ระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงาน : Zero-watt Standby (ผลงานของ สวทช.)

 
จุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)

- ระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงาน (zero-watt standby) นี้ สามารถหยุดการสูญเสียพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เมื่อผู้ใช้งานสั่งปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยรีโมทคอนโทรล ซึ่งเปรียบเสมือนการถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องไปกดปุ่มเปิด-ปิดที่ตัวอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เริ่มทำงาน


- ระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงาน ใช้เทคโนโลยีการรับ-ส่งพลังงานแบบไร้สาย ควบคู่ไปกับการส่งสัญญาณควบคุมของรีโมทคอนโทรล ในการควบคุมการเปิดปิดของเครื่องใช้ไฟฟ้า


- สามารถพัฒนาระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานให้ฝังหรือควบรวมเข้าไปในอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ ซึ่งมีต้นทุนที่ไม่มากนัก เนื่องจากสามารถออกแบบวงจรให้รวมอยู่ในอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมในอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่มาก ก็ทำให้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานรวมอยู่ด้วยกันได้



 

คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์

    ระบบสแตนบายที่พัฒนาขึ้นจะไม่ใช้พลังงานในขณะที่ระบบอยู่ในโหมดสแตนบาย เมื่อผู้ใช้สั่งเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบจะใช้พลังงานที่ถูกส่งมาจากรีโมทคอนโทรล เพื่อทำการควบคุมวงจรสวิตซ์ให้เชื่อมต่อแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงเข้ากับภาครับสัญญาณควบคุมและภาคประมวลผลหรือไมโครคอนโทรเลอร์ โดยระบบอาจจะหน่วงเวลาไว้เพื่อรอให้ภาครับสัญญาณควบคุมและภาคประมวลผลเริ่มทำงาน ก่อนที่ระบบจะส่งสัญญาณควบคุมออกไป ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งจะเข้าสู่โหมดการทำงานได้ตามปกติ และเมื่อผู้ใช้สั่งให้ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า ภาคควบคุมจะตัดพลังงานที่จ่ายให้กับภาครับสัญญาณควบคุมและภาคประมวลคำสั่งควบคุม และเข้าสู่โหมดสแตนบายโดยไม่ใช้พลังงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า



    ระบบสแตนบายนี้ สามารถนำมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่ใช้รีโมทคอนโทรล เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี เครื่องเสียง หรือเครื่องปรับอากาศ ได้โดยง่าย เพียงเชื่อมต่อระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานเข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า และใช้รีโมทคอนโทรลส่งพลังงานในการควบคุมการเปิด-ปิด ซึ่งระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานนี้สามารถทนกำลังไฟฟ้าได้สูงถึง 1.5 กิโลวัตต์ และรีโมทคอนโทรลสามารถควบคุมการเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ในระยะ 5 เมตร



การประยุกต์ใช้งาน

    การคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบกล่องแยก ต่อใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่ หรือการนำระบบสแตนบายแบบไม่ใช้พลังงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าควบรวมเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า และยังช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการไทยที่มีบทบาทในปัจจุบัน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมเครื่องเสียงและเครื่องเล่นดีวีดี



กลุ่มลูกค้า/ ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย

- ผู้บริโภค: นำระบบแบบกล่องสำเร็จรูปไปใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่

- ผู้ประกอบการ: นำระบบควบรวมเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าระหว่างทำการผลิต



กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย

กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสัญชาติไทย เช่น บริษัท Saijo Denki, บริษัท Family, บริษัท AJ



สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา

สิทธิบัตร เลขที่ 1001000646 (ยื่นจด 22 เมษายน 2553)

ชื่อการประดิษฐ์: ระบบสแตนบายแบบไม่ใข้พลังงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า



สถานะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์

อยู่ในขั้นการพัฒนาต้นแบบระดับภาคสนาม