ในปี พ.ศ.2563 องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โดยมีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาและวิจัยการปลูกพืชบนอวกาศสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต และต่อยอดการวิจัยสู่การปลูกพืชบนดาวเคราะห์ดวงอื่น เพื่อรองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นอกโลกในอนาคต
ความเป็นมา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ริเริ่มความร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAPAN AEROSPACE EXPLORATION AGENCY (JAXA) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยเล็งเห็นว่า ประเทศไทยควรจะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงานวิจัยที่ใช้สภาวะแวดล้อมไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และสร้างความตื่นตัวให้แก่เยาวชน นักวิจัย และสาธารณชน เกี่ยวกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำในการสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยในปี พ.ศ.2554 ได้เริ่มดำเนินการโครงการ Space Seeds for Asian Future 2011 ส่งพริกขี้หนูไทยขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเมล็ดพริกขี้หนูไทยเก็บไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 4 เดือน และส่งกลับมาสู่ประเทศไทยเพื่อให้นักเรียนไทยได้ร่วมกิจกรรมการทดลองปลูกพริกขี้หนูอวกาศที่โรงเรียนเพื่อติดตามพัฒนาการของต้นพืช ต่อมาในปี พ.ศ.2556 ได้จัดโครงการต่อเนื่องคือ โครงการ Space Seeds for Asian Future 2013 เป็นการปลูกถั่วแดงญี่ปุ่นบนพื้นโลกเปรียบเทียบกับการปลูกบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 7 วัน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกัน เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างในการเจริญเติบโตของต้นถั่วแดง และล่าสุดในปี พ.ศ.2563 ได้เกิดโครงการ Asian Herb in Space ทดลองปลูกโหระพาบนพื้นโลก เปรียบเทียบกับการปลูกบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 30 วัน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองกับนักวิทยาศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย
รายละเอียดของโครงการ
เปิดโอกาสให้นักเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านการร่างแผนโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยใช้เมล็ดโหระพาที่ได้รับจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมีหน้าที่ปฏิบัติการทดลองตามคู่มือที่ได้รับจาก JAXA และออกแบบการทดลองเพิ่มอีกหนึ่งชุดซึ่งสามารถปรับตัวแปรต่าง ๆ ได้ เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นโหระพาเป็นระยะเวลา 30 วันระหว่างพื้นโลกซึ่งมีแรงโน้มถ่วงกับบนบนสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อเรียนรู้ว่าสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร
วัตถุประสงค์
- ฝึกฝนทักษะการค้นคว้า วิจัย และการทำรายงานวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และต่อยอดสู่การศึกษาในเชิงลึก
- เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในด้าน STEM ศึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นการเรียนรู้ ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อวกาศ
- ฝึกฝนการทำงานกลุ่ม และการแบ่งหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของการทำโครงงาน
- ได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับองค์กรอวกาศระดับโลก
ข้อกำหนดของผู้สมัคร
- ผู้สมัครเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย
- สมาชิกในทีมจำนวน 3 คนและอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 1 ท่าน
- สามารถมีสมาชิกในระดับประถมศึกษาได้ไม่เกิน 1 คนต่อทีม หัวหน้าทีมต้องเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สมาชิกสามารถอยู่ต่างระดับชั้นและต่างโรงเรียนกันได้
- อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นอาจารย์ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย นักวิชาการ หรือนักวิจัย สามารถเป็นที่ปรึกษาได้มากกว่า 1 ทีม
- สามารถสมัครได้มากกว่า 1 ทีม ต่อสถาบันการศึกษา
การออกแบบการทดลองสำหรับใบสมัคร ส่วนที่ 2
ในใบสมัครส่วนที่ 2 คือแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วยการทดลองที่ 1 (การทดลองบนพื้นโลก) ซึ่งต้องปฏิบัติตามคู่มือของ JAXA และการทดลองที่ 2 (การทดลองอิสระ) ซึ่งต้องออกแบบการทดลองขึ้นโดยอ้างอิงจากพื้นฐานการทดลองของ JAXA แต่ปรับหรือเพิ่มตัวแปรต้นที่แต่ละทีมสนใจอยากศึกษา ท้ายที่สุดแต่ละทีมจะสรุปผลการทดลองทั้งหมดส่งเป็นรายงานมายังโครงการฯ โดยอ้างอิงจากรายละเอียดของการบันทึกข้อมูลตามคู่มือการทดลองของ JAXA
หลังจากนั้น นักเรียนที่ร่วมโครงการทุกคนจะได้รับผลการทดลองปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (การทดลองที่ 3 การทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ) เพื่อใช้ในศึกษาผลการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติเปรียบเทียบกับการทดลองบนพื้นโลก (การทดลองที่ 1 และ 2) แต่ละทีมสามารถศึกษารายละเอียดของแต่ละการทดลองได้ตามตารางข้างล่าง
ขั้นตอนและวิธีการสมัคร
- สรรหาสมาชิกและอาจารย์ที่ปรึกษา ออกแบบการทดลอง
- ส่งใบสมัครมาที่อีเมล
- โครงการฯ จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์โหระพาให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทีมละ 40 เมล็ด ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
- คู่มือการปลูกโหระพาจัดส่งให้พร้อมเมล็ดพันธุ์ และสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของโครงการฯ
- เมื่อสิ้นสุดการทดลองและส่งรายงานมายังโครงการแล้ว แต่ละทีมสามารถใช้ประโยชน์จากโครงงานวิทยาศาสตร์ได้อย่างอิสระ แต่ต้องมีการระบุเป็นกิตติกรรมประกาศว่าโครงงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AHiS โดย JAXA และ สวทช.
การดำเนินกิจกรรมโครงการ AHiS
- แจกเมล็ดพันธุ์โหระพา | ภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564
- ทดลองปลูกโหระพาบนพื้นโลกและการทดลองอิสระ โดยนักเรียน | เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2564
- ทดลองปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศ | เดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม 2564
- ส่งรายงานผลการทดลอง | ภายใน 30 กรกฎาคม 2564
- ประกาศผลรางวัล | 5 พฤศจิกายน 2564
- JAXA เผยแพร่รายงานผลการทดลองปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศ | ธันวาคม 2564
*** กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
รางวัลรายงานผลการทดลอง
- รางวัลชนะเลิศ
เงินรางวัล 10,000 บาท - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
เงินรางวัล 5,000 บาท - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
เงินรางวัล 3,000 บาท - รางวัลนำเสนอดีเด่น (2 รางวัล)
เงินรางวัล 2,000 บาท - รางวัลชมเชย (6 รางวัล)
เงินรางวัล 2,000 บาท
- คู่มือการทดลองปลูกโหระพาของ JAXA ( ภาษาไทย | English (Update) )
- ข้อมูลโครงการ Asian Herb in Space (ภาษาอังกฤษ)
- ประมวลภาพการทดลองปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศนานาชาติระยะเวลา 30 วัน (Update)
จัดโดย
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หน่วยงานสนับสนุน