เมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นครั้งแรกของเด็กไทยที่ได้ทดลองวิทยาศาสตร์บนเที่ยวบินแรงโน้มถ่วงต่ำ จำลองสภาวะใกล้เคียงกับบนอวกาศ ก่อให้เกิดความรู้ทั้งต่อตนเองและสังคม โดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ด.ญ.สรัลภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ จากโรงเรียนนานาชาติเซนต์จอห์น สองพี่น้องเด็กไทย ชนะการประกวดโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.
ทั้งนี้มีทีมที่เข้าร่วมประกวดจากมหาวิทยาลัย จำนวน 7 ทีม หลังจากที่ชนะการประกวดดังกล่าว น.ส.อาภาภรณ์ และน้องสาวได้เป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของประเทศไทยไปทดลอง “ผลการแตกตัวของยาในสภาพไร้น้ำหนัก” บนเครื่องบิน ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม พ.ศ. 2550
ส่วนวิธีการสร้างสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำบนเครื่องบินทำได้โดยให้เครื่องบิน ทำการบินขึ้นสู่ท้องฟ้าในลักษณะพาราโบลา จำนวน 10 รอบ เพื่อให้เกิดสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำรอบละประมาณ 20 วินาที ผู้ทดลองทั้งสองสลับกันขึ้นเครื่องบินเพื่อทดลองกันคนละ 1 วัน โดยเตรียมหลอดทดลองใส่น้ำไว้ครึ่งหนึ่ง วางเม็ดยาไว้ที่ปากหลอดทดลอง เมื่อเกิดสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ ผู้ทดลองจะกดกระบอกยาให้เม็ดยาไหลเข้าสู่กระบอกยาเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลออกมาจากหลอดทดลอง ซึ่งผลสรุปจากการทดลองพบว่าการแตกตัวของยาที่พื้นโลกดีกว่าในอวกาศ