำของทุกส่วนกลับมาใช้เพื่อเข้าสู่หลักการการไม่มีของเสียหรือ Zero waste เพื่อสอดรับกับวาระแห่งชาติ BCG (Bio-economy : เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร, Circular : ลดการสูญเสียทรัพยากร นำทรัพยากรกลับมาใช้หมุนเวียนในวัฎจักรให้นานที่สุด, Green : ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ดินและน้ำ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ) ทั้งนี้ มิใช่แต่อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นแต่อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นหลักและพื้นฐานสำคัญ เช่น แป้งมันสำปะหลัง ต้องมีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การผลิตวัตถุดิบ หัวมันสำปะหลังต้องมีการเพิ่มผลผลิตลดการขยายพื้นที่ปลูกและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้อย่างเหมาะสม ในส่วนของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้น้ำและพลังงาน การลดปริมาณของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งนี้ ทิศทางของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังต้องเปลี่ยนจากมุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ GDP สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนางานวิจัยด้านมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด เช่น ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาแนวทางการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี mini stem cutting และการพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นต้น งานวิจัยกลางน้ำ เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสาปะหลังไทย และงานวิจัยปลายน้ำ เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติก ต้นแบบวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง พร้อมทั้ง ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง ได้แก่ บริษัท ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด ภายใต้แบรนด์ Sava) และ บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด (UBS) ภายใต้แบนรนด์ Tasuko :ซึ่งผลิตภัณฑ์มี 2 รูปแบบ คือ Tasuko All Purpose Organic Cassava Flour หรือฟลาวออร์แกนิคเอนกประสงค์ และ ฟลาวพรีมิกส์ นอกจากนี้ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล (UBE) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจร ในปี 2565 ได้ขยายกำลังการผลิตฟลาวมันสำปะหลังทดแทนฟลาว จากข้าวสาลีเจาะตลาดคนแพ้กลูเตน จาก 100 ตันต่อวันเป็น 300 ตันต่อวัน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ประกาศขยายลงทุนนิวสตาร์ทอัพ เพื่อผลิตเม็ดไบโอพลาสติก RosEco (Rose + Eco/circular economy) และอาหารสุขภาพโดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นมิติใหม่ของการเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลังนอกเหนือจากแป้งมันสำปะหลังและแป้งแปรรูป

ชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง

ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี mini stem cutting

ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติก

วัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง

ผลิตภัณฑ์จากฟลาวมันสำปะหลัง

เอกสารประกอบการบรรยาย

รวมรายการวิดิโอนิทรรศการ

ความจำเป็นของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตมันสำปะหลัง
ความจำเป็นของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตมันสำปะหลัง
06:06
การผลิตท่อนพันธุ์คุณภาพด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและ ministem cutting
การผลิตท่อนพันธุ์คุณภาพด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและ ministem cutting
15:17
นวัตกรรมชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
นวัตกรรมชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
13:43

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

นางสาวสุทธิสา ดัชนีย์
นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ
สำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นิทรรศการอื่นๆ :